SPECIAL FEATURES

ผลการศึกษาเผย โรงงานดักจับคาร์บอนยุคใหม่สามารถลดต้นทุนการดักจับ CO2 ลงได้ถึง 67%
POSTED ON 12/02/2562


Tags : อุตสาหกรรม, ข่าวอุตสาหกรรม, สื่ออุตสาหกรรม, โรงงาน, เครื่องจักรกล, การผลิต, พลังงาน, โลจิสติกส์, Industry, Industrial, Industrial News, Industrial Media, Factory, Machinery, Machine, Manufacturing, Energy, Logistics

 

 

รายงานผลการศึกษาที่เผยแพร่เมื่อเดือน พ.ย.2561 โดยศูนย์ความรู้ International CCS Knowledge Centre (Knowledge Centre) แสดงให้เห็นถึงการลดต้นทุนการดักจับและกักเก็บคาร์บอน หรือ CCS (Carbon Capture and Storage) ลงได้อย่างมีนัยสำคัญ โดยการเผยแพร่งานวิจัยชิ้นนี้เกิดขึ้นพร้อมกับการประชุมสุดยอด International CCS Summit ที่จัดโดยรัฐบาลแห่งสหรัฐอาณาจักร และทบวงการพลังงานระหว่างประเทศ (IEA)

 

ลดต้นทุนลงได้อย่างมาก - กรณีศึกษาในรายงานฉบับนี้เผยให้เห็นถึงการลดต้นทุนการดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงได้ 67% ต่อตัน ซึ่งเป็นหนึ่งในการค้นพบที่สำคัญในการศึกษาความเป็นไปได้ Shand CCS Feasibility Study ของศูนย์ความรู้ฯ ด้วยเหตุที่ CCS ถูกมองว่าเป็นเทคโนโลยีที่มีราคาแพง รายงานฉบับนี้จึงถือเป็นข่าวดีสำหรับผู้ที่ตระหนักถึงบทบาทที่สำคัญยิ่งของ CCS ในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

 

ทั้งนี้ เป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางว่า การใช้ CCS ทั้งในอุตสาหกรรมที่มีการปล่อยมลพิษสูงและโรงไฟฟ้านั้น มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) โดยเมื่อไม่นานมานี้ คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change) ได้เปิดเผยรายงานเกี่ยวกับผลกระทบจากการที่โลกร้อนขึ้น 1.5 องศาเซลเซียส ซึ่งรายงานฉบับนี้เน้นย้ำถึงความสำคัญอย่างยิ่งของเทคโนโลยี CCS ในการบรรลุเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศ ด้วยความพร้อมในการลดต้นทุนลงได้อย่างมีนัยสำคัญ เมื่อพิจารณาจากประสบการณ์การออกแบบและการดำเนินโครงการที่ผ่านๆ มาก่อนหน้านี้ รวมถึงนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่ยังมาไม่ถึง ปัจจุบัน CCS จึงได้ก้าวเข้ามามีบทบาทสำคัญในการช่วยให้อุตสาหกรรมต่าง ๆ บรรลุเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศ

 

Shand CCS Feasibility Study เป็นงานวิจัยอิสระที่ศึกษาการออกแบบและการก่อสร้างโครงการ Boundary Dam 3 CSS ของ SaskPower โดยนอกเหนือจากการลดต้นทุนแล้ว ผลลัพธ์ที่สำคัญของรายงานการศึกษาความเป็นไปได้ฉบับนี้ ยังรวมถึง (1) การออกแบบที่ช่วยตอบสนองต่อความต้องการไฟฟ้าที่ไม่แน่นอนของลูกค้าได้ดีขึ้น ซึ่งถือเป็นเรื่องที่มีความจำเป็นมากขึ้นในระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่มีความผันผวน เช่น พลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ (2) การออกแบบที่ลดการใช้น้ำลงได้มากที่สุด และ (3) การลดกระบวนการที่ซับซ้อนลงอย่างมีนัยสำคัญ เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพถึงขีดสุด

 

อ่านรายงานสรุปหรือรายงานฉบับเต็มในรูปแบบออนไลน์ได้ที่ https://ccsknowledge.com/news

 

สรุปข้อเท็จจริง

 

การศึกษาความเป็นไปได้ Shand CCS Feasibility Study (Shand Study)

 

  • การศึกษา Shand Study จัดทำขึ้นตามแนวทางของสมาคมวิศวกรต้นทุนอเมริกา (American Association of Costing Engineers: AACE) ในการประเมินระดับที่ 4 และได้นำแนวทางที่แปลกใหม่และสร้างสรรค์มาประยุกต์ใช้ในการออกแบบ รวมทั้งใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ เพื่อนำไปสู่ผลลัพธ์ทางเศรษฐศาสตร์จากการใช้เทคโนโลยี CCS ในอนาคต

 

  • ผลการศึกษาพบว่า เมื่อเปรียบเทียบกับโครงการ Boundary Dam 3 CCS (BD3) ระบบ Shand CCS สามารถลดต้นทุนได้ถึง 67% ต่อการดักจับคาร์บอนไดออกไซต์ 1 ตัน อีกทั้งยังสามารถลดต้นทุนในการรวมโรงงานไฟฟ้าได้ถึง 92%

 

  • หากอ้างอิงตามแบบจำลอง ต้นทุนการดักจับคาร์บอนปรับเฉลี่ยอยู่ที่ 45 ดอลลาร์/ตัน

 

  • เทคโนโลยี CCS รุ่นที่สอง สามารถดักจับการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ที่มีโหลดต่ำ (อาทิ การผลิตพลังงาน) ได้มากกว่า 90% ซึ่งหมายความว่า เทคโนโลยี CCS สามารถใช้กับพลังงานหมุนเวียนซึ่งมีโหลดที่หลากหลายได้ดี โดยอัตราการดักจับคาร์บอนอาจสูงถึง 97% ที่โหลดไฟฟ้า 62%

 

  • ระบบ Shand CCS ถูกออกแบบมาให้ไม่ต้องใช้น้ำเพิ่ม จึงช่วยลดข้อจำกัดด้านการปรับปรุงหรือขยายโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อน

 

  • ปริมาณเถ้าลอย 140,000 ตันต่อปีสามารถนำไปขายให้กับตลาดคอนกรีตได้ (ตามปริมาณความต้องการ) ซึ่งช่วยชดเชยการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในการผลิตคอนกรีต โดยปริมาณดังกล่าวเทียบเท่ากับการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 125,000 ตันต่อปีในโรงงานที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นลบสุทธิ

 

  • โครงการ Shand CCS มีความจุรองรับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกดักจับได้ประมาณ 2 ล้านตันต่อปี ซึ่งมากกว่าความจุของ BD3 ตามการออกแบบเบื้องต้นถึงเท่าตัว (ปัจจัยการประหยัดต่อขนาดนี้เองที่ช่วยลดต้นทุน)

 

John Gale ผู้จัดการทั่วไป โครงการ IEAGHG กล่าวเกี่ยวกับการศึกษา SHAND CCS FEASIBILITY STUDY ว่า “การศึกษาที่แปลกใหม่และสร้างสรรค์นี้ได้เข้ามาทำลายความเชื่อที่ว่า การใช้เทคโนโลยี Carbon Capture Utilization and Storage (CCUS) ในภาคพลังงานนั้นไม่ใช่ตัวเลือกที่คุ้มต้นทุน ผลการวิจัยดังกล่าวแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า การใช้ CCUS กับถ่านหินนั้นให้ผลลัพธ์ที่สามารถแข่งขันได้ทัดเทียมกับก๊าซธรรมชาติ แม้ก๊าซมีราคาถูกมากอยู่แล้วในอเมริกาเหนือ”

 

ขณะที่ทางด้าน ศาสตราจารย์ Edward S. Rubin จากมหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน กล่าวว่า “รายงาน Shand CCS Feasibility Study ที่เผยแพร่ต่อสาธารณะนี้ ได้เผยให้เห็นผลการวิเคราะห์ที่มีความสำคัญและน่ายินดีอย่างยิ่ง ในเรื่องของการออกแบบเทคโนโลยีดักจับและกักเก็บคาร์บอนยุคใหม่ให้ใช้ต้นทุนลดลง แต่ขณะเดียวกันก็ลดการปล่อยก๊าซได้มากกว่าเดิม เมื่อเทียบกับโรงงานยุคบุกเบิกที่ Boundary Dam Unit 3 ของบริษัท SaskPower การวิจัยครั้งนี้ได้พิจารณาคุณลักษณะที่เฉพาะเจาะจงของโรงงาน และยังได้ศึกษาการดำเนินการของโรงไฟฟ้า Shand Power Station ส่งผลให้การวิจัยดังกล่าวมีความน่าเชื่อถือและมีประโยชน์อย่างยิ่ง เพื่อใช้บ่งชี้ความก้าวหน้าลงลึกไปในตัวเทคโนโลยี CCS”

 

Tim Wiwchar ผู้จัดการส่วนงานพัฒนาโอกาสทางธุรกิจ บริษัทเชลล์ ระบุว่า “CCS ถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อย่างได้ผล รายงานฉบับนี้แสดงให้เห็นว่า การปรับปรุงอย่างต่อเนื่องโดยอาศัยประสบการณ์การเรียนรู้ที่ผ่าน ๆ มา สามารถช่วยลดต้นทุนลงได้ ซึ่งสำหรับกรณีนี้คือการลดต้นทุนลงอย่างมากด้วยการนำวิธีการใหม่มาประยุกต์ใช้ ทั้งนี้ การใช้คาร์บอนไดออกไซด์ในการเพิ่มผลผลิตน้ำมัน (EOR) นับเป็นทางเลือกหนึ่งในการใช้ประโยชน์จากคาร์บอนไดออกไซด์ และถือเป็นความก้าวหน้าในการนำเทคโนโลยี CCS มาใช้อย่างแพร่หลายมากขึ้น นอกจากนี้ โปรแกรมติดตามและตรวจสอบการวัดผล (MMV) ในพื้นที่แบบเฉพาะเจาะจง โดยพิจารณาความเสี่ยงเป็นหลัก ยังทำให้สามารถกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในแหล่งกักเก็บได้อย่างปลอดภัยด้วย”

 

อย่างไรก็ดี การใช้ CCS ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงน้ำมันและก๊าซเท่านั้น แต่เทคโนโลยีนี้ยังเป็นที่ต้องการสำหรับการผลิตปุ๋ย การผลิตปูนซีเมนต์ การผลิตเหล็กกล้า และการผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ เมื่อรวมกับพลังงานทดแทน เทคโนโลยี CCS จะมีประสิทธิภาพในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ยกตัวอย่างเช่น การลดการปล่อยคาร์บอน 1 ล้านตันด้วยเทคโนโลยี CCS มีค่าเท่ากับการลดปริมาณมลพิษจากระบบขนส่งของกรุงโตเกียวระยะเวลา 1 ปี และหากผนวกรวมกับการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ เทคโนโลยี CCS สามารถมีอัตราการปล่อยก๊าซเป็นลบได้เลยทีเดียว

 

“นอกจากคุณค่าในการช่วยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เทคโนโลยี CCS ยังมีบทบาทสำคัญในการสร้างงาน โดยการติดตั้งเทคโนโลยี CCS ขนาด 1 ล้านตันต่อปี สามารถสร้างงานได้หลายร้อยตำแหน่งตลอดระยะเวลาหลายปีของการก่อสร้าง ทั้งยังก่อให้เกิดการจ้างงานอย่างต่อเนื่องสำหรับฝ่ายบำรุงรักษา ฝ่ายปฏิบัติการ และเจ้าหน้าที่ด้านเทคนิคประจำโรงงาน” นาย Wiwchar กล่าว

 

สำหรับ International CCS Knowledge Centre (Knowledge Centre) นั้น ก่อตั้งขึ้นโดยบริษัท BHP และ SaskPower และเปิดดำเนินงานมาตั้งแต่ปี 2559 ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการอิสระ โดยมีพันธกิจที่จะยกระดับความเข้าใจและผลักดันการใช้ CCS ในโครงการขนาดใหญ่ เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก Knowledge Centre จะมอบความรู้ความชำนาญในการดำเนินโครงการ CCS ขนาดใหญ่ ตลอดจนเพิ่มประสิทธิภาพของเทคโนโลยีนี้ผ่านการเรียนรู้พื้นฐานทั้งจากโครงการ Boundary Dam 3 CCS Facility แบบครบวงจร และโครงการ Shand CCS Feasibility Study ซึ่งเป็นการศึกษาเทคโนโลยี CCS รุ่นที่สองอย่างครอบคลุม