BUSINESS

TUF เผย ธุรกิจกระเตื้องขึ้น แต่แนวโน้มกุ้งปีนี้ยังไม่ค่อยดี
POSTED ON 22/05/2557


ธุรกิจอุตสาหกรรม - นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น โปรดักส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TUF แถลงผลประกอบการบริษัทไตรมาสแรกปี 2557 ว่าแนวโน้มกระเตื้องขึ้นจากปีก่อน โดยทำกำไรสุทธิ 950 ล้านบาท ยอดขายในรูปเงินบาทเติบโต 14.3% เปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนโตขึ้น 40.8% กำไรขั้นต้นหรือกรอสมาร์จื้นอยู่ที่ 14.9% สะท้อนการฟื้นตัวจากปี 2556 ซึ่งมีกำไรขั้นต้นเฉลี่ย 12.6%

 

สำหรับปี 2557 นี้ บริษัทตั้งเป้ารายได้ไว้ที่ 4,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งโตขึ้นกว่าปีก่อนทำไว้ 3,660 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คาดว่ากำไรขั้นต้นตลอดทั้งปีจะอยู่ที่ 14-15% ที่มีแนวโน้มดีขึ้นมาจากราคาทูน่ามีเสถียรภาพมากขึ้น ค่าเงินบาทอ่อนตัวลง ปัญหาในตะวันออกกลางคลี่คลาย และปัญหาขาดทุนของบริษัท ยู.เอส.เพ็ต นูทริชั่น จำกัด (U.S. Pet Nutrition) ในสหรัฐฯมีแนวโน้มจะกลับมาทำกำไร อย่างไรก็ตาม เป้านี้ยังถือว่าต่ำกว่ารายได้ปกติปี 2554-2555 ที่บริษัทเคยทำได้ประมาณ 5,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

 

ทิศทางธุรกิจของบริษัทฯ ปีนี้จะยังไม่ขยายกำลังการผลิต เน้นทำกำไร การจัดการงบกระแสเงินสด บริหารสินค้าคงคลัง ลดหนี้สินต่อทุน โดยไตรมาสแรกปี 2557 นี้อัตราหนี้สินต่อทุน (D/E ratio) อยู่ที่ 0.83 และตั้งเป้าว่าจะลดลงให้เหลือ 0.7 นอกจากนี้ จะเน้นพัฒนาสินค้า value-added และทำการตลาดโปรโมตแบรนด์สินค้าให้มากขึ้น ซึ่งขณะนี้บริษัทฯ มีอัตราส่วนผลิตสินค้าแบรนด์ 41% ขณะที่ผลิตแบบ OEM 59%

 

สำหรับอุตสาหกรรมทูน่า นายธีรพงศ์กล่าวว่ามีแนวโน้มดีขึ้นจากราคาทูน่ามีเสถียรภาพ จากปี 2556 ปลาทูน่าราคาเฉลี่ย 1,950 USD/ตัน เดือน เม.ย. ปี 2557 ปลาทูน่าปรับลดลงมาที่ 1,200 USD/ตัน และขณะนี้อยู่ที่กว่า 1,250 USD/ตัน ซึ่งเชื่อว่าจะคงเสถียรภาพไว้ตลอดทั้งปีพิจารณาจากอุปสงค์-อุปทาน

 

ด้าน บริษัท ยู.เอส.เพ็ต นูทริชั่น จำกัด (U.S. Pet Nutrition) ซึ่งจำหน่ายอาหารสัตว์เลี้ยงในสหรัฐอเมริกามีแนวโน้มดีขึ้น คาดว่าปีนี้จะหยุดสภาวะขาดทุน จากเดิมที่ปี 2556 ขาดทุน ปีนี้น่าจะทำกำไรเนื่องจากบริษัทฯ ปรับแผนการผลิตสินค้า โดยหันมาผลิตสินค้าที่มีกำไรมากขึ้น ส่วนสินค้าที่ขาดทุนจะผลิตน้อยลง

 

นายธีรพงศ์กล่าวว่า สำหรับแนวโน้มสถานการณ์กุ้งในปีนี้ถือว่ายังไม่สดใส แม้ผลผลิตของไทยน่าจะเพิ่มขึ้น 10-20% เพิ่มจาก 250,000 ตันในปี 2556 เป็นประมาณ 300,000 ตัน แต่ยังถือว่าไม่เพียงพอต่อความต้องการ โรคกุ้งตายด่วน (EMS) เป็นปัญหาที่ยังแก้ไขไม่ได้ ส่วนประเด็นการลงทุนทำฟาร์มกุ้งเองไม่ใช่กลยุทธ์ของ TUF แม้ว่า TUF จะมีฟาร์มกุ้งขนาด 1,000 ตัน/ปี ใน จ.ตรัง แต่เป็นสัดส่วนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับปริมาณกุ้งที่บริษัทต้องการ 100,000 ตัน/ปี