BUSINESS

TUF เผย อเมริกาใต้น่าสนใจ เตรียมเจาะตลาดเข้าลงทุน
POSTED ON 11/04/2557


ธุรกิจอุตสาหกรรม - นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น โปรดักส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TUF เปิดเผยว่า ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ดีขึ้น โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และญี่ปุ่นถือเป็นปัจจัยบวกในปีนี้ที่สนับสนุนให้บริษัทเติบโตตามเป้าหมายรายได้ 4,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเติบโตประมาณ 9% เมื่อเทียบกับปี 2556 ที่มีรายได้ประมาณ 3,663 ล้านเหรียญสหรัฐ และวางเป้าหมายปี 2558 จะมีรายได้ 5,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และปี 2563 จะมีรายได้ 8,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

 

แม้กุ้งจะทำให้ผลประกอบการในประเทศไทยอ่อนตัวในปีที่แล้ว แต่การที่มีบริษัทลูกเจ้าของแบรนด์ "Chicken of the Sea" เป็นผู้จัดจำหน่ายกุ้งอันดับหนึ่งในอเมริกากลับทำรายได้และกำไรได้ดีมาก เพราะมีฐานการตลาดที่เข้มแข็ง และมีความสามารถในการจัดหาสินค้าจากทั่วโลก เมื่อกุ้งในไทยมีปัญหา ได้มีการนำเข้ากุ้งจากอินเดีย เวียดนาม เอกวาดอร์ และอีกหลายประเทศในอเมริกาใต้ รวมถึงอินโดนีเซียเข้าไปทดแทน ทำให้เมื่อนำรายได้ทั้งกลุ่มมารวมกันทำให้ธุรกิจกุ้งมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น สิ่งนี้ถือเป็นจุดแข็งของทียูเอฟ ทำให้รายได้และกำไรที่สมดุลได้

 

นายธีรพงศ์ กล่าวว่า "ไตรมาสแรกของปีนี้ ผลประกอบการมีแนวโน้มดีกว่าช่วงเดียวของกันปีก่อน เนื่องจากได้ประโยชน์จากค่าเงินบาทที่อ่อนที่ระดับ 32.2-32.3 บาทต่อดอลลาร์ ปีนี้มีหลายปัญหาคลี่คลายไปบ้างแล้ว ยกเว้นโรคตายด่วนในกุ้ง (EMS) คิดว่ายังคงอยู่กับไทยไปอีก 1 ปี แต่คาดว่าผลผลิตของไทยปีนี้จะเติบโต 10-20% จากปี 2556 มีผลผลิต 250,000 ตัน ปีนี้คาดว่าจะใกล้เคียงปีที่แล้ว หรือเพิ่มขึ้นเป็น 300,000 ตัน ธุรกิจกุ้งของทียูเอฟในปีนี้จะไม่เน้นปริมาณ จะเน้นการทำกำไรและการสร้างมูลค่าเพิ่ม ขณะที่วัตถุดิบปลาทูน่าตอนนี้ลงมาต่ำกว่า 1,200 เหรียญต่อตัน ข้อดีจะทำให้กำลังซื้อในตลาดต่างประเทศกลับมา ปีนี้จะเห็นกิจกรรมทางการตลาดที่กระตุ้นการบริโภคทั่วโลกมากขึ้น จะเป็นโอกาสที่เจ้าของแบรนด์จะทำกำไร"

 

นอกจากนี้ นายธีรพงศ์ยังเผยถึงกรณีสหรัฐฯ ด้วยว่าอยู่ระหว่างพิจารณาจะปรับลดอันดับของไทยจาก Tier-2 Watch List ไปอยู่ในกลุ่ม Tier-3 หรือไม่นั้น ถือเป็นเรื่องที่ทางทียูเอฟเป็นกังวลมาก และเห็นว่าภาคอุตสาหกรรมต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่นให้คู่ค้าของแต่ละคนให้เห็นถึงความโปร่งใส หรือการบริหารจัดการ การดูแลแรงงานอย่างถูกต้อง และเป็นไปตามกฎหมายนานาชาติและกฎหมายภายในประเทศ ทียูเอฟเองต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่นให้คู่ค้าของตัวเอง

 

"ตอนนี้ผลการดำเนินงานของบริษัทอยู่ในสภาวะที่สบายใจขึ้น ทียูเอฟจะใช้เวลาในการมองหาโอกาสในธุรกิจมากขึ้น ด้วยการเดินทางไปในหลายประเทศ โดยล่าสุดได้เดินทางไปทวีปอเมริกาใต้ ถือโอกาสไปทำความรู้จักอุตสาหกรรมของประเทศคู่แข่ง เช่น เม็กซิโก เอกวาดอร์ เปรู ชิลี บราซิล โคลอมเบีย ไปดูฟาร์มเลี้ยงปลาแซลมอนในชิลี ไปเอกวาดอร์ ซึ่งเป็นผู้ผลิตปลาทูน่าอันดับ 2 รองจากไทย เจ้าของโรงงานผลิตปลาทูน่าส่วนใหญ่เป็นเจ้าของกองเรือ ตลาดปลาทูน่าในเอกวาดอร์แข็งแรง เพราะเป็นหนึ่งในประเทศที่อยู่ในกลุ่มแอนเดียน (ANDEAN) ประกอบด้วย 4 ประเทศ ได้แก่ เอกวาดอร์ เปรู โบลิเวีย โคลอมเบีย ได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรจากสหรัฐ และสหภาพยุโรปไม่ต้องเสียภาษี 0% ในการนำเข้าปลาทูน่า ขณะที่กำลังซื้อตลาดปลาทูน่าในอเมริกาใต้กำลังเติบโต เพราะเป็นตลาดใหม่ ที่ผ่านมาทียูเอฟส่งไปขายเพียง 1% ของรายได้รวม ปัจจุบันอเมริกาใต้มีประชากรรวมกันประมาณ 600 กว่าล้านคน เศรษฐกิจ และการบริโภคเติบโตขึ้นมาก และพัฒนาดีกว่าประเทศในกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ที่มีประชากรใกล้เคียงกัน แต่ในตลาดอเมริกาใต้มีกำลังซื้อมากกว่ากลุ่มเออีซี ถือเป็นภูมิภาคที่น่าสนใจ" นายธีรพงศ์ กล่าว

 

"เวลานี้ธุรกิจของทียูเอฟเป็นธุรกิจระหว่างประเทศ เราจำเป็นต้องมีกลยุทธ์ทางธุรกิจในระดับโลก 3 เรื่องหลัก ได้แก่ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ, หาตลาดใหม่ๆ และการลงทุนใหม่ๆ แต่เราจะเดินอย่างไร แล้ววันนี้คู่แข่งเราก็ระดับโลก เราต้องทำความเข้าใจว่าตอนนี้คู่แข่งเราอยู่ตรงไหนของโลก ทำอะไร ตลาดมีตรงไหน เราควรจะขยายไปตรงไหน ไปอย่างไร เพราะเงินเรามีจำกัด ถ้าเราจะลงทุนตรงไหน ลงเมื่อไหร่ ลงอะไร เป็นคำถามที่เราต้องดูตลอด เราสนใจหมดทั้งทวีปอเมริกาใต้ แอฟริกา แต่ต้องใช้เวลาศึกษาข้อมูลก่อน คงไม่ได้ตัดสินใจทันทีในการไปลงทุนอะไร" นายธีรพงศ์ กล่าวใสตอนท้าย