WORLDWIDE

รัฐบาลญี่ปุ่นชวนเอกชนในประเทศซื้อหุ้นโตชิบา ป้องเทคโนโลยีไหลสู่มือต่างชาติ
POSTED ON 18/04/2560


Tags : อุตสาหกรรม, ข่าวอุตสาหกรรม, สื่ออุตสาหกรรม, โรงงาน, เครื่องจักรกล, การผลิต, พลังงาน, โลจิสติกส์, Industry, Industrial, Industrial News, Industrial Media, Factory, Machinery, Machine, Manufacturing, Energy, Logistics

 

 

เว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์ รายงานข่าวเมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น พยายามผลักดันให้บริษัทญี่ปุ่นร่วมมือกันเพื่อซื้อหุ้นกิจการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ของบริษัท โตชิบา ที่จำเป็นต้องขายหุ้นเพื่อกอบกู้กิจการจากภาวะขาดทุนอย่างหนัก และมีความเสี่ยงที่จะทำให้สุดยอดเทคโนโลยีตกอยู่ในมือของบริษัทต่างชาติ

 

รัฐบาลญี่ปุ่นและสมาพันธ์ภาคธุรกิจแห่งญี่ปุ่น หรือ ไคดันเรน (Japan Business Federation หรือ Nippon Keidanren) แสดงความกังวลว่า การขายหุ้นกิจการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ของโตชิบาถือเป็นความเสี่ยงทางความมั่นคงของประเทศญี่ปุ่น เพราะเทคโนโลยีและข้อมูลต่าง ๆ จะถูกถ่ายทอดไปยังผู้ถือหุ้นใหม่ที่อาจเป็นบริษัทต่างชาติ

      

กระทรวงเศรษฐกิจฯ ของญี่ปุ่น พยายามติดต่อบริษัทชั้นนำต่าง ๆ ของญี่ปุ่น เพื่อให้ร่วมมือกันป้องกันเทคโนโลยีของโตชิบา ทั้งบริษัท ฟูจิสึ, ฟูจิฟิล์ม และบริษัทอื่น ๆ อีกกว่า 10 บริษัท ระดมเงินทุนบริษัทละ 10,000 ล้านเยน (ประมาณ 3,160  ล้านบาท) จัดตั้งบริษัทร่วมทุนเพื่อร่วมประมูลซื้อหุ้นของโตชิบา โดยรัฐบาลญี่ปุ่นก็จะสนับสนุนเงินทุนด้วย ผ่านทางบรรษัทเครือข่ายนวัตกรรมแห่งญี่ปุ่น หรือ Innovation Network Corp. of Japan และธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งญี่ปุ่น

 

โดยบริษัทร่วมทุนนี้จะเข้าร่วมการประมูลซื้อหุ้นของโตชิบารอบที่ 2 หลังจากการประมูลรอบแรกไม่มีบริษัทของญี่ปุ่นเข้าร่วมเลย บริษัทที่เสนอราคาสูงที่สุดในรอบแรก คือ หงไห่ พรีซิชั่น อินดัสทรี (Hon Hai Precision Industry) จากไต้หวัน ซึ่งได้ซื้อกิจการของชาร์ปไปก่อนหน้านี้แล้ว และได้เสนอซื้อหุ้นในกิจการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ของโตชิบาด้วยมูลค่า 3 ล้านล้านเยน หรือราว 1 ล้านล้านบาท

 

โตชิบาขาดทุนมหาศาลจากธุรกิจโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในสหรัฐฯ ทำให้ต้องยื่นขอล้มละลายกิจการต่อศาลในสหรัฐฯ และขายหุ้นในธุรกิจเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งเป็นหัวใจของโตชิบา เพราะเทคโนโลยีนี้มีเพียงบริษัท ซัมซุง ของเกาหลีใต้ และโตชิบาของญี่ปุ่นเท่านั้นที่ครองตลาดอยู่

 

อย่างไรก็ตาม ความพยายามของรัฐบาลญี่ปุ่นที่จะปกป้องเทคโนโลยีของโตชิบาด้วยการลงขันของบริษัทญี่ปุ่นต่าง ๆ อาจสำเร็จได้ยาก เพราะบริษัททั้งหลายล้วนแต่กำลังเผชิญความยากลำบากทางการเงิน

      

ก่อนหน้านี้ บริษัทยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่นก็เคยร่วมทุนกันมาแล้ว แต่สุดท้ายก็ไปไม่รอด เช่น การร่วมทุนของ NEC, ฮิตาชิ และมิตซูบิชิ อิเล็กทริกส์ ในการจัดตั้ง Elpida Memory Inc. เพื่อผลิตแผงความจำ DRAM แต่สุดท้ายก็ล้มละลายในปี 2012 และถูกซื้อต่อโดยบริษัทของสหรัฐฯ

      

ขณะที่ Japan Display Inc. ที่ก่อตั้งในปี 2012 เพื่อผลิตจอ LCD โดยการร่วมทุนของโตชิบา, โซนี และฮิตาชิ นั้น ก็สู้บริษัทจากเกาหลีใต้ไม่ได้ จนต้องร้องขอให้บรรษัทเครือข่ายนวัตกรรมแห่งญี่ปุ่นเข้าช่วยเหลือด้านสภาพคล่องเช่นกัน

 

ที่มา : ผู้จัดการออนไลน์