TECHNOLOGY

เล็งตั้งสมาคมอุตฯหุ่นยนต์ ดันภาคผลิตไทยใช้โรบอท-ออโตเมชั่นเพิ่ม
POSTED ON 28/12/2560


Tags : อุตสาหกรรม, ข่าวอุตสาหกรรม, สื่ออุตสาหกรรม, โรงงาน, เครื่องจักรกล, การผลิต, พลังงาน, โลจิสติกส์, Industry, Industrial, Industrial News, Industrial Media, Factory, Machinery, Machine, Manufacturing, Energy, Logistics

 

 

นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า จากสถิติย้อนหลังนับตั้งแต่ปี 2556 ผู้ประกอบการยื่นขอรับการลงทุนในมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต บีโอไอได้อนุมัติให้การส่งเสริมภายใต้มาตรการดังกล่าวเพียง 140 โครงการ รวมมูลค่าลงทุน 38,000 ล้านบาท แบ่งเป็น การลงทุนเพื่อประหยัดพลังงาน/ใช้พลังงานทดแทนเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เงินลงทุน 23,562 ล้านบาท โดยเป็นกิจการผลิตแผงโซลาร์เซลล์มากที่สุด

 

ขณะที่การยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนตามมาตรการดังกล่าว โดยลงทุนปรับเปลี่ยนเครื่องจักร หุ่นยนต์ และระบบอัตโนมัติ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เงินลงทุน 11,000 ล้านบาทนั้น มีเพียง 48 โครงการ จึงสะท้อนให้เห็นว่าการใช้ในประเทศยังไม่มากพอ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องใช้เครื่องมือที่ช่วยกระตุ้นให้เกิดความต้องการใช้ในประเทศเพิ่มขึ้น ทางบีโอไอจึงได้ขยายระยะเวลาของมาตรการส่งเสริมการลงทุน เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตไปอีก 3 ปี จนถึงปี 2563 จากเดิมที่สิ้นสุดในวันที่ 29 ธ.ค.2560 นี้

 

นอกจากนี้ ยังได้ปรับเงื่อนไขสิทธิประโยชน์ เช่น กิจการเดิมหรือโครงการลงทุนใหม่ หากมีการลงทุนใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ออกแบบวางระบบพัฒนาอย่าง Internet of Thing (IoT) สำหรับภาคการผลิต จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี ในวงเงินไม่เกิน 50% ของเงินลงทุน หรืออย่างในกรณีที่ใช้เครื่องจักรอุปกรณ์ในประเทศไม่น้อยกว่า 30% ของมูลค่าเครื่องจักรทั้งหมด จะได้รับสิทธิเพิ่มจากเดิมจำกัดไม่เกิน 50% มาเป็นไม่เกิน 100% เป็นต้น

 

นายโชคดี แก้วแสง รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ระบุว่า บีโอไอ กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงการคลัง ได้เตรียมหารือเพื่อพิจารณากิจการที่ไม่เข้าข่ายได้รับการส่งเสริมตามมาตรการส่งเสริมการลงทุน เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต อาทิ กิจการคลังสินค้าต่าง ๆ ท่าเรือ เพื่อหามาตรการมารองรับกับการที่ผู้ประกอบการต้องการขอรับสิทธิประโยชน์เพื่อใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติมาปรับปรุงการวางระบบในคลังสินค้า

 

ด้าน นายพชระ โง้ว กรรมการผู้จัดการ บริษัท ยูนิคัล เวิร์ค จำกัด (UNiCAL) เปิดเผยว่า ผู้ประกอบการในกลุ่มคลัสเตอร์หุ่นยนต์ รวมถึงผู้ผลิตชิ้นส่วนหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนกว่า 400 บริษัท เตรียมรวมตัวตั้งสมาคมอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ขึ้นเป็นทางการ เพื่อเป็นช่องทางในการประชุมหารือถึงการพัฒนาอุตสาหกรรมนี้ให้กับประเทศ