BUSINESS

"พรีเมียร์ฯ" จี้รัฐชัดเจนใบ รง.4 พร้อมเตรียมรุกโซลาร์เต็มสูบ
POSTED ON 16/04/2557


ธุรกิจอุตสาหกรรม - นายสุรเดช บุณยวัฒน ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พรีเมียร์ โปรดักส์ จำกัด (มหาชน) หรือ PPP ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม และวัสดุก่อสร้างในกลุ่มบริษัทพรีเมียร์ เปิดเผยว่า PPP ได้ก้าวเข้ามาทำธุรกิจพลังงานทดแทนใน 2 ส่วน คือธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม และธุรกิจโซลาร์ฟาร์ม โดยต่อยอดธุรกิจด้วยการนำประสบการณ์ที่มีอยู่มารับออกแบบ จัดซื้อ และติดตั้ง (EPC) โดยเฉพาะการทำแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคา (โซลาร์รูฟท็อป) ให้ลูกค้ากลุ่มบ้านอยู่อาศัย เพื่อผลิตไฟฟ้าใช้เองภายในครัวเรือน

 

ในช่วงปลายปี 2556 บริษัทฯ เคยเป็นตัวแทนยื่นเสนอขายไฟฟ้าเข้าระบบในโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา (Solar PV Rooftop) จำนวน 10 เมกะวัตต์ แต่ไม่สามารถจับสลากเป็นผู้ขายไฟได้ PPP จึงหันมารับติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป แต่ตอนนี้โซลาร์รูฟท็อปกำลังรอความชัดเจนว่าการติดตั้งต้องขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (รง.4) หรือไม่ หลังจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ตีความข้อกฎหมายต่างกัน จนต้องยื่นให้คณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นผู้ตัดสิน

 

ที่ผ่านมา PPP ได้รับออกแบบและติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปให้กับลูกค้าจำนวน 5-6 แห่ง กำลังการผลิตในแต่ละแห่งน้อยกว่า 3.5 กิโลวัตต์ เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เข้าลักษณะเป็นโรงงาน ตาม พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ.2535 ที่ต้องขอ รง.4 จากกระทรวงอุตสาหกรรม ทั้งที่จริงลูกค้าหลายรายต้องการติดตั้งกำลังการผลิตมากกว่านั้น จึงเชื่อว่าหากคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความว่าโซลาร์รูฟท็อปไม่เข้าข่ายต้องขอ รง.4 จะมีผู้ต้องการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปอีกมาก

 

"ถ้าเกรงการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปมีปัญหา ควรตรวจสอบด้านมาตรฐานอุตสาหกรรมในตอนแรก และมีการรับประกันจนครบอายุการใช้งาน 25 ปี หากการขอใบ รง.4 ยังยืดเยื้อต่อไป ธุรกิจเดินหน้าไม่ได้ การผลิตพลังงานสะอาดไม่เป็นไปตามเป้าหมาย แสดงถึงการพยายามยื้อผลประโยชน์ระหว่างหน่วยงาน" นายสุรเดช กล่าว

 

ปัจจุบัน PPP มีความสามารถรับติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปได้ 20 แห่งต่อปี และกำลังประเมินมูลค่าของตลาดโซลาร์รูฟท็อป ถ้าสร้างรายได้ให้บริษัทถึง 500 ล้านบาท จะขยายกำลังการรับงานแยกเป็นธุรกิจวิศวกรรมในปีหน้า

 

นายสุรเดช กล่าวต่อว่า ปัจจุบัน PPP มีโซลาร์ฟาร์ม 3 แห่ง ในจังหวัดสระบุรี กำลังการผลิตรวม 15 เมกะวัตต์ และได้ยื่นขอสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ในโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม กำลังการผลิต 32 เมกะวัตต์ มูลค่า 3,000-4,000 ล้านบาท ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา หลังจากเห็นว่าการขอรับใบอนุญาตต่างๆ ในโครงการโซลาร์ฟาร์มมีเงื่อนงำ จึงตัดสินใจชะลอธุรกิจไว้ แล้วศึกษาธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมแทน เพราะเป็นเรื่องใหม่ในประเทศไทย และการแข่งขันไม่สูงนัก โดยขณะนี้ PPA ผ่านการพิจารณาของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แล้ว และอยู่ระหว่าง กกพ.พิจารณาเงื่อนไข

 

โดย PPP คาดว่าจะได้ PPA ภายในกลางปีนี้ จากนั้นวางแผนจะใช้งบประมาณ 60 ล้านบาท ตั้งเสาวัดลมเป็นเวลา 8-9 เดือน บนพื้นที่กว่า 200 ไร่ บริเวณใกล้เคียงกับจังหวัดชัยภูมิ เพื่อศึกษาความคุ้มค่าของการลงทุน ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวมีความเหมาะสม เพราะมีลมแรงและสม่ำเสมอ

 

ขณะเดียวกัน กำลังเลือกเทคโนโลยีที่เหมาะสม โดยเฉพาะเทคโนโลยีจากประเทศเยอรมนีและฟินแลนด์ พิจารณาแหล่งเงินกู้มูลค่า 2,000-3,000 ล้านบาท โดยศึกษาเปรียบเทียบว่าต้นทุนทางการเงินของการตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐานและการออกหุ้นกู้ รวมถึงหาพันธมิตรเข้ามาร่วมทุน คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างเสร็จในช่วงปลายปี 2558 และสร้างรายได้อย่างต่ำ 500 ล้านบาทต่อปี หรือคืนทุนภายใน 5 ปี นอกจากนี้ กำลังเริ่มศึกษาการลงทุนโรงไฟฟ้าชีวมวลจากแกลบ รวมถึงโรงไฟฟ้าจากขยะอีกด้วย

 

ทั้งนี้ พรีเมียร์ตั้งเป้าว่าใน 5 ปีข้างหน้า จะมีรายได้จากธุรกิจไฟฟ้าและธุรกิจจัดจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าประหยัดพลังงานเพิ่มเป็น 50% ของรายได้ทั้งหมด จากปัจจุบันทั้ง 2 ธุรกิจมีสัดส่วนประมาณ 25% ของรายได้ โดยเป็นส่วนของธุรกิจไฟฟ้า 15% และธุรกิจจัดจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้า 10% ที่เหลือเป็นรายได้จากธุรกิจบำบัดน้ำเสีย 50% และธุรกิจวัสดุก่อสร้าง 25%

 

สำหรับปี 2557 PPP ได้ลดเป้าหมายการเติบโตลงจาก 20% เหลือ 10% เมื่อเทียบกับปี 2556 ที่มีรายได้ 1,520 ล้านบาทเนื่องจากภาคเศรษฐกิจได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ทางการเมืองที่ไม่รู้ยืดเยื้อถึงเมื่อไหร่ ซึ่งเบื้องต้น PPP ได้รับผลกระทบจากโครงการที่ไปรับเหมาเช่าช่วง (Subcontract) งานบำบัดน้ำเสียของภาครัฐที่ไม่สามารถอนุมัติจ่ายเงินได้หลังจากเสร็จงาน มูลค่า 50 ล้านบาท แต่ยืนยันว่ายังไม่ส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องของบริษัท

 

ปัจจุบันมีงานในมือ (Backlog) ถึงไตรมาสที่ 2 มูลค่า 200 ล้านบาท โดยมองว่าธุรกิจเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ทั้งการบำบัดน้ำเสียและวัสดุก่อสร้างยังคงเติบโตได้ 10% โดยบริษัทจะมุ่งสู่ธุรกิจการรีไซเคิลน้ำกลับมาใช้ให้มากขึ้น หลังจากหลายพื้นที่ในประเทศประสบปัญหาภัยแล้งและน้ำทะเลหนุนสูง ขณะที่ปีนี้จะรับรู้รายได้โรงไฟฟ้าทั้งหมดเต็มปี ส่งผลให้มีรายได้ในส่วนนี้เพิ่มจาก 280 ล้านบาทในปีก่อน เป็น 300 ล้านบาทในปีนี้ ขณะเดียวกัน กำลังหาเครื่องใช้ไฟฟ้าใหม่ ๆ เข้ามาทำตลาดมากขึ้น