TECHNOLOGY

สถานีสำรองไฟของเทสล่าในออสเตรเลียสามารถจ่ายไฟเข้าระบบได้ใน 0.14 วินาที หลังไฟดับ
POSTED ON 28/12/2560


Tags : อุตสาหกรรม, ข่าวอุตสาหกรรม, สื่ออุตสาหกรรม, โรงงาน, เครื่องจักรกล, การผลิต, พลังงาน, โลจิสติกส์, Industry, Industrial, Industrial News, Industrial Media, Factory, Machinery, Machine, Manufacturing, Energy, Logistics

 

 

เทสล่า (Tesla) เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้ร่วมกับรัฐเซาท์ออสเตรเลีย (South Australia) เพื่อติดตั้งฟาร์มแบตเตอรี่ขนาด 100 เมกะวัตต์ในประเทศออสเตรเลีย สำหรับจ่ายไฟฟ้าสำรองเมื่อเกิดไฟดับหรือจ่ายไฟฟ้าสนับสนุนระบบในช่วงเวลาที่จำเป็น โดยฟาร์มแห่งนี้สามารถจ่ายไฟฟ้าให้แก่ 8,000 หลังคาเรือนแบบ 24 ชั่วโมง หรือบ้าน 30,000 หลังคาเรือนได้ 1 ชั่วโมง

 

ก่อนหน้านี้ นายไมค์ แคนนอน-บรู๊คส์ (Mike Cannon-Brookes) มหาเศรษฐีชาวออสเตรเลีย ได้พิมพ์ถามในทวิตเตอร์ของ นายอีลอน มัสค์ (Elon Musk) ประธานบริษัท เทสล่า ว่า “การติดตั้งระบบสำรองไฟฟ้าในออสเตรเลียให้เสร็จภายใน 100 วันนั้นมีความมุ่งมั่นมากน้อยแค่ไหน?” เนื่องจากเป็นที่ทราบกันดีว่า รัฐเซาท์ออสเตรเลีย ในประเทศออสเตรเลียนั้น เกิดเหตุไฟฟ้าดับค่อนข้างบ่อย จนส่งผลกระทบต่อชาวเมืองและธุรกิจในพื้นที่ 

 

จากนั้นไม่นาน นายมัสค์ก็ชิงประกาศเลยว่า “ถ้าติดตั้งระบบดังกล่าวไม่เสร็จภายใน 100 วันหลังจากเซ็นสัญญา จะสร้างฟาร์มแบตเตอรี่มูลค่า 50 ล้านเหรียญ หรือราว 1,640 ล้านบาท ให้ออสเตรเลียฟรี แบบไม่คิดเงิน” ซึ่งในที่สุดเทสล่าก็สามารถติดตั้งระบบดังกล่าวสำเร็จในเดือน พ.ย.2560 ที่ผ่านมา

 

ทั้งนี้ หลังจากเปิดใช้ระบบได้ไม่นาน ก็เกิดเหตุไฟดับขึ้นในเซาท์ออสเตรเลีย จากเหตุโรงไฟฟ้าถ่านหิน Loy Yang ในรัฐวิคตอเรีย (Victoria) ที่ห่างออกไปเกือบ 1,000 กิโลเมตร เกิดหยุดทำงาน ซึ่งระบบสำรองไฟฟ้าของเทสล่าสามารถตรวจจับความผิดปกตินี้ได้ และเริ่มจ่ายไฟ 7.3 เมกะวัตต์เข้าไปทดแทนได้ภายในเวลาเพียง 0.14 วินาที

 

ก่อนหน้านี้ เทสล่าได้เปิดตัว Tesla Powerwalls หรือแบตเตอร์รี่สำรองขนาดยักษ์สำหรับบ้านมากว่า 2 ปีแล้ว และมีแผนที่จะขยายการใช้งานไปทั่วออสเตรเลีย เพื่อให้ประสิทธิภาพการทำงานเพิ่มมากขึ้น ซึ่งนำไปสู่โรงงานผลิตไฟฟ้า Tesla Power Pack ที่ในความเป็นจริงแล้ว Power Pack เป็นสถานีสำรองไฟฟ้าที่ติดตั้งระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ ทำหน้าที่เป็นโรงไฟฟ้าสำรองที่เชื่อมต่อกับกริดไฟฟ้า เพื่อช่วยโรงไฟฟ้าจริงในขณะที่เกิดเหตุให้ต้องหยุดจ่ายกระแสไฟฟ้าแบบฉับพลัน

 

ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าดังกล่าวตั้้งอยู่บริเวณโรงไฟฟ้าพลังลมที่เปิดใช้งานแล้วในชื่อ Hornsdale Wind Farm มีเสากังหันลมทอดตัวยาว 24 กิโลเมตร การเปิดประมูลหาผู้สร้างโครงการนี้มีผู้สนใจเข้าร่วมประมูล 90 ราย และถูกคัดเลือกเหลือเพียง 2 ราย หนึ่งในนั้น ได้แก่ Carnegie Clean Energy ของออสเตรเลีย ในขณะที่เทสล่าเข้าประมูลในนามบริษัท Hornsdale Power Reserve ที่ต่อไปจะถูกเรียกว่า “Power Reserve” และชื่อนี้จะถูกนำไปใช้สื่อสารว่าหมายถึงโรงไฟฟ้าในลักษณะดังกล่าว โดยคาดการณ์ว่า Power Reserve จะเกิดขึ้นทั่วโลกอีกมากมายในอนาคต

 

ปัจจุบันผู้ถือหุ้นร่วมกับเทสล่าในโครงการนี้ นอกจากรัฐบาลของรัฐเซาท์ออสเตรเลียซึ่งเตรียมผันตัวมาเป็นผู้ลงทุนกิจการพลังงานทางเลือก จากปกติที่จะทำหน้าที่ในลักษณะผู้ดำเนินการ ยังมีบริษัท Neoen ของฝรั่งเศส หนึ่งในผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานทางเลือกที่ร่วมถือหุ้นอยู่ด้วย

 

ที่มา Mashable