VEHICLES

วิศวะ ลาดกระบัง เปิดหลักสูตรรถยนต์ไฟฟ้า
POSTED ON 19/02/2561


Tags : อุตสาหกรรม, ข่าวอุตสาหกรรม, สื่ออุตสาหกรรม, โรงงาน, เครื่องจักรกล, การผลิต, พลังงาน, โลจิสติกส์, Industry, Industrial, Industrial News, Industrial Media, Factory, Machinery, Machine, Manufacturing, Energy, Logistics

 

 

สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) แถลงข่าวเปิดศูนย์วิจัยอิเล็กทรอนิกส์ยานยนต์และรถยนต์ไฟฟ้า (EV) แห่งแรกในภูมิภาคอาเซียน

 

รศ.ดร.คมสัน มาลีสี คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า เทคโนโลยีกำลังเปลี่ยนผ่านจากรถใช้น้ำมันฟอสซิลมาเป็นรถยนต์ไฟฟ้า หรือ EV ซึ่งเป็นกระแสทั่วโลก เพื่อคุณภาพชีวิตโลกและสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น ประเทศไทยจึงต้องมุ่งพัฒนาวิศวกรและทรัพยากรมนุษย์จากการเป็นฐานการผลิตรถยนต์เดิมก้าวไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า การเปิดศูนย์ปฏิบัติการอิเล็กทรอนิกส์ยานยนต์และรถยนต์ไฟฟ้าแห่งนี้ โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. จะสร้างหลักสูตร 2 แบบ คือ (1) หลักสูตรประกาศนียบัตรระยะสั้นสำหรับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน กำหนดเปิดใน มี.ค.2561 และ (2) หลักสูตรปริญญาตรี ซึ่งจะเปิดรับสมัครนักศึกษาในปีการศึกษา 2562

 

“ส่วนในด้านงานวิจัยที่เกี่ยวกับรถยนต์ไฟฟ้านั้น ปี 2561-2562 คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. ได้รับงบสนับสนุนจากรัฐบาลโดยสร้างศูนย์ทดสอบสำหรับแบตเตอรี่และระบบขับเคลื่อนในรถยนต์ไฟฟ้า ตลอดจนมาตรฐานการทดสอบการสื่อสารระหว่างรถยนต์ไฟฟ้ากับอุปกรณ์อัดประจุไฟฟ้า (EV Charger) นอกจากนี้ คณะวิศวกรรมศาสตร์ยังได้รับทุนวิจัยพัฒนาเกี่ยวกับ Smart Grid System, ระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System) และรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ดังนั้น จึงมั่นใจได้ว่าการเปิดศูนย์ปฏิบัติการอิเล็กทรอนิกส์ยานยนต์และรถยนต์ไฟฟ้าในครั้งนี้จะช่วยพัฒนาคนที่มีองค์ความรู้และทักษะระดับสูงมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และโซลูชั่น EV แทนการทำธุรกิจแบบซื้ออุปกรณ์สำเร็จมาประกอบโดยไม่มีเทคโนโลยีของตนเอง” รศ.ดร.คมสัน กล่าว

 

ด้าน ดร.สมภพ ผลไม้ หัวหน้าภาควิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. กล่าวว่า ภายในศูนย์ปฏิบัติการอิเล็กทรอนิกส์ยานยนต์และรถยนต์ไฟฟ้าแห่งนี้มีความก้าวหน้าทันสมัยด้วยอุปกรณ์ชุดพัฒนา (Development Kit) สำหรับประยุกต์ใช้ในงานอิเล็กทรอนิกส์ยานยนต์ เช่น ชุดควบคุมมอเตอร์กระจกไฟฟ้า, เก้าอี้ไฟฟ้า, ปรับหรี่ไฟแอลอีดีภายใน/ภายนอกรถยนต์, ชุดระบบเซ็นเซอร์ต่าง ๆ ในรถยนต์ พร้อมชุดซอฟต์แวร์ครบครันที่จะรองรับงานวิจัยพัฒนาระดับสูง

 

“ในปีแรกเราตั้งเป้าพัฒนาฝึกอบรมแก่อาจารย์และผู้ประกอบการอุตสาหกรรมประมาณ 60 คน โดยเนื้อหาแบ่งเป็น 3 ระดับ คือ ระดับ ECU เกี่ยวกับสมองกลของรถยนต์, ระดับ BCU การควบคุมและอำนวยความสะดวกของตัวรถ และระดับ Traction Drive ระบบขับเคลื่อนไฟฟ้า แต่ละระดับจะเปิดอบรมปีละประมาณ 2 ครั้ง ด้วยความร่วมมือจากเครือข่ายองค์กรต่าง ๆ เช่น สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, สมาคมสมองกลฝังตัวไทย, สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย และสถาบันการศึกษาต่าง ๆ โดยมีกลุ่มเป้าหมายคือ วิศวกร เทคนิเชียนของบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ นักศึกษา นักวิจัยจากภาครัฐและภาคเอกชน” ดร.สมภพ กล่าว

 

ที่มา MGR Online