BUSINESS

ขาดทุนสะสมจาก LPG-NGV ทำ ปตท. กำไรหด
POSTED ON 29/07/2557


ธุรกิจอุตสาหกรรม - นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะกรรมการ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่า บริษัทเครือ ปตท.กำลังมีกำไรเทียบสัดส่วนการลงทุน (อาร์โอไอซี) ลดลงเรื่อยๆ โดยล่าสุดปี 2556 อยู่ที่ 2.7% เท่านั้น คิดเป็นมูลค่า 90,000-100,000 ล้านบาทต่อปี คิดจากกำไรจากทุกบริษัทในเครือ ปตท. หากเทียบกับบริษัทพลังงานต่างชาติถือว่าน้อยมาก เพราะอัตราที่เหมาะสมควรอยู่ระดับ 16% อย่างไรก็ตาม ปตท.คงไม่คาดหวังที่จะได้อาร์โอไอซีถึงระดับ 16% เพราะ ปตท.คือบริษัทพลังงานของไทยที่ต้องดูแลคนไทยเป็นหลักก่อน

 

ทั้งนี้ ปัจจัยหลักที่ทำให้กำไรเมื่อเทียบสัดส่วนการลงทุนลดลงอยู่ระดับต่ำ คือ ผลกระทบจากนโยบายรัฐบาลที่ต้องขายก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) และก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (เอ็นจีวี) ต่ำกว่าราคาต้นทุน โดยแอลพีจีปัจจุบันรัฐบาลกำหนดราคาหน้าโรงแยกก๊าซไว้ที่ 333 เหรียญสหรัฐต่อตัน ขณะที่ราคาปากหลุมขยับไปแล้วถึง 380 เหรียญสหรัฐต่อตัน

 

ส่วนเอ็นจีวี ปัจจุบันตรึงราคาไว้ที่ 10.50 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งต่ำกว่าราคาที่ขายให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เมื่อขายให้ประชาชนราคาถูก ทำให้ปริมาณใช้มากขึ้น ไม่ประหยัด ขณะที่ต้นทุนผลิตไฟฟ้าของ กฟผ.สูงขึ้น และส่วนหนึ่งมาจากการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) ทำให้ราคาไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) สูงขึ้นทุกปี

 

ช่วง 7 ปีที่ผ่านมา ปตท.ขาดทุนจากราคาก๊าซแอลพีจีและเอ็นจีวีสะสมจำนวนมาก โดยเฉพาะปีที่ผ่านมาขาดทุนถึง30,000 ล้านบาท หากเป็นเช่นนี้ไปเรื่อยจะกระทบต่อฐานะการลงทุนของ ปตท. ดังนั้น บริษัทฯ จะต้องปรับแผนออกไปลงทุนต่างประเทศมากขึ้น ส่วนการลงทุนในประเทศต้องขึ้นอยู่กับรัฐบาลว่าจะกล้าตัดสินใจขึ้นราคาตามต้นทุนที่แท้จริงหรือไม่ หรือกลัวกระแสสังคมมากกว่า

 

นายปิยสวัสดิ์ กล่าวว่า ในการลงทุนต่างประเทศของ ปตท. ยอมรับว่า ยังมีบางโครงการที่ไม่ประสบความสำเร็จ อาทิ โครงการท่อก๊าซในอียิปต์ โครงการปาล์มน้ำมันในอินโดนีเซีย ดังนั้น บอร์ด ปตท.มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมากลั่นกรองโครงการลงทุนต่างประเทศ เพื่อให้โครงการลงทุนมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

 

ส่วนแนวคิดการนำสถานีบริการน้ำมันชื่อ “สามทหาร” มาแทนชื่อ ปตท.นั้น นายปิยสวัสดิ์ มองว่า ปตท.เองคงไม่ทำอะไรที่แย่ลง เพราะแบรนด์ ปตท.ติดตลาดอยู่แล้ว

 

สำหรับทิศทางและกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจของ ปตท.ในระยะสั้น 5 ปี (พ.ศ.2558-2562) นั้น ตั้งเป้าให้ ปตท.เป็นบริษัทพลังงานชั้นนำข้ามชาติ ในปี 2563 ด้วยนำใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีเป็นตัวสร้างความแข็งแกร่งให้กับ ปตท. ซึ่งขณะอยู่ระหว่างพิจารณาว่าจะต้องเพิ่มงบประมาณ สำหรับการวิจัยและพัฒนาอีกหรือไม่ รวมถึงยังเตรียมสร้างท่าเรือรองรับแอลเอ็นจีจากต่างประเทศ และต้องสร้างคลังเก็บแอลเอ็นจี อย่างไรก็ตาม ในปี 2558 ปตท.จะเริ่มกำหนดทิศทางของ ปตท.อีกครั้งในระยะ 14 ปีข้างหน้า หรือปี 2571 ซึ่ง ปตท.จะมีอายุครบ 50 ปี เพื่อให้เติบโตไปตามการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์โลก พลังงานโลกและเทคโนโลยีของโลกต่อไป