TECHNOLOGY

ก.วิทย์ฯ ร่วมเอกชนนำ ผลงานวิจัยนวัตกรรมเพื่อชาติโชว์ทำเนียบรัฐบาล
POSTED ON 02/10/2561


 

กระทรวงวิทยาศาสตร์ และบริษัท สกุลฎ์ซี อินโนเวชั่น จำกัด จัดแสดงผลงานวิจัยพัฒนาและนวัตกรรม ให้ นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี เยี่ยมชมก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อทราบศักยภาพ และความพร้อมของภาคเอกชน และการร่วมมือกับหน่วยงานรัฐเพื่อกระตุ้นและเสริมแกร่งความเข้มแข็งทางด้านการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมมาใช้ในการผลิตของผู้ประกอบการไทย รวมถึงการส่งเสริมให้คนไทย หน่วยงานไทย ได้เริ่มใช้ผลิตภัณฑ์ของไทย

ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (รมว.วท.). เปิดเผยว่า กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาล ในการขับเคลื่อนไทยแลนด์ 4.0 สนับสนุนด้านการวิจัยและพัฒนากับกลุ่มบริษัท โชคนำชัย ในการวิจัยและพัฒนาโครงสร้างเรือ และรถโดยสาร

 

โดย ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) และศูนย์บริการปรึกษาการออกแบบและวิศวกรรม (DECC) หน่วยงานในสังกัด สวทช. ด้วยการใช้กลไกของโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP) หรือไอแทป รวมถึงการสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินงานด้วยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ การยื่นขอรับการพิจารณาบัญชีนวัตกรรม และการลดภาษี 300% ซึ่งการดำเนินโครงการต่างๆ นั้น ประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี ช่วยให้บริษัท โชคนำชัย และบริษัท สกุลฎ์ซี อินโนเวชั่นฯ สามารถพัฒนากระบวนการผลิตโดยมีนักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญให้คำปรึกษา ซึ่งความร่วมมือก้าวต่อไปนั้น กระทรวงวิทย์ฯ จะร่วมวิจัยและพัฒนายานพาหนะสมัยใหม่ รวมถึงชิ้นส่วน โครงสร้าง องค์ประกอบที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนร่วมวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตแม่พิมพ์ การออกแบบ และผลิตโครงสร้างน้ำหนักเบา นอกจากนี้ ยังจะร่วมพัฒนาบุคลากรและกำลังคนที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยียานพาหนะสมัยใหม่ เพื่อสร้างองค์ความรู้ และยกระดับศักยภาพในการผลิตยานยนต์ เพื่อคนไทยให้เกิดขึ้นในประเทศต่อไป

 

โดยชิ้นงานที่นำมาแสดง ประกอบด้วย เทคโนโลยีป้องกันประเทศ (หุ่นยนต์เก็บกู้วัตถุต้องสงสัย, จรวดดัดแปลงสภาพอากาศเพื่อใช้ในการทำฝนเทียม) เรืออลูมิเนียม (เรือสปีดโบ๊ท, เรือโดยสารท้องเดียว และสองท้อง, เรือตรวจการ, เรือกู้ภัย/พยาบาล) รถอลูมิเนียม (โครงสร้างรถโดยสาร) และตัวอย่าง Advance Mat'l (โครงสร้างน้ำหนักเบาที่เป็นวัสดุขั้นสูง) ดังรายละเอียดต่อไปนี้

 

เรืออลูมิเนียม พร้อมระบบช่วยลอยตัว เรือ Aluminum เป็นที่ต้องการมากขึ้นในตลาด แต่ยังมีข้อจำกัดหลายประการ เช่น ด้านการขึ้นรูป ระยะเวลาในการผลิต ฯ บริษัทฯ จึงได้คิดค้นทำการวิจัยและพัฒนา Aluminum boat เพื่อตัดข้อจำกัดดังกล่าว พร้อมร่วมมือกับ สวทช. วิจัยและพัฒนาให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น นอกจากนี้เพื่อเพิ่มความปลอดภัย และส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ มีการใส่ Foam EVA ใต้ท้อง ให้สามารถลอยตัวกรณีน้ำเข้า มี Safety Platform กั้นเครื่องท้ายเรือ และหลังคาแข็ง เพื่อให้เรือมีมาตรฐานและความปลอดภัยเทียบเท่ามาตรฐานที่นำเข้าจากต่างประเทศ พร้อมสั่งเตรียมพัฒนาเรืออื่น ๆ เช่น เรือโดยสาร 2 ท้อง เรือกู้ภัย/เรือลาดตระเวณ รวมถึงเรือไฟฟ้า และเรือไร้คนขับ

 

รถโดยสารอลูมิเนียม บริษัทได้นำสิ่งที่วิจัยและพัฒนากับเรือมาต่อยอดผลิต Aluminum Bus สัญชาติไทย ที่มีโครงสร้างน้ำหนักเบา ขึ้นรูปโดยการปั๊มและฉีดแบบลดรอยต่อ เสริมความแข็งแรงของโครงสร้างตามจุดเสี่ยงต่างๆ เช่น มุมโครงสร้างหลังคา จุดที่ต้องรับแรงข้างที่นั่งผู้โดยสาร ฯลฯ ผสมผสานกับการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อเพิ่มความปลอดภัย ความสะดวกสบายให้ผู้โดยสาร และจะช่วยผู้ประกอบการในการลดต้นทุนเชื้อเพลิงและการลงทุน เนื่องจากมีอายุการใช้งานยาวนาน โดยมีแผนวิจัยและพัฒนาทั้ง Bus Diesel, Bus EV (โดยใช้ E-Body, E-Platform) ที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการไทยที่ต้องการพัฒนารถไฟฟ้า สามารถนำไปใช้พัฒนาและต่อยอดได้รวดเร็วยิ่งขึ้น พร้อมนี้ ได้ร่วมกับ สวทช. ในการพัฒนายานยนต์สมัยใหม่ โดยมีแผนรวมกลุ่มบริษัทไทยที่มีนวัตกรรมในแต่ละด้านมาพัฒนาร่วมกัน (Consortium) เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจไทย และการพัฒนาองค์ความรู้อย่างยั่งยืน

 

อุปกรณ์เทคโนโลยีป้องกันประเทศ - EOD ROBOT (หุ่นยนต์เก็บกู้วัตถุต้องสงสัยขนาดเล็ก) โครงสร้างผลิตด้วยแม่พิมพ์ขึ้นรูป และวัสดุเป็นอลูมิเนียม ทำให้มีน้ำหนักเพียงแค่ 25 กิโลกรัม สามารถวิ่งด้วยความเร็วสูงสุด 1.5 เมตรต่อวินาที และชุดแขนกลสามารถรับน้ำหนักได้สูงสุดถึง 6 กิโลกรัม สามารถขึ้นที่สูงและลงต่ำได้ 35 องศา รวมถึงยังสามารถปฏิบัติงานในพื้นที่น้ำท่วมขังได้ถึงร้อยละ 90 ของความสูงโครงสร้างฐานหุ่นยนต์ ซึ่งมีการทำงานแบบไร้สาย (Wireless) ได้ในระยะมากกว่า 150 เมตร (None Line of Sight)

 

Weather Modification Rockets (จรวดดัดแปลงสภาพอากาศ) ผลิตชิ้นส่วนทางกลสำหรับจรวดดัดแปรสภาพอากาศครบชุด มีชุดมอเตอร์จรวด ชุดพ่วงหาง ตัดจุดจรวด ชุดส่วนหัวและส่วนบรรจุ และที่สำคัญคือชุดฉนวนส่วนท้าย (Rear Insulation Nozzle) เพื่อทำต้นแบบชิ้นส่วนจรวดดัดแปรสภาพอากาศ โครงการวิจัยและพัฒนาจรวดดัดแปรสภาพอากาศ

 

ทางด้านนายวีรพลน์ เตชะผาสุขสันติ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สกุลฎ์ซี อินโนเวชั่น จำกัด กล่าวว่า หลังจากที่ได้ร่วมมือกับสวทช. เริ่มต้นผลิตงานนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์เรื่องความ-ปลอดภัยทางด้านคมนาคม และยกระดับการท่องเที่ยวด้วยยานพาหนะสมัยใหม่นั้น ทางเราได้ทำการประชาสัมพันธ์ให้ทางภาคเอกชน และหน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ อาทิเช่น กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงคมนาคม เกี่ยวกับแนวทางเรื่องมาตรฐานและความปลอดภัย ซึ่งได้เสียงตอบรับในการสนับสนุนผลักดันในด้านต่าง ๆ เป็นอย่างดี

นอกจากนี้เรายังได้นำความรู้ความชำนาญมาพัฒนาเทคโนโลยีป้องกันประเทศให้สามารถกลายเป็นการผลิตแบบภาคอุตสาหกรรมได้ โดยมีหลายบริษัทในไทยที่มีศักยภาพและความพร้อม รวมถึงความร่วมมือกับสทป. (สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ) และสวทช. (สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ) ทำให้เกิดการบูรณาการในทุก ๆ ด้านอีกด้วย