BUSINESS

นิคมฯ ปิ่นทอง เล็งตั้งกองทุนรวมปิ่นทอง มูลค่า 2.6 พันล้านบาท
POSTED ON 19/03/2557


ธุรกิจอุตสาหกรรม - นายพีระ ปัทมวรกุลชัย ประธานกรรมการ บริษัท ปิ่นทอง อินดัสเตรียล ปาร์ค จำกัด ผู้บริหารนิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง เปิดเผยว่า บริษัทฯ อยู่ระหว่างการจัดตั้ง "กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ปิ่นทอง" (PPF) มูลค่าโครงการประมาณ 2.6 พันล้านบาท ลงทุนในกรรมสิทธิ์ที่ดินและอาคารโรงงานจำนวน 90 โรง พื้นที่รวม 1.4 แสนตารางเมตร มีธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) เป็นที่ปรึกษาทางด้านการเงินและผู้จัดการการจำหน่าย และ บล.ไทยพาณิชย์ เป็นผู้จัดการกองทุน ทั้งนี้ เพื่อใช้ในการรองรับการขยายโครงการในนิคมอุตสาหกรรมปิ่นทองและเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินงานของบริษัทฯ

 

ปัจจุบันนิคมอุตสาหกรรมปิ่นทองมีทั้งหมด 5 แห่ง พื้นที่รวมกันกว่า 6,000 ไร่ แถบ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี มีมูลค่าโครงการรวมกันประมาณ 14,000 ล้านบาท โดยในแผนระยะ 3 ปีข้างหน้า บริษัทฯ มีแผนขยายธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่รอบ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี และบริเวณใกล้เคียงอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอกย้ำถึงจุดแข็งของนิคมอุตสาหกรรมปิ่นทองในฐานะเป็นศูนย์กลางนิคมอุตสาหกรรมที่สำคัญในภาคตะวันออกและของประเทศตลอดเกือบ 2 ทศวรรษ โดยเน้นอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ การขนส่ง พลาสติก และบรรจุภัณฑ์ เป็นต้น 

 

นางสมศรี ดวงประทีป กรรมการบริหาร นิคมฯ ปิ่นทองฯ กล่าวว่า การเปิดโครงการนิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง 4 และ 5 พื้นที่รวม 2,200 ไร่ มูลค่าโครงการประมาณ 5,000 ล้านบาท ราคาขายต่อไร่เฉลี่ย 3 ล้านกว่าบาท เริ่มทำการตลาดได้ในช่วงปลายไตรมาส 2 ของปีนี้ ตั้งเป้าจะสามารถปิดการขายได้ภายใน 3 ปี

 

ปัจจุบันมีนักลงทุนที่เป็นกลุ่มลูกค้าเดิมและลูกค้าใหม่โดยเฉพาะญี่ปุ่น จีน และไทย ทยอยวางแผนเพื่อลงทุนเพิ่มเติมและการย้ายการลงทุนจากที่อื่นมาในนิคมอุตสาหกรรมทั้ง 2 แห่งแล้ว คาดว่าจะมีกลุ่มลูกค้าเดิมและลูกค้าแถบภาคตะวันออกเข้ามาลงทุนประมาณ 70% และที่เหลือเป็นกลุ่มลูกค้าใหม่ 30% ทำให้ยังคงเป็นผู้นำในธุรกิจผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมภาคเอกชนแถบศรีราชาและบริเวณใกล้เคียงที่ใกล้ท่าเรือแหลมฉบังมากที่สุดต่อไป เนื่องจากราคาเช่าและการขายที่ดินยังอยู่ในอัตราที่ต่ำกว่าเฉลี่ยถึง 23% เมื่อเทียบกับราคาในชลบุรีและในเขตภาคตะวันออก ทำให้บริษัทมีโอกาสทางธุรกิจอยู่ในระดับสูงอยู่ต่อไปในการที่จะดึงดูดและเร่งให้ผู้ประกอบการตัดสินใจเข้ามาเช่าหรือซื้อที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมปิ่นทองทั้ง 2 แห่ง เพื่อลดต้นทุนจากผลกระทบจากปัญหาวัตถุดิบในการผลิตและต้นทุนแรงงานที่ปรับเพิ่มขึ้น

 

สำหรับในช่วงระหว่างปี 2554-2556 ที่ผ่านมา บริษัทฯ มีผลการดำเนินงานที่ดีมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง มีรายได้รวม 4,077 ล้านบาท กำไรก่อนหักภาษีอยู่ที่ 900 ล้านบาท และคาดว่าการเปิดโครงการนิคมอุตสาหกรรม 4 และ 5 จะทำให้บริษัททยอยรับรู้รายได้เพิ่มขึ้นเป็น 4,800 ล้านบาท และมีกำไรก่อนหักภาษีประมาณ 1,600 ล้านบาท

 

นายทาคาฮารุ ซุเกะ ผู้จัดการทั่วไปของนิคมฯ ปิ่นทองฯ  กล่าวว่า แนวโน้มการแข่งขันของผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรมในแถบศรีราชาและบริเวณใกล้เคียงยังคงมีอย่างต่อเนื่องเพื่อรองรับ AEC ซึ่งทางนิคมอุตสาหกรรมยังมีข้อได้เปรียบในเรื่องที่ตั้งของนิคมอุตสาหกรรมคือใกล้ท่าเรือแหลมฉบังซึ่งเป็นจุดศูนย์กลางขนส่งในภาคตะวันออก และคาดว่าจะได้รับความสนใจจากนักลงทุนรายใหม่ที่ยังไม่เคยมีฐานการลงทุนในประเทศย้ายฐานการผลิตหรือลงทุนเพิ่มในนิคมอุตสาหกรรมปิ่นทองเพิ่มมากขึ้นด้วย

 

ส่วนปัญหาความผันผวนทางเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มจะชะลอตัวทั้งภายในประเทศและต่างประเทศที่หลายฝ่ายมองว่าจะทำให้การลงทุนในภาพรวมชะลอตัวลงไปนั้นอาจจะมีบ้าง แต่บริษัทยังไม่ได้รับผลกระทบเนื่องจากสามารถเสนอรูปแบบการลงทุนที่เหมาะสมกับลูกค้าได้ตรงความต้องการทั้งการให้เช่าโรงงานสำเร็จรูปเพื่อให้สามารถผลิตสินค้าส่งมอบกับผู้ว่าจ้าง และการซื้อที่ดินเพื่อก่อสร้างโรงงานที่มีระยะเวลาในการก่อสร้างและการลงทุนพอสมควร และขณะนี้มีกลุ่มลูกค้าเอสเอ็มอีผลิตชิ้นส่วนยานยนต์และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์จากประเทศญี่ปุ่นทยอยเข้ามาติดต่อเพื่อเช่าและซื้อที่ดินเพื่อเตรียมการผลิตสำหรับส่งมอบให้กับบริษัทแม่ในประเทศและส่งกลับไปยังประเทศญี่ปุ่นแล้ว และเชื่อว่าประเทศไทยยังคงเป็นจุดศูนย์กลางการลงทุนที่สำคัญของภูมิภาคนี้อยู่ทำให้ได้รับผลกระทบในขอบเขตจำกัด

 

"ที่ผ่านมามีหน่วยงานกลางทั้งภาครัฐและเอกชนด้านการลงทุนหลายประเทศ เข้ามาศึกษาเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจให้กับผู้ประกอบการของประเทศตัวเอง ซึ่งพบว่ารายงานมีมุมมองในสถานะเชิงบวกต่อตัวนิคมอุตสาหกรรมหลายประการทั้งในเรื่องทำเลที่ตั้งใกล้จุดขนส่งสำคัญของประเทศและการคมนาคมที่สะดวก ระบบรักษาความปลอดภัย การใส่ใจในเรื่องสิ่งแวดล้อมที่เป็นมาตรฐานทั้งในเรื่องพื้นที่สีเขียวและระบบบำบัดน้ำเสีย เป็นต้น ซึ่งเมื่อกลุ่มนักลงทุนจากต่างประเทศโดยเฉพาะจากประเทศญี่ปุ่นเข้ามาเยี่ยมชมภายในนิคมอุตสาหกรรมแล้วมีความสนใจที่จะเข้าเลือกเข้ามาในนิคมอุตสาหกรรมปิ่นทองต่อเนื่อง โดยปัจจุบันมีลูกค้าชั้นนำจากญี่ปุ่นและจากบริษัทชั้นนำทั่วโลกให้ความไว้วางใจเลือกนิคมอุตสาหกรรมเป็นที่ตั้งโรงงานผลิต เช่น กลุ่มผลิตชิ้นส่วนยานยนต์อย่าง Watanabe Heat Treatment, Advics, Furukawa NTN Automotive กลุ่มอื่นๆ เช่น DHL, Makita และ Cerebos เป็นต้น" ผู้จัดการทั่วไปของปิ่นทองฯ กล่าว