BUSINESS

QTC เร่งลุยตลาดต่างประเทศ เล็งเจาะตลาดตะวันออกกลางเพิ่ม
POSTED ON 18/07/2557


ธุรกิจอุตสาหกรรม - นายพูลพิพัฒน์ ตันธนสิน ประธานคณะกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท คิวทีซี เอนเนอร์ยี จำกัด (มหาชน) หรือ QTC ผู้ผลิตและจำหน่ายหม้อแปลงไฟฟ้าขนาดเล็ก/กลาง เปิดเผยว่า ขณะนี้บริษัทฯ มีแผนขยายตลาดส่งออกหม้อแปลงไฟฟ้าไปหลายประเทศทั่วโลก จากปัจจุบันมียอดขายรวมมูลค่า 1 พันล้านบาทต่อปี ในปีนี้มีเป้าหมายส่งออกเติบโตขึ้นอีก 20% เป็น 220 ล้านบาท และมีเป้าหมายส่งออกเพิ่มขึ้นในทุกปี

 

ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2557 บริษัทฯ ได้นำระบบบริหารจัดการแบบบูรณาการอย่างยั่งยืน (Total Quality Management : TQM) มาใช้เพื่อสร้างพื้นฐานความเป็นบริษัทที่มีมาตรฐานระดับโลก เพื่อให้การบุกตลาดต่างประเทศง่ายขึ้น โดยในปี 2558 QTC ตั้งเป้าหมายจะเพิ่มยอดขายให้มากขึ้นด้วยกำลังการผลิตและพนักงานจำนวน 200 คนเท่าเดิม โดยใช้แนวทาง 3 ส่วนผสมเข้าด้วยกัน คือ

 

(1) ซื้อวัตถุดิบที่มีคุณภาพเท่าเดิม แต่ราคาถูกลง เพราะวัตถุดิบคิดเป็น 60-70% ของราคาขาย

(2) เพิ่มการผลิตหม้อแปลงจาก 10 ลูกต่อวัน เป็น 20 ลูกต่อวัน

(3) เพิ่มปริมาณการขายให้มากขึ้น โดยต้องทำทั้งหมดนี้ควบคู่เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดและสำเร็จตามเป้าหมาย เพิ่มยอดขายทั้งหมดของบริษัทเป็น 1,500 ล้านบาท ภายใน 5 ปีข้างหน้า

 

ปัจจุบันลูกค้าต่างประเทศของ QTC ได้แก่ ประเทศในภูมิภาคอาเซียน ออสเตรเลีย และยุโรป และในปีนี้ได้รับจ้างผลิตสินค้า (OEM) ให้บริษัทญี่ปุ่นเป็นครั้งแรก จะส่งมอบงานล็อตแรกมูลค่า 10 ล้านบาทในเดือนหน้า ต่อไปมองหาโอกาสในการเจาะตลาดตะวันออกกลาง

 

ขณะเดียวกันกำลังอยู่ในขั้นตอนทางกฎหมายเพื่อขอลงทุนโรงงานประกอบหม้อแปลงที่ สปป.ลาว มูลค่า 20 ล้านบาท โดย QTC ถือหุ้นในสัดส่วน 85% ของทั้งหมด หากได้รับใบอนุญาตคาดว่าจะก่อสร้างเสร็จภายใน 3 เดือน รวมทั้งยังร่วมงานประมูลในลาวมูลค่า 50 ล้านบาท จะทราบผลภายในเดือนนี้

 

"ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา QTC พยายามพัฒนาระบบบริหารจัดการให้ดีขึ้น แต่ยังเกิดปัญหาเดิมซ้ำๆ เกิดความสูญเปล่า (Waste) จึงได้นำ TQM เข้ามาแก้ปัญหา และควบคุมมาตรฐานต่างๆ ให้คงที่ ด้วยการดึงทุกฝ่ายงาน เช่น โลจิสติกส์ วิศวกรรม บัญชี มาร่วมกันเก็บสถิติ วิเคราะห์ และแก้ปัญหาอย่างเป็นองค์รวม การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงมีการปรับปรุงกระบวนการผลิต ลดคอขวด โดยลงทุนเปลี่ยนเครื่องจักรมาแล้ว 2 ปี มูลค่า 100 ล้านบาท ทำให้กำลังการผลิตหม้อแปลงขนาด 250 KVA เพิ่มจาก 10 ลูกต่อวัน เป็น 30 ลูกต่อวัน" นายพูลพิพัฒน์ กล่าว

 

แม้ระบบ TQM จะใช้กันแพร่หลายทั่วโลก แต่มีผู้ประสบความสำเร็จน้อยราย เพราะต้องใช้ความร่วมมืออย่างเข้มแข็งภายในองค์กร QTC เมื่อเริ่มใช้เกิดแรงต้านภายในองค์กร เพราะพนักงานไม่เข้าใจ แต่ผ่านไป 6 เดือนพนักงานเริ่มเห็นประโยชน์ว่า สามารถลดเวลา ต้นทุน และสิ่งสำคัญคือทำงานได้ง่ายขึ้น ทั้งนี้ แม้ยังตีค่าความสูญเสียเป็นตัวเงินไม่ได้ เพราะยังอยู่ในกระบวนการแก้ปัญหา แต่เริ่มเห็นว่าบางแผนกทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่ต้องจ้างแรงงานเพิ่มขึ้น และบางแผนกทำงานน้อยลงจนไม่ต้องทำงานล่วงเวลา ในอนาคตคือทำอย่างไรให้ผลิตได้มากขึ้น ขณะที่มีคนงานทำเท่าเดิม เพราะค่าแรงมีแต่สูงขึ้น เช่น โรงงานที่ญี่ปุ่นมีคนไม่ถึง 100 คน แต่ผลิตหม้อแปลงได้ถึง 70 เครื่องต่อวัน เพราะใช้เครื่องมือช่วย

 

ทั้งนี้ เป้าหมายสูงสุดของการใช้ระบบ TQM คือ การเสนอชื่อเข้ารับรางวัลคุณภาพแห่งชาติ (Thailand Quality Award : TQA) ในปี 2559 เพื่อการันตีถึงคุณภาพด้านการบริหารจัดการ จะทำให้ QTC สามารถไปบุกตลาดต่างประเทศได้ง่ายขึ้น