BUSINESS

"บาฟส์" จี้รัฐชัดเจนโครงการท่อน้ำมันเหนือ-อีสาน
POSTED ON 10/04/2557


ธุรกิจอุตสาหกรรม - ม.ร.ว.ศุภดิศ ดิศกุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ "บาฟส์" ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ใน บริษัท ขนส่งน้ำมันทางท่อ จำกัด หรือ FPT เปิดเผยว่า บริษัทฯ ต้องการความชัดเจนจากกระทรวงพลังงานกรณีโครงการก่อสร้างท่อส่งน้ำมันส่วนขยายไปยังภาคเหนือและอีสานว่าสุดท้ายแล้วกระทรวงฯ จะตัดสินใจให้เอกชนลงทุนหรือภาครัฐต้องการเป็นผู้ลงทุนเอง

 

โดยที่ผ่านมา บริษัทฯ เคยเสนอแผนลงทุนในโครงการวางท่อส่งน้ำมันเส้นเหนือ (พระนครศรีอยุธยา-ลำพูน) ระยะทางกว่า 700 กิโลเมตร มูลค่าลงทุน 6.5 พันล้านบาท ซึ่งเป็นส่วนต่อขยายจากจุดต่อเชื่อมท่อของบริษัท ท่อส่งปิโตรเลียมไทย จำกัด หรือ แทปไลน์ ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาโดยได้เสนอให้กับ นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานตั้งแต่กลางปี 2556 ที่ผ่านมา แต่จนถึงปัจจุบันนี้ก็ยังไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด

 

โครงการขยายท่อส่งน้ำมันสายเหนือของบริษัทฯ ที่เสนอไปยังกระทรวงพลังงานนั้น แบ่งเป็น 2 ระยะ คือส่วนต่อขยายระยะ 1 สายบางปะอิน-พิษณุโลก ระยะยาง 387 กิโลเมตร ขนาดท่อขนส่งเส้นผ่านศูนย์กลาง 12 นิ้ว มีคลังน้ำมันปลายทางขนาดพื้นที่ 100 ไร่ ใน จ.พิษณุโลก เพื่อรับน้ำมันจากระบบท่อระยะที่ 1 ความจุรวม 70 ล้านลิตร มูลค่าลงทุน 3.5 พันล้านบาท

 

ส่วนระยะที่ 2 สายพิษณุโลก-ลำพูน ระยะทาง 316 กิโลเมตร ขนาดท่อขนส่งเส้นผ่านศูนย์กลาง 10 นิ้ว โดยคลังรับน้ำมันปลายทางขนาดพื้นที่ 100 ไร่ ใน จ.ลำพูน เพื่อรับน้ำมันจากระบบท่อระยะที่ 2 ความจุรวม 70 ล้านลิตร ใช้เงินลงทุน 3 พันล้านบาท ระยะเวลาก่อสร้าง 30 เดือน

 

ทั้งนี้ สาเหตุที่บริษัทฯ ต้องการความชัดเจนจากภาครัฐว่าจะให้เอกชนหรือภาครัฐจะเป็นผู้ลงทุนนั้น เพราะต้องยอมรับว่าขณะนี้มีหลายฝ่ายที่เข้าไปศึกษาโครงการลงทุนดังกล่าว แต่จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีความชัดเจนอะไรออกมา หากภาครัฐยืนยันว่าจะลงทุนเอง บริษัทฯ จะได้ถอนตัว เพื่อหันไปขยายธุรกิจด้านอื่นแทน แต่หากสุดท้ายผลสรุปออกมาว่าต้องการให้เอกชนเป็นผู้ลงทุน ทาง FPT ก็พร้อมลงทุนทันที โดยมีการศึกษาโครงการลงทุนอย่างละเอียด รวมทั้งมีความพร้อมด้านเงินลงทุนแล้ว แต่ต้องการให้ภาครัฐสนับสนุนเฉพาะพื้นที่วางท่อน้ำมันตลอดเส้นทางในพื้นที่ราชการเท่านั้น

 

นอกจากนี้ ยังต้องการความชัดเจนว่าการเสนอโครงการลงทุนท่อน้ำมันดังกล่าวขึ้นตรงกับกระทรวงใดกันแน่ ระหว่างกระทรวงคมนาคมกับกระทรวงพลังงาน

 

ม.ร.ว.ศุภดิศ กล่าวอีกว่า สำหรับโครงการลงทุนท่อส่งน้ำมันสายเหนือของ FPT คำนวณจากต้นทุนก่อสร้างแนวท่อและคลังน้ำมัน 6.5 พันล้านบาท หรือคิดเป็นต้นทุนไม่เกิน 10 ล้านบาทต่อกิโลกรัม ซึ่งนับว่าเป็นอัตราที่ถูกเมื่อเทียบกับเอกชนบางรายที่เคยเสนอตัวเลขออกมาอยู่ที่ 8,000-10,000 ล้านบาท ส่วนอัตราค่าบริการผ่านท่อและคลังน้ำมันของ FPT แบ่งเป็นอัตราค่าบริการท่อเส้นพระนครศรีอยุธยา-พิษณุโลก อยู่ที่ 0.21 บาทต่อลิตร และท่อเส้นพระนครศรีอยุธยา-ลำพูน 0.44 บาทต่อลิตร โดยมีผลตอบแทนการลงทุน (ไออาร์อาร์) อยู่ที่ 12% คาดว่าระยะเวลาการคืนทุนจะอยู่ที่ 17-18 ปี

 

อย่างไรก็ตาม ม.ร.ว.ศุภดิศ กล่าวว่าโดยส่วนตัวมองว่าการศึกษาโครงการท่อส่งน้ำมันส่วนขยายเป็นสิ่งที่ดี เพราะหากมีท่อส่วนขยายเส้นเหนือ จะทำให้ราคาน้ำมันในภาคเหนือใกล้เคียงกับภาคกลาง แต่สิ่งที่ยังกังวลอยู่ในขณะนี้คือการศึกษาลงทุนโครงการท่อส่งน้ำมันนั้น ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทฯ เคยเสนอกระทรวงพลังงานไปแล้ว ก็ยังไม่มีความชัดเจน

 

นอกจากนี้ ยังพบว่ากระทรวงพลังงานไม่ได้นำแผนศึกษาของ FPT ไปรวมในการศึกษาของกระทรวงฯ ทำให้ไม่มีความมั่นใจว่า หาก FPT ลงทุนก่อสร้างไปแล้ว ในอนาคตจะมีท่อน้ำมันคู่ขนานไปยังภาคเหนือเกิดขึ้นซ้ำซ้อนอีกหรือไม่ เพราะมองว่าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมีท่อส่งน้ำมัน 2 เส้น ในพื้นที่เดียวกัน

 

บริษัทฯ ยืนยันว่าหากกระทรวงพลังงานเปิดประมูล บริษัทฯ ก็พร้อมแข่งขัน โดยมั่นใจประสบการณ์และต้นทุนที่ถูกกว่ารายอื่น รวมทั้งโครงการท่อส่วนขยายของ FPT ยังมีระยะทางสั้นกว่าแผนของกระทรวงพลังงาน 50 กิโลเมตร หรือคิดเป็นมูลค่าที่ประหยัดได้ 500-600 ล้านบาท