BUSINESS

"โรงทอผ้ากรุงเทพ" เตรียมปรับแผน หลังโรงแรมลดกำลังซื้อ
POSTED ON 08/04/2557


ธุรกิจอุตสาหกรรม - นายพงษ์ศักดิ์ อัสสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท โรงงานทอผ้ากรุงเทพ จำกัด เปิดเผยว่า ปีนี้ตั้งเป้ารายได้รวมเติบโต 5% หรือประมาณ 60 ล้านเหรียญสหรัฐ แบ่งเป็นรายได้จากการส่งออก 70% และในประเทศ 30% แต่หลังจากมีการชุมนุมทางการเมือง ส่งผลกระทบต่อธุรกิจท่องเที่ยว และกระทบต่อลูกค้าหลัก ซึ่งเป็นกลุ่มโรงแรม ทำให้ยอดคำสั่งซื้อสินค้าผ้าปูที่นอนในประเทศชะลอตัวลง เช่น ปกติสั่งปีละ 3 รอบ จะขยายระยะเวลาออกไปเป็น 1 ปีครึ่ง จึงสั่งสินค้า เป็นต้น

 

นอกจากนี้ ลูกค้าชะลอการจ่ายเงิน หรือขอขยายระยะเวลาเครดิตในการจ่ายเงินยาวนานขึ้น ซึ่งปัญหานี้กระทบกับบริษัทฯ เพราะหากยืดเวลานานออกไปจะกระทบเป็นลูกโซ่ บริษัทฯ ได้เจรจากับลูกค้าเพื่อทำความเข้าใจ เพราะต้องการให้บริษัทฯ เดินหน้าธุรกิจได้ การชะลอคำสั่งซื้อ หรือการยืดเวลาการชำระค่าสินค้าออกไป ส่งสัญญาณให้เห็นว่าเศรษฐกิจในประเทศมีปัญหา ทำให้เงินไม่สะพัดในระบบเศรษฐกิจ

 

อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ได้วางแผนขยายฐานการตลาดกลุ่มลูกค้าในประเทศ จากปกติจะเน้นกลุ่มโรงแรม 5 ดาว ก็ขยายออกไปถึงกลุ่มโรงแรมระดับ 3 ดาว โดยปรับผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับความต้องการของกลุ่มนี้ เช่น การผลิตเส้นด้ายในระดับ 200, 250 และ 300 ให้เป็นทางเลือกของลูกค้ากลุ่มนี้

 

ขณะที่รายได้จากการส่งออก มาจากตลาดหลักคือสหรัฐฯ ซึ่งเป็นกลุ่มโรงแรมในพื้นที่กาสิโน ยังมีความต้องการมากขึ้น ส่วนตลาดค้าปลีกที่ขายในห้างมีความต้องการซื้อลดลงบ้าง เนื่องจากสินค้าถูกกดราคาให้ถูกลง เนื่องจากมีการแข่งขันมากขึ้น ฉะนั้น บริษัทฯ จึงได้ปรับกลยุทธ์ไปเจาะตลาดกลุ่มลูกค้าที่มีความต้องการเฉพาะด้าน เช่น ผ้าสำหรับผลิตปกพาสปอร์ต หรือนำผ้าไปทำกล่องสินค้า ที่มีมากกว่า 10-20 ราย ซึ่งข้อดีของกลุ่มนี้ คือ มีเป็นสินค้าเฉพาะคุณภาพสูงราคาดี และได้สัญญายาวนานด้วย

 

นอกจากนี้ บริษัทฯ หันไปทำตลาดในอาเซียนมากขึ้น โดยเข้าร่วมงานแสดงสินค้าโฮเต็ลแฟร์ ที่บาหลี ประเทศอินโดนีเซีย เพื่อไปหาคู่ค้าในต่างประเทศ เป็นต้น

 

นายพงษ์ศักดิ์กล่าวถึงความคืบหน้าในการประกาศขายพื้นที่โรงงานทอผ้ากรุงเทพ ที่ตั้งในเขตบางซ่อน กรุงเทพฯ-นนทบุรี ซึ่งมีนักลงทุนต่างชาติ 4-5 ราย สนใจติดต่อเข้ามา แต่หลังจากมีการชุมนุมทางการเมืองยืดเยื้อ ส่งผลให้การเจรจาซื้อขายต้องชะลอออกไป

 

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ได้เริ่มขนย้ายเครื่องจักรไปผลิตที่โรงงานอีกแห่งใน จ.ปทุมธานี เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มขีดความสามารถของบริษัท ซึ่งการรวมอยู่ในพื้นที่เดียวกันทำให้สามารถลดการจ้างแรงงานในตำแหน่งซ้ำซ้อนลง จากเดิมมี 1,800 คน เหลือ 1,500 คน ปรับปรุงเครื่องจักร โดยเครื่องจักรที่เก่านำออกไป นำเครื่องใหม่หรือพัฒนาเครื่องให้มีศักยภาพมากขึ้น และอยู่ระหว่างพิจารณาใช้ถ่านหิน เพื่อลดต้นทุนด้านพลังงาน และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน แต่ทางบริษัทยังคงดำเนินการตามกฎระเบียบที่มีการควบคุมไว้ตามกฎของอุตสาหกรรมโรงงาน เพราะปัจจุบันผู้ซื้อให้ความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น