MOVEMENT NEWS

ธุรกิจอี-คอมเมิร์ซในเอเชียมาถึงจุดสิ้นสุดของช่วงการเริ่มต้น
POSTED ON 17/03/2564


 

 

นีลเส็นไอคิว บริษัทด้านการวัดและการวิเคราะห์ข้อมูลระดับโลก เผยยอดขายสินค้าอุปโภคบริโภค (FMCG) ทางออนไลน์ไม่ได้มาจากการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นของผู้ที่ซื้อออนไลน์อยู่แล้ว แต่มาจากการที่มีครัวเรือนที่เริ่มหันมาซื้อสินค้าทางออนไลน์เพิ่มมากขึ้น รวมถึงความถี่ในการซื้อและจับจ่ายที่เพิ่มขึ้น นี่จึงเป็นสัญญานที่ชี้ให้เห็นถึงจุดสิ้นสุดของช่วงการเริ่มต้นในธุรกิจอี-คอมเมิร์ซในภูมิภาคเอเชีย

จากรายงานล่าสุด นีลเส็นไอคิวต้องการส่งสัญญาณให้ผู้ค้าปลีกเตรียมความพร้อมเพื่อตั้งรับความท้าท้าย 5 ประการที่ผู้ค้าปลีกจะต้องเผชิญในช่วงการเปลี่ยนผ่านของธุรกิจอี-คอมเมิร์ซในระยะถัดไป ได้แก่ การกระจายตัวที่มากขึ้น (fragmentation) ในการค้าปลีก การกำหนดบทบาทใหม่ของร้านค้าที่มีหน้าร้าน ความเป็นจริงที่แตกต่างกันออกไป (divergent realities) การแข่งขันที่สูงขึ้นเพื่อดึงดูดความสนใจของผู้บริโภค และการจัดการคลังสินค้าพร้อมจัดส่งถึงมือผู้บริโภค (last mile fulfillment) ดูภาพประกอบที่ 1

"เราได้เข้าสู่จุดสิ้นสุดของช่วงเริ่มต้นในธุรกิจอี-คอมเมิร์ซในภูมิภาคเอเชีย และผู้ที่ยังไม่ปรับตัวในเวลานี้ จะพลาดช่วงเวลาสำคัญในการเติบโตของธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ" Vaughan Ryan กรรมการผู้จัดการ แผนก Consumer

Intelligence ภูมิภาคเอเชีย นีลเส็นไอคิว กล่าว "ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และความสร้างสรรค์ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาส่งผลให้ธุรกิจค้าปลีกมีก้าวหน้ามากขึ้น นำไปสู่การสร้างสภาพแวดล้อมที่มีความเชื่อมั่นมากขึ้น ไม่ใช่แค่เรื่องการจัดการและการจัดส่งสินค้า แต่เป็นการก้าวไปสู่การดูแลในระดับเฉพาะบุคคล (personalized) การคัดสรรสินค้าใหม่ๆ รวมถึงการทำให้ประสบการณ์การซื้อในทุกช่องทางให้เชื่อมต่อการอย่างราบรื่น"

และขณะที่ธุรกิจอี-คอมเมิร์ซถูกมองว่าเข้ามาเปลี่ยนแปลงการค้าปลีก การระบาดของโรคโควิด-19 ก็ได้เข้ามาเป็นตัวเร่งให้เกิดความพร้อมในการเปลี่ยนผ่านสู่ระยะถัดไป

นีลเส็นไอคิวรายงานว่า ประเทศที่ธุรกิจอี-คอมเมิร์ซมีการพัฒนามากกว่าประเทศอื่นๆ อย่างเกาหลีใต้ ประชากรมากกว่าสามในสี่ซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคผ่านทางออนไลน์ โดยจำนวนผู้ซื้อสินค้าในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมาเติบโตที่ 5.1% หากเทียบกับตลาดที่กำลังพัฒนานั้น โดยธรรมชาติแล้วอัตราการเติบโตสินค้าอุปโภคบริโภคทางออนไลน์จะอยู่ในระดับที่สูงมากหากเทียบการการเติบโตในเกาหลีใต้ ซึ่งการเติบโตดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าผู้บริโภคมีความมั่นใจในการซื้อสินค้าออนไลน์มากขึ้น สำหรับประเทศไทย จำนวนครัวเรือนที่ซื้อสินค้าทางออนไลน์เพิ่มขึ้นถึง 58%

อัตราการเติบโตของสินค้าอุปโภคบริโภคทางออนไลน์ในแต่ละประเทศจะมีอัตราเริ่งที่ต่างกันออกไปตามระดับความพร้อมในเรื่องดิจิทัล อย่างไรก็ดี นีลเส็นไอคิวเชื่อว่า ต่อจากนี้การเติบโตของสินค้าอุปโภคบริโภคส่วนใหญ่นั้นจะมาจากอี-คอมเมิร์ซ

ในประเทศไทย สัดส่วนยอดขายออนไลน์สินค้าอุปโภคบริโภคยังคงมาจากกลุ่มสินค้าไม่ใช่อาหารเป็นหลัก (non-food category) แต่ในช่วงปี 2020 ที่ผ่านมา นีลเส็นไอคิวเห็นถึงการเติบโตในสินค้ากลุ่มอาหารทางช่องทางออนไลน์ที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยที่สินค้ากลุ่มอาหารเติบโตเพิ่มขึ้นถึง 74% เทียบกับสินค้าที่ไม่ใช่อาหารที่เติบโตที่ 60% ความท้าทายตอนนี้จึงอยู่ที่ว่าผู้ค้าปลีกและแบรนด์จะมีวิธีการรักษาเทรนด์การเติบโตให้คงอยู่อย่างยั่งยืนได้อย่างไร ดูภาพประกอบที่ 2

ภรวดี พรมิ่งมาศ ผู้อำนวยการ แผนก Consumer Intelligence นีลเส็นไอคิว ประเทศไทย กล่าวว่า "เราได้เห็นถึงปัจจัยที่เป็นตัวเร่งและดึงดูดให้ผู้บริโภคหันมาซื้อของทางออนไลน์ และเรารู้ว่ายังมีอุปสรรคอีกมากที่เราต้องก้าวข้ามไปให้ได้ แต่การจะรักษาเทรนด์การเติบโตนี้ให้อยู่ได้อย่างยั่งยืน ผู้ค้าปลีกและแบรนด์จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการรับมือความต้องการที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภค ด้วยการสร้างข้อเสนอของสินค้าที่แตกต่างออกไปในการการช็อปปิ้งทุกช่องทางทั้งออนไลน์และออฟไลน์ (Omni-shopping journey) นอกจากนี้ ผู้ค้าปลีกและแบรนด์จะต้องเตรียมตัวที่จะตอบโจทย์ความพึงพอใจโดยรวมของผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นด้านเวลา ความสะดวก ความหลายหลายของสินค้า และความปลอดภัย พวกเขาจะต้องสร้างประสบการณ์โดยรวมและเพื่อสร้างความแตกต่างให้กับสินค้าของตัวเองอย่างแท้จริง"