WORLDWIDE

ฟอร์ดถอนลงทุนจากญี่ปุ่นและอินโดฯ เหตุยอดขายย่ำแย่
POSTED ON 29/01/2559


ข่าวต่างประเทศ 29 ม.ค.2559 - สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานเมื่อเร็วๆ นี้ว่า ฟอร์ด มอเตอร์ ค่ายผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติอเมริกัน ตัดสินใจที่จะปิดหน่วยธุรกิจรถยนต์ในประเทศญี่ปุ่นและอินโดนีเซียทั้งหมดภายในปี 2559 นี้ เนื่องจากยอดขายไม่กระเตื้องและไม่สามารถทำกำไรได้

 

โดยในปี 2558 ที่ผ่านมา ฟอร์ดสามารถขายรถยนต์ในญี่ปุ่นได้แค่ 5,000 คัน หรือคิดเป็น 0.1% ของตลาดรถยนต์ในญี่ปุ่น และขายรถยนต์ในอินโดนีเซียได้ 6,100 คัน หรือคิดเป็น 0.6% ของตลาดรถยนต์ในอินโดนีเซีย รวมทั้ง 2 ประเทศแล้วขายได้เพียง 11,000 คันเท่านั้น ดังนั้น บริษัทฯจึงตัดสินใจที่จะปิดหน่วยธุรกิจรถยนต์ทุกหน่วยในประเทศญี่ปุ่นและอินโดนีเซียภายในปี 2559 นี้

 

นายเดฟ ช็อค (Mr.Dave Schoch) ประธานบริษัท ฟอร์ด มอเตอร์ ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เปิดเผยว่า "ฟอร์ดจะวางมือจากธุรกิจทุกอย่าง ทั้งการเป็นตัวแทนจำหน่าย การขาย และนำเข้ารถยนต์ของฟอร์ดและลินคอล์น (Lincoln) โดยการผลิตในญี่ปุ่นจะโยกย้ายไปที่อื่นแทน โดยได้แจ้งไปยังพนักงานทุกคนของบริษัทฯที่ทำงานในประเทศญี่ปุ่นและอินโดนีเซียแล้วว่าพนักงานทั้งหมดจะพ้นสภาพจากการเป็นพนักงานของบริษัทฯภายในปีนี้"

 

ด้าน นายคาเรน แฮมป์ตัน (Mr.Karen Hampton) โฆษกของ ฟอร์ด มอเตอร์ ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กล่าวว่า "ก่อนหน้านี้ทางบริษัทฯได้พยายามทำทุกวิถีทางเพื่อกระตุ้นยอดขายและผลประกอบการ แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ ซึ่งปัจจุบันฟอร์ดอยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างธุรกิจ ทำให้ต้องปิดศูนย์ตัวแทนธุรกิจและระงับการนำเข้ารถฟอร์ดทุกรุ่นในญี่ปุ่นและอินโดนีเซีย"

 

ทั้งนี้ ยอดขายรถยนต์ในอินโดนีเซียและญี่ปุ่นต่างก็ลดลงอย่างมากตลอด 2 ปีที่ผ่านมา โดยในปี 2558 ที่ผ่านมา ยอดขายรถยนต์ในประเทศญี่ปุ่นอยู่ที่ประมาณ 5 ล้านคัน ขณะที่บริษัทผู้ผลิตรถยนต์จากต่างชาติมีส่วนแบ่งตลาดในญี่ปุ่นเพียงแค่ 6% เท่านั้น

 

ด้านโฆษกหญิงของฟอร์ด เซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน ระบุว่า "สาเหตุที่ฟอร์ดมียอดขายไม่สูงมาก เพราะฟอร์ดไม่ได้สร้างโรงงานในอินโดนีเซีย ต่างกับค่ายรถยนต์จากญี่ปุ่นหลายค่ายที่เข้ามาตั้งโรงงานในอินโดนีเซีย นั่นจึงทำให้ฟอร์ดไม่มีทางที่จะสู้กับคู่แข่งได้เลย และผู้ผลิตหลายๆ รายก็อยู่ในตลาดอินโดนีเซียไม่ได้ มันจึงเป็นปัญหาหลักของรถจากต่างประเทศที่นำเข้ามาจำหน่าย"

 

ฟอร์ด เริ่มต้นเข้าไปลงทุนในญี่ปุ่นครั้งแรกตั้งแต่ปี 2517 หลังจากนั้นอีก 5 ปีก็เข้าไปถือหุ้น 7% ในค่ายผู้ผลิตรถยนต์อย่างมาสด้า และในปี 2539 ก็ขยายสัดส่วนเป็น 33.3% ซึ่งฟอร์ดมีพนักงานในญี่ปุ่นกว่า 290 คน และมีตัวแทนจำหน่าย 52 ราย โดยรุ่นที่ขายในญี่ปุ่น ได้แก่ Fiesta, Focus, Mustang, EcoSport, Kuga, Explorer, Lincoln MKX และ Navigator

 

ขณะที่ในอินโดนีเซียนั้นฟอร์ดเพิ่งเข้าไปทำตลาดอย่างจริงจังเมื่อราวปี 2545 ปัจจุบันมีพนักงานเหลือแค่ 35 คน และมีดีลเลอร์เพียง 45 ราย เท่านั้น โดยรถยนต์ที่เปิดขายในอินโดนีเซีย ได้แก่ รุ่น Fiesta, Focus, EcoSport, Everest และ Ranger

 

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ค่ายผู้ผลิตรถยนต์อเมริกันถอนการลงทุนอออกจากบางประเทศในเอเชีย เพราะเมื่อปีที่ผ่านมา เจนเนอรัล มอเตอร์ส (จีเอ็ม) เองก็ได้ปิดโรงงานและยุติการทำตลาดรถยนต์ในตลาดอินโดนีเซียลงเช่นกัน จนทำให้พนักงานของจีเอ็มในอินโดนีเซียกว่า 500 ชีวิตต้องตกงาน แม้อินโดนีเซียจะเป็นตลาดรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย แต่เนื่องจากการแข่งขันที่รุนแรงจากผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่นที่ถือส่วนแบ่งทางการตลาดอยู่ราว 80% ทางจีเอ็มจึงมองว่าศักยภาพของบริษัทฯไม่สามารถช่วงชิงส่วนแบ่งการตลาดจากค่ายรถญี่ปุ่นอย่างโตโยต้า ฮอนด้า และนิสสัน รวมถึงแบรนด์ท้องถิ่นได้เลย

 

Tags : อุตสาหกรรม, ข่าวอุตสาหกรรม, สื่ออุตสาหกรรม, โรงงาน, เครื่องจักรกล, การผลิต, พลังงาน, โลจิสติกส์, Industry, Industrial, Industrial News, Industrial Media, Factory, Machinery, Machine, Manufacturing, Energy, Logistics