BUSINESS

"เกรซ" ทุ่ม 600 ล้านบาท ผุดโรงงานใหม่ในบราซิล
POSTED ON 07/08/2557


ธุรกิจอุตสาหกรรม - น.พ.วีรฉัตร กิตติรัตนไพบูลย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายบรรจุภัณฑ์แบรนด์ "เกรซ" เปิดเผยว่า บริษัทฯ วางแผนในระยะ 3-5 ปีนับจากนี้ จะขยายโรงงานแห่งใหม่ในประเทศบราซิล ด้วยงบประมาณการลงทุนเบื้องต้น 500-600 ล้านบาท เพื่อผลิตบรรจุภัณฑ์วันละ 1 ล้านชิ้น

 

ทั้งนี้ การลงทุนดังกล่าวเพื่อรองรับตลาดในแถบประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีความต้องการบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้น รวมถึงการลดต้นทุนการผลิตเนื่องจากประเทศบราซิลมีวัตถุดิบจำนวนมากและมีราคาถูก ประการสำคัญสามารถลดต้นทุนด้านการขนส่งสินค้าด้วย ซึ่งปัจจุบันบริษัทฯ ส่งสินค้าออกไปทำตลาดใน  20 ประเทศ  อาทิ อเมริกา, ญี่ปุ่น, ออสเตรเลีย, แคนาดา ฯลฯ ด้วยสัดส่วนประมาณ 50% ของยอดขายทั้งบริษัทฯ

 

สำหรับการดำเนินธุรกิจในประเทศไทย ปีที่ผ่านมาบริษัทฯ ได้ลงทุน 400 ล้านบาท เพื่อขยายกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นอีก 2  ล้านชิ้นต่อวัน จากกำลังการผลิตเดิมที่มีวันละ 1 ล้านชิ้น ซึ่งโรงงานดังกล่าวจะเริ่มเดินเครื่องผลิตสินค้าได้ช่วงปลายปีนี้  โดยหากเดินเครื่องผลิตสินค้าเต็มกำลังการผลิต จะสามารถรองรับยอดขายได้ถึง 1 พันล้านบาทต่อปี  และในปีนี้คาดว่าจะทำยอดขายได้ประมาณ 400-500 ล้านบาท เติบโต 70-80% จากปีที่ผ่านมา กำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้น จะส่งผลให้ในปีหน้าบริษัทมียอดขายมีโอกาสเติบโตได้เท่าตัว ซึ่งบริษัทฯ ได้เตรียมงบประมาณการตลาดไว้ 20 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเท่าตัวจากปีนี้ที่ใช้ 10  ล้านบาท

 

แนวทางการทำตลาดของบริษัทฯ จะมุ่งเน้นในการทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนหันมาเปลี่ยนใช้บรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ย่อยสลายได้แทนกล่องโฟม อาทิ กรมอนามัย, หอการค้า, สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด หน่วยงานการศึกษา และการลงสื่อโฆษณา การทำตลาดผ่านสื่อออนไลน์ เป็นต้น เนื่องจากปัจจุบันปริมาณคนทิ้งขยะมีมากถึง 2.3 ชิ้นต่อวันต่อคน ในจำนวนดังกล่าวมีขยะที่เป็นกล่องโฟมถึง 70% หรือประมาณ 1 ชิ้นต่อคนต่อวัน  ซึ่งถือว่ากล่องโฟมส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมาก เนื่องจากใช้เวลากว่า 2,000 ปีจะย่อยสลายได้ ขณะเดียวกันกล่องโฟมยังเป็นสาเหตุสำคัญของโรคมะเร็ง ที่เป็นสาเหตุการตายอันดับ 1 ของคนไทย

 

ล่าสุด บริษัทฯ ได้เปิดตัวสินค้าใหม่ "เกรซ ซิมเปิล" ที่ผลิตจากชานอ้อยผสมกับเยื่อไผ่ที่ไม่มีการฟอกขาว ทำให้มีสีเอิร์ธโทน  ส่วนคุณสมบัติเหมือนกับผลิตภัณฑ์เกรซคลาสสิกรุ่นเดิมที่วางจำหน่ายอยู่ แต่ราคาถูกกว่า 50% หรือจำหน่ายราคาชิ้นละ 2 บาท ซึ่งมีราคาแพงกว่ากล่องโฟมทั่วไปที่จำหน่ายชิ้นละ 1 บาท แต่ถูกกว่ากล่องพลาสติกที่ขายเฉลี่ยกล่องละ 3 บาท 

 

สำหรับตลาดบรรจุภัณฑ์ทุกชนิดมีอยู่กว่า 2 หมื่นล้านบาท คาดว่ามีบรรจุภัณฑ์อาหารประมาณ 50% แต่เป็นบรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้เพียง 1% เท่านั้น ซึ่งแนวโน้มก็เติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากปัญหาภาวะโลกร้อนและปัญหามะเร็ง