WORLDWIDE

เกาหลีใต้ เตรียมอัดเงินกว่า 9 หมื่นล้านบาท อุ้มบริษัทต่อเรือแดวู
POSTED ON 27/03/2560


Tags : อุตสาหกรรม, ข่าวอุตสาหกรรม, สื่ออุตสาหกรรม, โรงงาน, เครื่องจักรกล, การผลิต, พลังงาน, โลจิสติกส์, Industry, Industrial, Industrial News, Industrial Media, Factory, Machinery, Machine, Manufacturing, Energy, Logistics

 

 

ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเกาหลีใต้ (KDB) และธนาคารเพื่อการนำเข้าและส่งออกของเกาหลีใต้ เตรียมปล่อยเงินกู้วงเงิน 2,600 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 90,000 ล้านบาท ให้แก่บริษัท แดวู ชิปบิลดิ้ง แอนด์ มารีน เอ็นจิเนียริ่ง หรือ DSME (Daewoo Shipbuilding and Marine Engineering) ที่กำลังประสบปัญหาขาดทุนอย่างหนักจนเสี่ยงต่อการผิดนัดชำระหนี้ในปีนี้ จนอาจถึงขั้นล้มละลาย ซึ่งจะส่งผลกระทบกับพนักงานกว่า 50,000 คนของบริษัทฯ รวมถึงบริษัทผู้รับเหมาอีกกว่า 1,300 ราย

 

คณะกรรมการกำกับดูแลการเงินของเกาหลีใต้ ระบุว่า หากไม่ได้รับเงินกู้จากธนาคาร บริษัทฯอาจไม่สามารถไถ่ถอนหุ้นกู้ในปี 2560 มูลค่า 840 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 32,000 ล้านบาท ซึ่งกำลังจะครบกำหนดไถ่ถอนบางส่วนในเดือน เม.ย.2560 นี้ อย่างไรก็ดี ธนาคารได้ตั้งเงื่อนไขให้เจ้าหนี้และผู้ถือหุ้นกู้ของ DSME ต้องยอมรับข้อตกลงแปลงหนี้เป็นทุนด้วย

 

นายลี จู-ยอล ผู้ว่าการธนาคารกลางเกาหลีใต้ กล่าวว่า เมื่อคำนึงถึงผลกระทบที่จะตามมาจากการล้มละลายแล้ว ทำให้รัฐบาลจำเป็นต้องเข้าอุ้มบริษัท แดวู ชิปบิลดิ้งฯ อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

 

ด้าน นายจุง ซุง-ลีป ซีอีโอของ DSME กล่าวว่า แม้บริษัทฯจะประสบกับปัญหาขาดสภาพคล่อง และไม่มีคำสั่งซื้อใหม่ในปีนี้ แต่คำสั่งซื้อเดิมก็ทำให้บริษัทฯมีงานทำทั้งปี กำไรจึงขึ้นอยู่กับว่าบริษัทฯทำผลงานได้ดีเพียงใด หากมีปัจจัยทำให้ DSME ไม่มีกำไร ก็ถือว่าเป็นความผิดของตน ซึ่งจะต้องลาออกจากตำแหน่งโดยอัตโนมัติอยู่แล้ว

 

สำหรับแดวู ชิปบิลดิ้ง แอนด์ มารีน เอ็นจิเนียริ่ง (Daewoo Shipbuilding and Marine Engineering - DSME) ฮุนได เฮฟวี่ อินดัสทรีส์ (Hyundai Heavy Industries - HHI) และ ซัมซุง เฮฟวี่ อินดัสทรีส์ (Samsung Heavy Industries - SHI) ถือเป็นบริษัทต่อเรือแถวหน้าของเกาหลีใต้ โดย DSME เป็นบริษัทที่มีคำสั่งต่อเรือมากที่สุดของโลกในขณะนี้ มีเรือรอส่งมอบ 6.16 ล้าน CGT อันดับ 2 คือ SHI ที่มีเรือรอส่งมอบ 3.6 ล้าน CGT ส่วนอันดับ 3 คือ HHI มีเรือรอส่งมอบ 3.39 ล้าน CGT แต่เนื่องจากการค้าโลกและตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ซบเซา ทำให้บริษัทเริ่มประสบภาวะขาดทุนมาตั้งแต่ปี 2558 โดย DSME ได้รับผลกระทบมากที่สุด โดยในปี 2558 บริษัทฯขาดทุนสูงเป็นประวัติการณ์ถึง 2,942 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 102,000 ล้านบาท

 

 

ที่มา : โพสต์ทูเดย์, กรุงเทพธุรกิจ