BUSINESS

CPF เล็งนำโมเดลโรงงานแปรรูปในเบลเยียมมาใช้ หวังสร้างกำไรเพิ่ม
POSTED ON 07/03/2557


ธุรกิจอุตสาหกรรม - นายอดิเรก ศรีประทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหารบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานในปี 2556 ว่า มียอดขายทั้งสิ้น 389,251 ล้านบาท มีอัตราการเติบโต 9% เป็นยอดขายจากการขายในประเทศ 34% และจากต่างประเทศ 66% กำไรสุทธิประมาณ 7,000 ล้านบาท เป็นฐานที่ต่ำ ถือว่าพลาดเป้าหมายไปมาก เนื่องจากการเกิดขึ้นของโรคกุ้งตายด่วนหรือ EMS ทำให้ผลการดำเนินงานของธุรกิจสัตว์น้ำลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ประกอบกับภาวะผลผลิตล้นตลาดของไก่และสุกรในไทย เวียดนาม ตุรกี และอินเดีย รวมถึงต้นทุนวัตถุดิบสูงในช่วงต้นปีที่แล้ว ทำให้ผลการดำเนินงานของซีพีเอฟไม่เป็นไปตามเป้าหมาย

 

สำหรับเป้าหมายปี 2557 ตั้งเป้ายอดขายอย่างน้อย 450,000 ล้านบาท หรือเติบโต 10% แต่มั่นใจว่าจากแนวกลยุทธ์หลัก 3 ประการ คือการสร้างการเติบโตเพิ่มมูลค่าให้กับธุรกิจ การสร้างความเป็นเลิศในการดำเนินงาน และการสร้างพื้นฐานทางธุรกิจให้มั่นคง จะทำให้ผลการดำเนินงานปี 2557 นี้เติบโตมากกว่าปีที่ผ่านมาแน่นอน

 

สถานการณ์กุ้งในไทยขณะนี้เริ่มดีขึ้นเรื่อยๆ ผู้เลี้ยงกุ้งมีความมั่นใจมากขึ้นในการลงกุ้ง ปกติก่อนเกิดโรคตายด่วน ซีพีเอฟขายลูกกุ้งเดือนละ 3,000 ล้านตัว ช่วงเกิดโรคในปีที่ผ่านมา ยอดขายเหลือเดือนละ 1,000 ล้านตัว ขณะนี้เพิ่มเป็นเดือนละ 1,700 ล้านตัว เดือนมีนาคมนี้ คาดว่าจะเพิ่มเป็น 2,000 กว่าล้านตัว อาหารกุ้งก็จะขายดีขึ้น ขณะที่กรมประมงมีเครื่องมือในการตรวจสอบโรคตายด่วน ซึ่งใช้เทคนิค DCR ตรวจได้เร็วและละเอียด การสร้างบ่ออนุบาล ทำให้ผู้เลี้ยงมั่นใจในการลงกุ้ง อีกทั้งราคาวัตถุดิบถูกลง เช่น ข้าวโพด ลดลงถึง 20% ราคาเนื้อหมู ไก่ดีขึ้น ตลาดญี่ปุ่นเปิดรับไก่สดแช่แข็งจากไทยปีแรก ล้วนเป็นปัจจัยบวกต่อธุรกิจบริษัทฯ

 

ส่วนประเด็นกำไรปีที่ผ่านมาค่อนข้างต่ำมาก จากปัญหาโรคตายด่วน ราคาหมู ไก่ตกต่ำ ราคาวัตถุดิบสูง นายอดิเรกกล่าวว่า จะนำโมเดลของบริษัท ท็อป ฟู้ดส์ โรงงานแปรรูปเนื้อสัตว์ที่ทันสมัยในเบลเยียม ซึ่งซีพีเอฟประกาศเข้าร่วมลงทุน 80% เพื่อผลิตและขายในสหภาพยุโรป (อียู) ในปีที่ผ่านมา มาใช้ในจีน อินเดีย และเวียดนาม เพื่อเร่งสร้างรายได้และกำไร ขณะที่ซีพีเอฟตั้งเป้าเน้นขยายตลาดในจีน เวียดนาม และอินเดียมากขึ้นไปพร้อมกัน

 

นอกจากนี้ ซีพีเอฟยังมีแผนขยายงานเพื่อต่อยอดธุรกิจเดิมและขยายตลาดในต่างประเทศ จะเห็นได้ว่าในช่วงปี 2556 ถึงปัจจุบัน ซีพีเอฟได้เข้าซื้อกิจการ 4 แห่ง ประกอบด้วย การลงทุนในซีพี-เมจิ 60% การลงทุนในธุรกิจสุกรที่รัสเซีย 69.7% การลงทุนในโรงงานแปรรูปเนื้อสัตว์ที่เบลเยียม 80% การร่วมลงทุนในธุรกิจการค้าที่สวีเดน 29% และจากชื่อเสียงของซีพีเอฟ ขณะนี้มีบริษัทหลายแห่งในยุโรป สหรัฐอเมริกา และเอเชีย เสนอให้ซีพีเอฟร่วมทุนหรือขายกิจการให้ ซึ่งบริษัทต้องขอดูรายละเอียดว่าธุรกิจดังกล่าวมีอนาคตหรือจะช่วยเสริมศักยภาพธุรกิจได้มากน้อยแค่ไหน

 

ซีพีเอฟไม่รวมซีพี ตั้งเป้าลงทุนใน 5 ปี ปีละ 1 หมื่นล้านบาท และตั้งเป้ายอดขายใน 5 ปีข้างหน้าเป็น 7-8 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 1 เท่าตัวจากปัจจุบัน ซึ่งสามารถทำได้แน่นอน เนื่องจากรายได้จากธุรกิจในไทยปีที่ผ่านมาเท่ากับ 1.6 แสนล้านบาท ขณะที่จีนมีรายได้ 1.1 แสนล้านบาท แต่จีนมีประชากรมากกว่า 1,300 ล้านคน ยังมีช่องว่างในการทำรายได้อีกมาก สัดส่วนรายได้ใน 5 ปีข้างหน้าจะมาจากต่างประเทศ 75% ในประเทศ 25% ส่วนปัญหาการเมืองไม่กระทบธุรกิจ เพราะเป็นธุรกิจอาหารที่ต้องบริโภคทุกวัน แม้ว่ากำลังซื้อในภาพใหญ่จะอ่อนลง

 

อนึ่ง เดือนมกราคมที่ผ่านมา ซีพีเอฟได้ออกตราสารหุ้นกู้อนุพันธ์มูลค่า 290 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยใช้หุ้นซีพีเอฟที่ถือหุ้นใหญ่ใน บมจ.ซีพี ออลล์ เป็นประกัน หุ้นกู้มีอายุ 5 ปี อัตราดอกเบี้ย 0.5% ต่อปี โดยมีเงื่อนไขว่าใน 5 ปีข้างหน้า ราคาหุ้นซีพี ออลล์ ต้องไม่ต่ำกว่า 53 บาท/หุ้น หากราคาไม่ถึง ซีพีเอฟต้องจ่ายดอกเบี้ย 2.75% ต่อปี แต่ก็ยังต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยของซีพีเอฟทั้งหมดที่จ่ายประมาณ 4.65% ต่อปี