WORLDWIDE

ฝรั่งเศส ต้อนรับผู้นำจีนสุดอู้ฟู่ หวังดึงทุนจีนเข้าประเทศ
POSTED ON 11/04/2557


ข่าวต่างประเทศ - ฝรั่งเศส ทุ่มทุนเลี้ยงดูปูเสื่อผู้นำจีนและคณะที่เดินทางเยือนแดนน้ำหอมอย่างเป็นทางการชนิดไม่อั้น หวังดึงดูดการลงทุนจากนักธุรกิจจีนมากระตุ้นเศรษฐกิจที่ยังซบเซา และกระชับสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างกันให้เทียบเท่าเพื่อนบ้านอย่างเยอรมนี และอังกฤษที่แซงหน้าไปหลายขุม

 

จากการรายงานของ วอลล์สตรีต เจอร์นัล ประธานาธิบดีฟรังซัวส์ ออลลองด์ แห่งฝรั่งเศส ซึ่งคะแนนนิยมกำลังร่วงหนัก แสดงท่าทีชัดเจนในการแข่งขันแย่งชิงเงินลงทุนของจีนมาจากอังกฤษ โดยหวังให้การเดินทางเยือนฝรั่งเศสของประธานาธิบดี สีจิ้นผิง เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาช่วยลบภาพลักษณ์ฝรั่งเศสในฐานะประเทศที่เก็บภาษีสูงและไม่เป็นมิตรต่อนักลงทุนในสายตานักธุรกิจต่างชาติ

 

เจ้าหน้าที่ระดับสูงของฝรั่งเศสยอมรับว่า เยอรมนีก้าวล้ำหน้าฝรั่งเศสไปแล้ว ส่วนอังกฤษก็กำลังทำทุกวิถีทางเพื่อดึงดูดนักลงทุนจีน การแข่งขันเป็นไปอย่างดุเดือดระหว่าง 3 ชาติยักษ์ใหญ่ของยุโรป

 

ฝรั่งเศสพยายามเน้นถึงสายสัมพันธ์อันยาวนานของ 2 ประเทศ พร้อมระบุว่า การมาเยือนของนายสีเป็นการร่วมฉลองครบรอบ 50 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันในยุคอดีตประธานาธิบดี ชาร์ลส์ เดล โกล และ เหมาเจ๋อตุง โดยฝรั่งเศสเป็นชาติตะวันตกประเทศแรกที่รับรองสาธารณรัฐประชาชนจีนในปี 2507 ขณะที่ประเทศชาติตะวันตกส่วนใหญ่ มุ่งมั่นต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์

 

แต่ในด้านเศรษฐกิจแดนน้ำหอมกลับล้าหลังเมืองเบียร์ชนิดไม่เห็นฝุ่น เยอรมนีเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งในยุโรปของจีนมาอย่างยาวนานในปี 2555 เยอรมนีส่งออกไปยังจีนเป็นมูลค่า 6.66 หมื่นล้านยูโร และนำเข้า 7.73 หมื่นล้านยูโร บริษัทสัญชาติเยอรมันขนเงินเข้าไปลงทุนในจีนจำนวนมหาศาล อาทิ ปีที่แล้ว โฟล์ค สวาเกน เพิ่งเปิดโรงงานแห่งที่ 16 ในแดนมังกร ซึ่งถือเป็นตลาดใหญ่ที่สุดของบริษัทดังกล่าวด้วย

 

ในทางกลับกัน ปี 2556 ฝรั่งเศสขาดดุลการค้ากับจีนสูงถึง 2.6 หมื่นล้านยูโร หรือคิดเป็น 40% ของยอดขาดดุลการค้าทั้งหมดของประเทศพุ่งจาก 1.1 หมื่นล้านยูโรในปี 2547 นอกจากนี้ ฝรั่งเศสยังดึงเงินลงทุนจากจีนมาได้เพียง 0.9% ของมูลค่าการลงทุนนอกประเทศของนักธุรกิจจีน ไม่เพียงแต่เงินลงทุนจากจีนเท่านั้นที่ลดลง กระแสเงินทุนไหลเข้าจากต่างชาติมายังฝรั่งเศสในปีที่แล้วร่วงลงถึง 77% ขณะที่เงินทุนไหลเข้ายุโรปโดยรวมกลับสูงขึ้น ส่งสัญญาณว่าฝรั่งเศสอาจตกขบวนการฟื้นตัว

 

ที่ผ่านมา นักธุรกิจจีนสนใจเข้าไปลงทุนในเยอรมนีอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในบริษัทด้านเทคโนโลยี ช่วง 9 เดือนแรกของปีกลาย เงินทุนจากจีนไหลเข้าเยอรมนีมีมูลค่า 1.27 พันล้านยูโร มากกว่าฝรั่งเศสในช่วงเดียวกันถึงเท่าตัว

 

ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจทรงๆ ทรุดๆ และอัตราการว่างงานที่สูงเป็นสถิติ ประธานาธิบดีออลลองด์ จากพรรคสังคมนิยม พยามยามเชื้อเชิญนักลงทุนจากจีนให้เข้ามาเป็นหุ้นส่วนในธุรกิจชั้นนำของฝรั่งเศส เพื่อชดเชยเงินลงทุนภายในประเทศที่ถดถอยลง และกระตุ้นคะแนนนิยมของตัวเอง ตลอดจนพรรคที่ถดถอยลงตามสถานการณ์เศรษฐกิจ

 

ดีลเด่นๆ ที่นายสีและนายออลลองด์ร่วมเป็นสักขีพยานในการลงนาม ได้แก่ ตงเฟิง มอเตอร์ กรุ๊ป ของจีน ร่วมลงขัน 800 ล้านยูโร ซื้อหุ้น 14% ของบริษัท เปอโยต์ ซีตรอง ซึ่งเป็นมูลค่าเท่ากับที่รัฐบาลฝรั่งเศสควักกระเป๋าเพื่ออุ้มบริษัทดังกล่าว ซึ่งจะช่วยให้ค่ายรถยนต์ฝรั่งเศสแห่งนี้มีทุนรอนในการฟื้นฟูกิจการ หลังขาดทุนติดต่อกันมาหลายปี โดยเปอโยต์ฯ และ ตงเฟิง มีแผนจะขยายโครงการร่วมทุนที่มีอยู่แล้ว และเพิ่มสายการผลิตในจีน เพื่อเจาะตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 

การลงทุนของตงเฟิงมีมูลค่าใกล้เคียงกับการเทกโอเวอร์บริษัทเยอรมนีครั้งใหญ่สุดของบริษัทจีน โดย ชานตง เฮฟวี อินดัสทรี เข้าไปซื้อกิจการบริษัท คิออน ผู้ผลิตรถยก ด้วยมูลค่า 738 ล้านยูโร ในปี 2555

 

นอกจากนี้ ยังมีการลงนามในข้อตกลงอายุ 10 ปี อนุญาตให้แอร์บัสใช้โรงงานประกอบเครื่องบิน รุ่น A320 ที่เมืองเทียนจิน ต่อไปได้จนถึงปี 2568 แต่ดีลที่น่าจะทำให้แอร์บัสชื่นมื่น คือคำสั่งซื้อเครื่องบินใหม่ 70 ลำ รวมถึงอากาศยาน รุ่น A330 จำนวน 27 ลำ ที่เคยสั่งซื้อไปก่อนหน้านี้ แต่มีการสั่งระงับจากความขัดแย้งทางการค้า คิดเป็นมูลค่ารวมทั้งหมด 1.02 หมื่นล้านดอลลาร์

 

อีกดีลที่ถูกจับตามอง คือความร่วมมือด้านพลังงานนิวเคลียร์ รวมถึงก๊าซธรรมชาติเหลว โดยมีผู้เล่นรายหลักๆ อย่างอีดีเอฟ บริษัทผลิตกระแสไฟฟ้ารายใหญ่ของฝรั่งเศส, อาเรวา บริษัทเทคโนโลยีนิวเคลียร์, ไชน่า เจนเนอรัล นิวเคลียร์, โททัล บริษัทเชื้อเพลิงชั้นนำของโลก สัญชาติฝรั่งเศส และซีนุก รัฐวิสาหกิจน้ำมันยักษ์ใหญ่ของจีน

 

เนื่องจากขณะนี้ ปัญหาเรื่องปากท้องมาเป็นอันดับแรกในฝรั่งเศส รัฐบาลของนายออลลองด์จำต้องปล่อยวางความกังวลด้านอื่นๆ ไว้ก่อน อาทิ การละเมิดสิทธิมนุษยชนในจีน และประเด็นกระทบกระทั่งทางการทูตอื่นๆ

 

ยิ่งไปกว่านั้น ทั้งฝรั่งเศสและเยอรมนียังต้องการโน้มน้าวให้จีนเห็นด้วยกับจุดยืนของชาติตะวันตก ในกรณีไครเมีย ซึ่งหากแดนมังกรรับลูก ก็จะเป็นการกดดันและโดดเดี่ยวรัสเซียได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

นักวิเคราะห์มองว่า แม้ที่ผ่านมา จีนกับรัสเซียจะผนึกกำลังเหนียวแน่นมาตลอด เช่นกรณีสงครามกลางเมืองซีเรีย แต่คราวนี้ จีนคงไม่กล้าหนุนรัสเซียเต็มที่เช่นทุกครั้ง เพราะจีนเองก็มีชนักปักหลังอย่างทิเบตและเขตปกครองตนเองซินเจียงให้ต้องพะวง