WORLDWIDE

การปรับขึ้น VAT ดีดเศรษฐกิจญี่ปุ่นโตเกินคาด
POSTED ON 22/05/2557


ข่าวต่างประเทศ - บลูมเบิร์ก รายงานว่า จีดีพีญี่ปุ่น โต 5.9% ในไตรมาสที่แล้ว เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สูงกว่าการคาดการณ์ของนักเศรษฐศาสตร์ 32 คน ที่บลูมเบิร์กสำรวจความคิดเห็น ซึ่งมีค่ามัธยฐานอยู่ที่ 4.2% นอกจากนี้ การใช้จ่ายเพื่อการบริโภคยังพุ่งสูง 8.5% เทียบกับปีก่อนหน้า ซึ่งช่วยชดเชยผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจชะงักงันในสหรัฐ คู่ค้าเบอร์หนึ่งของญี่ปุ่น อันเนื่องมาจากสภาวะอากาศเลวร้าย

 

ช่วงหน้าหนาวที่ผ่านมาตัวเลขการเติบโตที่ออกมาเป็นการดีดตัวขึ้นอีกครั้ง หลังเศรษฐกิจร่วงลงแรงในช่วงปลายปีที่แล้ว และยังสะท้อนถึงความเชื่อมั่นของผู้บริโภคญี่ปุ่นที่มองว่าประเทศกำลังอยู่บนเส้นทางฟื้นตัว ภายใต้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ "อาเบะโนมิกส์" ของ นายกรัฐมนตรีชินโสะ อาเบะ ทั้งนี้ การแห่ซื้อสินค้าก่อนการปรับขึ้นภาษี กระตุ้นให้ภาคธุรกิจต้องซื้อสินค้าทุนเพิ่ม เพื่อรองรับการเร่งผลิตสินค้าให้ทันกับความต้องการ และยังช่วยเพิ่มการจ้างงานอีกด้วย แต่ทว่าการใช้จ่ายที่ขยายตัวอย่างมากในไตรมาสแรก ย่อมหมายถึงการบริโภคทรุดหนักในไตรมาสที่สองของปี หลังการขึ้นภาษีจาก 5% เป็น 8% มีผลบังคับใช้ ยอดขายปลีกในเดือนเมษายนจนถึงกลางเดือนพฤษภาคม 2557 เริ่มส่งสัญญาณชะลอตัวบ้างแล้ว เช่น สินค้าคงทนอย่างรถยนต์ ตู้เย็น

 

ทั้งนี้ นายอาเบะพยายามพลิกฟื้นเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่ติดหล่มเงินฝืดมานานกว่าทศวรรษ โดยใช้นโยบายที่ได้รับการขนานนามว่า อาเบะโนมิกส์ ซึ่งประกอบด้วยการเพิ่มการใช้จ่ายภาครัฐ การอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบผ่านนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย และการปฏิรูปเศรษฐกิจ ที่ผ่านมา 2 มาตรการแรกประสบความสำเร็จพอสมควร จนทำให้เกิดปัญหาใหม่ คือราคาสินค้าเพิ่มเร็วกว่าค่าจ้างแรงงาน และเมื่อบวกกับผลกระทบของการขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม อำนาจซื้อของผู้บริโภคก็ยิ่งลดลง ส่วนการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ซึ่งนักลงทุนจับตามมองอย่างใกล้ชิด ยังไม่คืบหน้ามากนัก เพราะเจอแรงต้านจากหลายภาคส่วน อาทิ ภาคเกษตรกรรม ซึ่งเป็นฐานเสียงสำคัญของพรรคเสรีประชาธิปไตย (LDP) ต้นสังกัดของนายอาเบะ

 

หลังขึ้นภาษี ญี่ปุ่นจะสามารถกลับมาเติบโตเป็นบวกอีกครั้งได้หรือไม่ กองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือไอเอ็มเอฟชี้ว่า ขึ้นอยู่กับการปฏิรูปภายในประเทศ โดยเฉพาะภาคบริการ ซึ่งมีสัดส่วน 70% ของจีดีพีญี่ปุ่น

 

จากการสอบถามความคิดเห็นของนักเศรษฐศาสตร์โดยบลูมเบิร์ก ก่อนการประกาศตัวเลขเศรษฐกิจของไตรมาสแรก มองว่า ในไตรมาสสอง จีดีพีญี่ปุ่นจะหดตัว 3.3% ก่อนกลับมาขยายตัว 2% ในไตรมาสสามของปีนี้ แต่สถานการณ์อาจไม่ย่ำแย่ถึงขั้นนั้น เพราะรัฐบาลญี่ปุ่นวางแผนเพิ่มการใช้จ่ายภาครัฐ เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการขึ้นภาษีไว้แล้ว โดยเตรียมใช้จ่ายงบฯลงทุน 40% ของปีงบประมาณปัจจุบันในช่วงเดือนเมษายน-มิถุนายนนี้ และตั้งเป้าให้ 60% ของโครงการทั้งหมดเสร็จสิ้นภายในเดือนกันยายน

 

ภาวะเศรษฐกิจญี่ปุ่นช่วงหลังขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มยังเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญ ที่รัฐบาลจะนำมาพิจารณาว่าควรขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มอีกรอบจาก 8% เป็น 10% ในเดือนตุลาคมปีหน้าตามแผนเดิมหรือไม่ ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์หลายคนเตือนว่า ถ้ารัฐบาลของนายอาเบะไม่ยอมปรับขึ้นภาษีตามกำหนด จะทำลายความเชื่อมั่นของนักลงทุน และเป็นอุปสรรคต่อการลดหนี้สาธารณะที่สูงกว่าจีดีพีถึง 2 เท่า

 

นายอดัม ปีเตอร์สัน ประธานสถาบันเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศปีเตอร์สัน และอดีตคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางอังกฤษ มองว่า "ถ้าปีหน้ารัฐบาลญี่ปุ่นไม่ขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามแผนที่วางไว้ ผลกระทบแง่ลบที่มีต่อตลาดหุ้น และตลาดอัตราแลกเปลี่ยนจะสูงมาก นอกจากนั้น ความน่าเชื่อถือของรัฐบาลญี่ปุ่นจะถูกทำลายอย่างหนัก"