SPECIAL FEATURES

การพัฒนาปัจจัยเชิงสถาบันเพื่อสร้างแรงจูงใจให้ภาคเอกชนลงทุน
POSTED ON 18/01/2560


Tags : อุตสาหกรรม, ข่าวอุตสาหกรรม, สื่ออุตสาหกรรม, โรงงาน, เครื่องจักร, การผลิต, พลังงาน, โลจิสติกส์, Industry, Industrial, Industrial News, Industrial Media, Factory, Machinery, Machine, Manufacturing, Energy, Logistics

 

โดย นณริฎ พิศลยบุตร นักวิชาการ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย

 

ไม่กี่วันที่ผ่านมามีข่าวที่น่าสนใจข่าวหนึ่งก็คือ ข่าวที่ปลัดกระทรวงการคลังออกมาให้สัมภาษณ์ว่าภาครัฐได้ให้สิทธิประโยชน์มากเป็นประวัติการณ์ แต่ภาคเอกชนก็ยังไม่ยอมลงทุน โดยมีนักวิชาการออกมาให้เหตุผลว่าภาคเอกชนยังขาดความเชื่อมั่น ซึ่งเชื่อมโยงไปถึงประเด็นระบบการเมืองและความเป็นประชาธิปไตย

 

โดยส่วนตัว ผู้เขียนมองว่าเหตุผลที่อธิบายดังกล่าว แม้ว่าจะมีความเป็นไปได้เนื่องจากมีความสอดคล้องกับทฤษฎีทั้งในสาขาเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์ แต่กระนั้นการจะตีความว่าปัจจัยทางด้านการเมืองเป็นเหตุผลสำคัญที่นำไปสู่การตัดสินใจไม่ลงทุนอาจจะเป็นการด่วนตัดสินใจมากเกินไป เพราะหลักฐานเชิงประจักษ์ได้บ่งชี้ว่าความเป็นเผด็จการในไทย มิได้นำมาซึ่งการกดขี่ภาคธุรกิจ แต่กลับเป็นการดึงเอาภาคีธุรกิจเข้าไปร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนา ดังจะเห็นได้จากการที่ภาครัฐได้ดึงเอานักธุรกิจเข้าไปร่วมในคณะทำงานในหลาย ๆ ด้าน

 

ในบทความนี้ ผู้เขียนอยากจะเสนออีกหนึ่งมูลเหตุที่เป็นไปได้ ที่ทำให้ภาคเอกชนตัดสินใจที่จะไม่ลงทุน แม้ว่าภาครัฐจะให้สิทธิประโยชน์อย่างมากมาย โดยสาเหตุที่อยากจะนำเสนอก็คือ การขาดการสร้างปัจจัยเชิงสถาบัน (institution) ที่เหมาะสมในการสนับสนุนการลงทุน ซึ่งสามารถจะอธิบายประเด็นปัญหาได้ดังนี้

 

ปัญหาที่ 1 คือ ภาครัฐยังมุ่งเน้นที่จะผลักดันการลงทุนผ่านการให้แรงจูงใจทางด้านการเงินเป็นหลัก โดยมิติในการสนับสนุนด้านอื่นๆ กลับเป็นเพียงส่วนเสริมมากกว่าที่จะเป็นข้อเสนอแบบเป็นชุด (package) ที่สอดคล้องกับความต้องการของธุรกิจ

 

ปัญหาที่ 2 คือ ภาครัฐขาดความต่อเนื่องในเป้าหมายที่สนับสนุน โดยในอดีตที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าอุตสาหกรรมที่สนับสนุนมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอตามนโยบายของพรรคการเมือง เมื่อพรรคการเมืองใหม่เข้ามาเลือกตั้งก็จะมีการปรับเปลี่ยนอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น จากเดิมที่สนับสนุนการผลิตรถยนต์ Eco car เป็นหลักก็เริ่มเปลี่ยนมาเป็นรถไฟฟ้า เป็นต้น

 

ในประเด็นนี้แม้ว่าภาครัฐจะได้มีการวางยุทธศาสตร์ 20 ปี เพื่อแก้ไขปัญหาเรียบร้อยแล้ว แต่รูปแบบการสนับสนุนอุตสาหกรรมเป้าหมายยังขาดกลไกการตรวจสอบที่ชัดเจน เช่น การขาดการวางเป้าหมายที่จับต้องได้ในระยะสั้น-กลาง-ยาว ว่าการสนับสนุนอุตสาหกรรมดังกล่าวมีเป้าหมายที่เห็นได้ชัดถึงการพัฒนาที่ชัดเจนได้อย่างไร การขาดกลไกการประเมินผลทำให้ภาครัฐขาดข้อมูลที่เหมาะสมในการสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบ

 

กลไกการประเมินผลยังมีความสำคัญ เนื่องจากปัจจุบันการพัฒนาอุตสาหกรรมอยู่ในยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทั้งจากปัจจัยภายในและภายนอก ซึ่งทำให้กลุ่มอุตสาหกรรมที่เคยมีศักยภาพในอดีตอาจจะไม่มีความเหมาะสมภายใต้สถานการณ์ใหม่ๆ ในขณะเดียวกันก็อาจจะมีอุตสาหกรรมใหม่ๆที่มีความเหมาะสมเพิ่มมากขึ้นก็เป็นได้

 

นอกจากนี้ กลไกการประเมินผลยังช่วยให้ภาครัฐลดความเสี่ยงที่จะถูกกลุ่มผลประโยชน์ที่จะเข้ามาผลักดันการสนับสนุนอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพที่ต่ำกว่าโดยเปรียบเทียบ ทำให้ภาครัฐสูญเสียโอกาสที่จะผลักดันอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพมากกว่าอย่างแท้จริงไป

 

ปัญหาที่ 3 คือ หน่วยงานภาครัฐที่ดูแลในแต่ละด้านจะมีความชำนาญเป็นพิเศษเฉพาะในด้านที่ตัวเองมีอำนาจหน้าที่ ทำให้ไม่สามารถที่จะแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในภาคธุรกิจซึ่งมีความซับซ้อนในหลายๆด้านได้ ตัวอย่างเช่น ธุรกิจนอกจากจะต้องการแรงจูงใจทางด้านการเงินแล้ว อาจจะต้องการการพัฒนาบุคลากร การสนับสนุนการทำวิจัยและพัฒนา การสนับสนุนในโครงสร้างพื้นฐานทั้งที่เป็นกฎระเบียบ/กฎหมายและที่เป็นสิ่งก่อสร้าง รวมไปถึงการดึงบุคลากรที่ชำนาญการเฉพาะทางจากสถาบันวิจัย มหาวิทยาลัยหรือจากต่างประเทศ ข้อมูลจากการสัมภาษณ์ภาคธุรกิจส่วนหนึ่งบ่งชี้ถึงปัญหาความแตกต่างกันระหว่างกฎระเบียบ ข้อบังคับและมาตรฐานต่างๆระหว่างหน่วยงานที่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุนยังปรากฏอยู่

 

กล่าวโดยสรุป ผู้เขียนมองว่าปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้ภาคเอกชนยังลังเลที่จะลงทุน มาจากการขาดระบบการสนับสนุนการลงทุนที่ดีซึ่งทำให้เอกชนเกิดความไม่แน่ใจและไม่กล้าที่จะลงทุน

 

สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหานั้น ผู้เขียนมองว่าการที่จะแก้ไขปัญหาทั้งสามข้างต้นจะสามารถผลักดันได้ต้องอาศัยการกำหนดเจ้าภาพ เป็นหน่วยงานภาครัฐ หรืออาจจะอาศัยคณะทำงานพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อทำหน้าที่สนับสนุนการลงทุนอย่างเบ็ดเสร็จ โดยให้ข้อเสนอแบบเป็นชุด (package) ที่สอดคล้องกับประเด็นความต้องการของภาคธุรกิจในทุก ๆ ด้าน ในขณะเดียวกันองค์กรเจ้าภาพก็ต้องทำหน้าที่ในการตรวจสอบประเมิน และกำหนดเป้าหมายร่วมกับภาคเอกชนในระยะสั้น-กลาง-ยาว เพื่อให้มั่นใจได้ว่าการพัฒนาอุตสาหกรรมมีความต่อเนื่อง มีความก้าวหน้าในระดับที่เหมาะสม และมีความเหมาะสมกับสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างแท้จริง