BUSINESS

"เอกรัฐวิศวกรรม" เตรียมลุยลงทุนหม้อแปลงยักษ์ 60,000kva
POSTED ON 14/03/2557


ธุรกิจอุตสาหกรรม - นายดนุชา น้อยใจบุญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอกรัฐวิศวกรรม จำกัด (มหาชน) หรือ เอเคอาร์ เปิดเผยว่า ในปีนี้บริษัทฯ มีแผนลงทุนก่อสร้างโรงงานผลิตหม้อแปลงไฟฟ้าขนาดใหญ่ หรือหม้อแปลงไฟฟ้ากึ่งเพาเวอร์ ขนาด 60,000 วีเอ จากปัจจุบันผลิตอยู่ที่ไม่เกิน 30,000 เควีเอ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาตลาดหม้อแปลงไฟฟ้ากึ่งเพาเวอร์ ซึ่งจะใช้ในกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ อาทิ โรงงานปิโตรเคมีของกลุ่มบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) หากการศึกษาพบว่าบริษัทมีโอกาสรับงานในระดับ 200 ล้านบาทต่อปี หรือคุ้มทุนภายใน 5 ปี ก็เตรียมจะเสนอคณะกรรมการบริษัทฯ ในปีนี้ เพื่อลงทุนก่อสร้างโรงงานดังกล่าวในปีถัดไป คาดว่าจะใช้เงินลงทุนสำหรับการก่อสร้างและซื้อเครื่องจักรใหม่ประมาณ 300 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินกู้จากสถาบันการเงิน 70% ส่วนที่เหลืออีก 30% มาจากเงินทุนของบริษัท

 

"บริษัทฯ สนใจขยายงานในธุรกิจหม้อแปลงขนาดใหญ่ เนื่องจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศ ทำให้มีการก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่มากขึ้น และเมื่อมีความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นการใช้หม้อแปลงไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นควบคู่กัน ซึ่งคาดว่าภายหลังจากโรงงานผลิตหม้อแปลงกึ่งเพาเวอร์แล้วเสร็จภายในปี 2558 บริษัทฯ ก็เตรียมขยายตลาดไปยังต่างประเทศด้วย อาทิ เมียนมาร์ ลาว มาเลเซีย และสิงคโปร์ โดยปัจจุบันบริษัทฯ ทำการค้าขายหม้อแปลงไฟฟ้าขนาดเล็กและกลางในตลาดอาเซียนอยู่แล้ว จึงไม่เป็นปัญหาหากจะขยายธุรกิจหม้อแปลงขนาดใหญ่เพิ่ม" นายดนุชา กล่าว

 

สำหรับปีนี้ บริษัทฯ ตั้งเป้ารายได้อยู่ที่ 2 พันล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 15% เนื่องจากปีที่แล้วตัวเลขเติบโตมากกว่าปกติจากการฟื้นตัวหลังปัญหาน้ำท่วม แต่หากเศรษฐกิจในประเทศฟื้นตัวเร็ว ก็มีโอกาสที่รายได้ของบริษัทฯ จะขยับขึ้น เนื่องจากปัจจุบันรายได้ส่วนใหญ่ยังคงมาจากยอดขายในประเทศเป็นหลัก หรือคิดเป็น 85-90% ส่วนที่เหลือมาจากยอดขายในต่างประเทศ โดยปี 2556 มีรายได้จากตลาดต่างประเทศอยู่ที่ 180 ล้านบาท และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 200 ล้านบาทในปีนี้ มาจากเศรษฐกิจในประเทศเมียนมาร์ ลาว และมาเลเซีย ขยายตัว ทำให้มีการลงทุนเพิ่มขึ้น

 

ขณะที่การประมูลงานของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และ การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ปัจจุบันบริษัทฯ เข้าประมูลงานบ้างแล้ว ทำให้ล่าสุดมีงานในมือแล้ว 900 ล้านบาท คาดว่าจะสามารถรับรู้รายได้ส่วนใหญ่ได้ภายในปีนี้ นอกจากนี้ งานของกลุ่มการไฟฟ้ายังทยอยเปิดประมูลต่อเนื่อง ซึ่งในปีนี้คาดว่ามูลค่ารวมจะอยู่ที่ 3 พันล้านบาท บริษัทฯ คาดว่าจะได้รับงาน 10-15% หรือคิดเป็นมูลค่า 300-400 ล้านบาท

 

อย่างไรก็ตาม งานของการไฟฟ้าฯ ยังคงเป็นไปตามแผน เพราะได้รับอนุมัติงบประมาณปี 2557 ไปแล้ว ดังนั้น งานประมูลในส่วนนี้จึงไม่น่าเป็นห่วง แต่ยอมรับว่าในส่วนของการประมูลภาคเอกชนชะงักไปบ้าง

 

ส่วนแผนลงทุนในช่วง 3 ปีนี้ (2557-2559) บริษัทฯ จะใช้เงินสำหรับการซ่อมบำรุงและซื้อเครื่องจักรใหม่เฉลี่ย 25-30 ล้านบาทต่อปี แต่หากผลการศึกษาโครงการก่อสร้างโรงงานหม้อแปลงไฟฟ้าขนาดใหญ่ชัดเจนภายในปีนี้ ก็จะเริ่มทยอยใช้เงินลงทุนในปี 2558 เพิ่มขึ้นอีกประมาณ 150 ล้านบาท และในปีถัดไปอีก 150 ล้านบาท

 

นายดนุชา กล่าวว่า "ธุรกิจผลิตแผงโซลาร์เซลล์ ปัจจุบันเริ่มฟื้นตัว หลังจากที่ขาดทุนต่อเนื่อง โดยนโยบายการส่งเสริมการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปบนหลังคาบ้านและอาคารเริ่มชัดเจน ขณะเดียวกันโครงการส่งเสริมโซลาร์ชุมชน 800 เมกะวัตต์ คิดเป็นมูลค่าลงทุน 5 หมื่นล้านบาท หากมีรัฐบาลชุดใหม่ก็น่าจะสามารถเดินหน้าโครงการต่อได้ ซึ่งบริษัทฯ คาดว่าจะได้รับงานดังกล่าว เนื่องจากเป็นโครงการขนาดใหญ่ คงไม่เป็นของผู้รับเหมาเพียงรายเดียว"

 

"ปัจจุบันบริษัทฯ มีกำลังการผลิตแผงเซลล์ 10-20 เมกะวัตต์ต่อปี และหากคิดกำลังการผลิตของผู้ผลิตในประเทศรวมอยู่ที่ 100 เมกะวัตต์ต่อปี (ไม่รวมผู้นำเข้าแผงจากต่างประเทศ) ดังนั้นโอกาสที่จะได้รับงานดังกล่าวก็มีมาก" นายดนุชา กล่าว