WORLDWIDE

"สิงคโปร์" ขึ้นแท่นเมืองที่ค่าครองชีพแพงที่สุดในโลก
POSTED ON 07/03/2557


ข่าวต่างประเทศ - อีโคโนมิสต์ อินเทลลิเจนซ์ ยูนิต (อีไอยู) เปิดเผยดัชนีค่าครองชีพทั่วโลกปี 2014 ที่ได้จากการสำรวจเปรียบเทียบราคาสินค้าและบริการของเมืองต่างๆ 131 เมือง เช่น ค่าอาหาร, เสื้อผ้า, การคมนาคม, โรงเรียนเอกชน และคนทำงานบ้าน โดยใช้นครนิวยอร์กของสหรัฐฯ เป็นฐาน ปรากฏว่า ผลการสำรวจที่จัดทำประจำปีละ 2 ครั้ง สิงคโปร์ซึ่งมีขนาดเล็กกว่าเมืองนิวยอร์ก กำลังเป็นเมืองที่ค่าครองชีพแพงที่สุด โดยขยับขึ้นจากอันดับ 6 จากครั้งก่อน และขึ้นมาแทนที่กรุงโตเกียวที่หล่นไปอยู่อันดับ 6 แทนในขณะนี้

 

ส่วนเมืองที่ค่าครองชีพแพงเป็นอันดับ 2 คือ กรุงปารีส ตามด้วยกรุงออสโล ของนอร์เวย์, นครซูริก ของสวิตเซอร์แลนด์ และนครซิดนีย์ ของออสเตรเลีย ตามลำดับ ขณะที่นครนิวยอร์กติดอันดับ 26

 

อันดับ 6 นอกจากกรุงโตเกียว ยังมีเมืองที่ค่าครองชีพสูงเท่ากันคือ กรุงคารากัส ของเวเนซุเอลา, นครเจนีวา ของสวิส และนครเมลเบิร์น ของออสเตรเลีย ปิดท้ายที่กรุงโคเปนเฮเกน ของเดนมาร์ก ในอันดับที่ 10

 

ส่วนเมืองค่าครองชีพถูกที่สุด ได้แก่ นครมุมไบ ของอินเดีย เหนือขึ้นไปที่อันดับ 130 คือนครการาจี ของปากีสาน, อันดับ 129 คือ กรุงนิวเดลี ของอินเดีย, อันดับ 127 เท่ากัน ได้แก่ กรุงกาฐมาณฑุ ของเนปาล และ กรุงดามัสกัส ของซีเรีย

 

รายงานอีไอยู กล่าวว่า การที่กรุงคารากัส ของเวเนซุเอลา ที่กำลังเผชิญเหตุการณ์วุ่นวายจากการประท้วงขับไล่รัฐบาล กลายเป็นเมืองที่ค่าครองชีพแพงมากนั้น สืบเนื่องจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราที่รัฐบาลกำหนดไว้สูงเกินจริง หากใช้อัตราแลกเปลี่ยนในตลาดมืดมาคำนวณ คารากัสคงเป็นเมืองที่ค่าครองชีพถูกที่สุดในโลก

 

กรณีของสิงคโปร์ ปัจจัยหลักมาจากค่าเงินดอลลาร์สิงคโปร์ที่ทะยานขึ้นถึง 40% และอัตราเงินเฟ้อที่เฉลี่ยอยู่ที่ 2.8% ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เทียบกับแค่ 1% เมื่อทศวรรษก่อน รวมถึงค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิตบนเกาะที่ต้องพึ่งพาทรัพยากรนำเข้าทั้งหมด เช่น การซื้อรถหรือค่าเดินทาง

 

รัฐบาลสิงคโปร์จำกัดการครอบครองรถยนต์ รวมถึงใช้ระบบโควตาและภาษี และการซื้อรถยนต์ส่วนตัวใช้ต้องจ่ายแพงกว่าเพื่อนบ้าน เช่น โตโยต้า อัลติส ในสิงคโปร์ ราคาสูงถึงคันละ 3.57 ล้านบาท ขณะที่ในมาเลเซียราคาคันละ 1.13 ล้านบาท ค่าระบบขนส่งมวลชนในสิงคโปร์ยังแพงกว่านิวยอร์กเกือบ 3 เท่า เสื้อผ้าที่ขายในสิงคโปร์ก็ราคาแพงที่สุดในโลกเช่นกัน ยังมีค่าสาธารณูปโภคน้ำไฟที่ล้วนนำเข้าจากเพื่อนบ้าน