WORLDWIDE

บริษัทอุตฯ ญี่ปุ่นเล็งปรับขึ้นค่าจ้างพนักงาน หวังยุติภาวะเงินฝืดภายในประเทศ
POSTED ON 21/03/2557


ข่าวต่างประเทศ - สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ฯ จะปรับรายได้เฉลี่ยต่อเดือนให้กับพนักงานราว 2,700 เยน เป็นการปรับขึ้นสูงสุดในรอบ 21 ปี ขณะที่ฮอนด้า มอเตอร์ มีแผนจะขึ้นค่าแรงให้กับพนักงาน 2,200 เยน

 

นอกจากนี้ ยังมีบริษัทอิเล็กทรอนิกส์ขนาดใหญ่อีก 6 ราย ซึ่งรวมถึงฮิตาชิ และพานาโซนิค ที่จะขึ้นค่าแรงพนักงาน 2,000 เยน นับเป็นการปรับขึ้นเงินเดือนของกลุ่มธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์ญี่ปุ่นที่สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์

 

แม้ว่าผู้บริหารของบริษัทหลายรายจะไม่สามารถขึ้นค่าแรงได้มากเท่าที่ทางสหภาพแรงงานเรียกร้อง แต่การปรับขึ้นค่าแรงในครั้งนี้จะเป็นการปรับขึ้นครั้งแรกในรอบ 6 ปี สะท้อนถึงผลประกอบการของหลายบริษัทที่ดีขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นอานิสงส์จากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของนายกรัฐมนตรี "ชินโซะ อาเบะ" และค่าเงินเยนที่อ่อนค่าลงซึ่งเป็นประโยชน์ต่อผู้ส่งออก

 

การประกาศขึ้นค่าแรงของบริษัทต่างๆ เกิดขึ้นภายหลังจากการที่รัฐบาลญี่ปุ่นเรียกร้องอย่างหนักให้ภาคธุรกิจปรับขึ้นเงินเดือนเพื่อสนับสนุนการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งนี้สหภาพแรงงานบางแห่งประสบความสำเร็จในระหว่างการเจรจาเรื่องค่าแรงช่วงฤดูใบไม้ผลิ หรือ shunto ของปีนี้ เช่น บริษัท นิสสัน มอเตอร์ฯ ที่ตกลงขึ้นค่าแรงต่อเดือนให้พนักงาน 3,500 เยนตามจำนวนที่สหภาพเรียกร้อง

 

"นี่จะเป็นปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญให้กับประเทศเราให้ก้าวพ้นจากภาวะเงินฝืดและฟื้นฟูเศรษฐกิจได้สำเร็จ" นายอากิระ อามาริ รัฐมนตรีนโยบายเศรษฐกิจและการคลังของญี่ปุ่น กล่าว พร้อมทั้งระบุว่า การตอบรับที่ได้จากบริษัทต่างๆ เหนือความคาดหมายของตน

 

ด้าน นายฮิโรมาสะ โยเนคุระ ประธานสมาพันธ์นักธุรกิจญี่ปุ่น หรือ Kaidanren กล่าวว่า การตัดสินใจขึ้นค่าแรงของบริษัทขนาดใหญ่เป็นผลจากการที่บริษัทต่างๆ ตระหนักร่วมกันว่า การขึ้นค่าแรงมีความจำเป็นต่อการแก้ปัญหาเงินฝืด และนำมาซึ่งระบบเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง

 

สิ่งที่ต้องจับตามองต่อจากนี้ คือแนวโน้มค่าแรงที่เพิ่มขึ้นจะกระจายไปถึงบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็ก ตลอดจนแรงงานไม่ประจำด้วยหรือไม่ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่ถูกมองว่าจำเป็นจะต้องเกิดขึ้น เพื่อให้เศรษฐกิจของญี่ปุ่นมีความแข็งแกร่งเพียงพอรองรับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการปรับขึ้นภาษีผู้บริโภคในวันที่ 1 เมษายน 2557 นี้

 

นายฮิซาชิ ยามาดะ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของสถาบันวิจัยญี่ปุ่น ประเมินว่า การขึ้นเงินเดือนของบริษัทขนาดใหญ่คิดเป็นประมาณ 2.2-2.3% ขณะที่บริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กเสนอปรับขึ้นค่าแรงกว่า 2% ซึ่งอัตราดังกล่าวจะไม่เพียงพอทดแทนภาษีที่จะปรับขึ้น 3% อย่างไรก็ดี บริษัทขนาดใหญ่บางแห่งมีการจ่ายโบนัสเป็นเงินก้อนโต ซึ่งช่วยเหลือพนักงานได้อย่างน้อยก็ในช่วงนี้

 

การเพิ่มการใช้จ่ายของรัฐบาลญี่ปุ่น ร่วมกับการซื้อสินทรัพย์มูลค่ามหาศาลของธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) เป็นมาตรการเริ่มต้นที่รัฐบาลของนายอาเบะนำมาใช้เพื่อดึงเศรษฐกิจของประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกให้พ้นจากภาวะเงินฝืดที่รุมเร้ามาถึง 15 ปี อย่างไรก็ดี การฟื้นตัวจะเป็นไปได้อย่างต่อเนื่องจำเป็นจะต้องอาศัยวงจรของกำไร ค่าแรง และราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นด้วย

 

ทั้งนี้ นอกจากภาคอุตสาหกรรมแล้ว ธุรกิจภาคบริการหลายรายเตรียมขึ้นค่าแรงให้พนักงานเช่นเดียวกัน อาทิ เชนร้านสะดวกซื้อ ลอว์สัน ตกลงขึ้นค่าแรงเป็นครั้งแรกในรอบ 12 ปีตามข้อเรียกร้องของสหภาพเป็นมูลค่า 3,000 เยนต่อเดือน

 

อย่างไรก็ดี มีบางบริษัทที่ตัดสินใจไม่ปรับขึ้นค่าแรง เช่น ซูซูกิ มอเตอร์ ที่ให้เหตุผลว่ามีความกังวลเกี่ยวกับบรรยากาศการทำธุรกิจ รวมถึงแนวโน้มทางเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอนของตลาดเกิดใหม่ ขณะที่ไดฮัตสุ มอเตอร์ เสนอขึ้นค่าแรงเพียง 800 เยน โดยให้เหตุผลถึงการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นในญี่ปุ่น และการชะลอตัวของตลาดอินโดนีเซีย

 

นายโคยะ มิยามาเอะ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสจากเอสเอ็มบีซี นิกโก้ ซีเคียวริตีส์ กล่าวว่า นอกจากบริษัทที่ผลิตสินค้าเพื่อส่งออกจะได้ประโยชน์จากค่าเงินเยนอ่อน ธุรกิจที่ไม่ใช่ภาคการผลิต เช่น ร้านอาหารและค้าปลีก มีผลประกอบการที่ดีจากความต้องการภายในประเทศที่แข็งแกร่ง และการปรับขึ้นค่าแรงของบริษัทต่างๆ จะช่วยลดทอนผลกระทบจากการขึ้นภาษี

 

"เวลานี้รัฐบาลจำเป็นต้องส่งเสริมยุทธศาสตร์การเติบโต ซึ่งรวมถึงการลดภาษีเงินได้นิติบุคคล และลดหย่อนภาษีให้กับครอบครัวที่มีเด็ก เพื่อป้องกันไม่ให้จำนวนประชากรลดลงอีก และกระตุ้นความต้องการภายในประเทศ" นายโคยะ มิยามาเอะ กล่าว