WORLDWIDE

เมนสตรีมฯ เปิดตัว "Lekela Power" แพลตฟอร์มผลิตพลังงานหมุนเวียนในแอฟริกา
POSTED ON 20/02/2558


ข่าวต่างประเทศ - เมนสตรีม รีนิวเอเบิล พาวเวอร์ (Mainstream Renewable Power) บริษัทผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ระดับโลก เปิดตัวแพลตฟอร์มผลิตพลังงานหมุนเวียนในภูมิภาคแอฟริกาในชื่อ Lekela Power ซึ่งตั้งขึ้นร่วมกับแอคทิส (Actis) บริษัท ไพรเวทอีควิตี้ ที่ลงทุนในตลาดเกิดใหม่ทั่วโลก ทั้งนี้ Lekela Power จะจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ระหว่าง 700-900 เมกะวัตต์ให้กับทั่วทั้งภูมิภาคแอฟริกาภายในปี 2561

 

เมนสตรีมและแอคทิสประสบความสำเร็จในการจับมือเป็นพันธมิตรมาแล้ว 2 ครั้ง ในโครงการในแอฟริกาใต้และชิลี ขณะที่โครงการล่าสุดอย่าง Lekela Power ก็จะดำเนินงานในลักษณะเดียวกัน นั่นคือ เมนสตรีมจะรับผิดชอบในเรื่องการบริหารจัดการโครงการแบบครบวงจร ตั้งแต่การกำหนดสถานที่ พัฒนาโครงการ ดูแลการก่อสร้างและการดำเนินงาน ไปจนถึงซ่อมบำรุงโรงไฟฟ้า

 

เมื่อเร็วๆ นี้ เมนสตรีมได้ปิดการระดมทุนและเริ่มก่อสร้างทุ่งกังหันลม 3 แห่งในจังหวัดนอร์ทเทิร์นเคป ประเทศแอฟริกาใต้ ซึ่งจะกลายเป็นองค์ประกอบหลักของ Lekela Power ทุ่งกังหันลมทั้ง 3 แห่งมีกำลังการผลิตรวมกัน 360 เมกะวัตต์ และเป็นการให้สัมปทานแก่เมนสตรีมภายใต้โครงการจัดหาพลังงานหมุนเวียนของรัฐบาล คาดว่าทั้ง 3 โครงการจะสามารถเปิดดำเนินงานเชิงพาณิชย์ได้ในช่วงต้นปี 2559 นอกจากนี้ เมนสตรีมยังมีอีกหลายโครงการในแอฟริกา ซึ่งจะโอนเข้ามาอยู่ใน Lekela Power เมื่อมีการบรรลุข้อตกลงทางการเงิน ซึ่งรวมถึงทุ่งกังหันลม Ayitepa ขนาด 225 เมกะวัตต์ ในประเทศกานา

 

แบร์รี ลินช์ กรรมการผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ ก่อสร้าง และดำเนินงานบนชายฝั่งของเมนสตรีม กล่าวว่า "เรารู้สึกยินดีที่ได้สร้างความร่วมมือเป็นครั้งที่ 3 กับแอคทิส ซึ่งเป็นพันธมิตรด้านการเงินของเรา เพื่อผลักดันโครงการพลังงานงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ระดับเวิลด์คลาสของเมนสตรีมไปสู่การดำเนินงานเชิงพาณิชย์ภายในกรอบเวลาและภายใต้งบประมาณที่กำหนด นอกเหนือจากโครงการมากมายในแอฟริกาใต้แล้ว เรายังพัฒนาอีกหลายโครงการในกานาและเดินหน้าแสวงหาโอกาสใหม่ๆ ในพื้นที่อื่นๆ ของแอฟริกา"

 

ลูซี ไฮนซ์ หุ้นส่วนและหัวหน้าฝ่ายพลังงานหมุนเวียนของแอคทิส กล่าวถึง Lekela Power ว่า "แอฟริกากำลังถูกกดดันให้ต้องหันไปพึ่งพาพลังงานหมุนเวียน เนื่องจากความต้องการพลังงานพุ่งสูงแต่มีข้อจำกัดด้านเงินทุน ปัจจุบัน 95% ของไฟฟ้าในประเทศแอฟริกาใต้ผลิตจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน อันที่จริงแล้วภูมิภาคแอฟริกาอุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรเชื้อเพลิงธรรมชาติและเชื้อเพลิงฟอสซิล แต่ขาดการลงทุนในระยะยาว ทำให้ต้องพึ่งพาไฟฟ้าจากพลังงานดีเซลซึ่งไม่มีความยั่งยืน"