MOVEMENT NEWS

คต. เปิดตัว DFT SMART-I เดินหน้าพัฒนาระบบบริการต่าง ๆ แก่ผู้ประกอบการ
POSTED ON 08/06/2562


 

 

กรมการค้าต่างประเทศ เดินหน้าพัฒนาระบบให้บริการออกใบอนุญาต/หนังสือรับรองการส่งออก-นำเข้าสินค้า และใบรับรองมาตรฐานสินค้าแก่ผู้ประกอบการ ลดขั้นตอนที่ไม่จำเป็นและค่าใช้จ่ายในกระบวนการของการนำเข้า-ส่งออก พร้อมเพิ่มขีดความสามารถเชิงดิจิทัลของภาครัฐไทย คาดพร้อมใช้งานต้นปีหน้า

นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ ได้เปิดตัวโครงการพัฒนา ระบบการให้บริการออกใบอนุญาต/หนังสือรับรองการส่งออก-นำเข้าสินค้า และใบรับรองมาตรฐานสินค้า (DFT SMART Licensing Systems: DFT SMART - 1) ในวันอังคารที่ 4 มิถุนายน 2562 เพื่อเป็นการยกระดับการให้บริการแก่ผู้ประกอบการ ทำให้ลดกระบวนการที่ซ้ำซ้อน ลดเอกสารที่เป็นกระดาษ (Paperless) ลดระยะเวลา และลดต้นทุน โดยการพัฒนาระบบดังกล่าวเน้นการออกแบบให้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง (Citizen Centric Government) และมีความทันสมัยสอดคล้องกับนโยบาย Thailand 4.0 นอกจากนี้ยังมีการเสวนาพิเศษในหัวข้อ “จาก eDFT ก้าวเข้าสู่ DFT SMART – 1” โดยได้รับเกียรติจากวิทยากรทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งมีผู้สนใจลงทะเบียนเข้าร่วมงานสัมมนารวมทั้งสิ้นกว่า 300 คน

“ในการพัฒนาระบบให้บริการดังกล่าวได้มีการศึกษากระบวนการ ส่งออก-นำเข้าทั้งหมด นำมาปรับรูปแบบ ขั้นตอนการให้บริการออกใบอนุญาต/หนังสือรับรองการส่งออก-นำเข้าสินค้า และใบรับรองมาตรฐานสินค้า โดยปรับลด ยกเลิกขั้นตอน หรือกระบวนการที่ปฏิบัติงานที่ซ้ำซ้อนและไม่จำเป็น พร้อมกับนำระบบอิเล็กทรอนิกส์เป็นเครื่องมือตรวจสอบความถูกต้องเพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ทำให้ผู้ประกอบการสามารถขอรับบริการผ่านช่องทางเดียว ใช้เอกสารเพียงชุดเดียว (Single Entry) โดยระบบจะจัดส่งคำขอแบบอัตโนมัติ รวมถึงส่งข้อมูลการอนุญาตส่งออก-นำเข้าไปยังกรมศุลกากร ทำให้สามารถประกอบพิธีการศุลกากรอิเล็กทรอนิกส์แบบไร้กระดาษ (Paperless) ได้ ถือเป็นการอำนวยความสะดวกในการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ บริษัท Surveyor บริษัทขนส่งสินค้า ท่าเรือ หน่วยงานภาครัฐและเอกชนอื่นๆ อีกด้วยนอกจากนี้ยังเพิ่มการชำระค่าธรรมเนียมในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Payment) เพื่อประหยัดเวลา โดยผู้รับบริการไม่ต้องเดินทางมารับเอกสารและชำระเงินที่กรมการค้าต่างประเทศอีกต่อไป ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักในการให้บริการของกรมการค้าต่างประเทศ” นายอดุลย์ กล่าว

นายอดุลย์ฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมฯ ได้ทำการพัฒนาและปรับปรุงเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้รับบริการมาอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2561 กรมฯ ให้บริการออกหนังสือสำคัญการส่งออก-นำเข้าสินค้า ไปแล้วจำนวนทั้งสิ้น 1.2 ล้านฉบับ เพิ่มขึ้นจากปี 2560 จำนวน 4% โดยคิดเป็นมูลค่าถึง 3 พันล้านบาท (92.45 ล้านเหรียญสหรัฐ) เพิ่มขึ้นจากปี 2560 จำนวน 9% ในจำนวนนี้เป็นใบอนุญาตส่งออก/นำเข้าปริมาณ 1 แสน ฉบับ มูลค่า 3 ร้อยล้านบาท (9.25 ล้านเหรียญสหรัฐ) และหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (Certificate of Origin: C/O) ปริมาณ 1.11 แสนฉบับ มูลค่า 2,600 ล้านบาท (80.12 ล้านเหรียญสหรัฐ) แต่เทคโนโลยีในปัจจุบันก็มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว กรมฯ จึงมีแผนที่จะพัฒนาระบบบริการอื่นๆ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ทางการค้าในยุคปัจจุบัน ได้แก่ การออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (Certificate of Origin: C/O) ภายใต้กรอบความตกลงเขตการค้าเสรี (Free Trade Agreement: FTA) เช่น ASEAN, ASEAN-Korea, ASEAN-Japan เป็นต้น

ซึ่งระบบดังกล่าวนอกจากจะมีการเชื่อมโยงกับหน่วยงาน ในประเทศแล้ว ยังต้องเชื่อมโยงกับหน่วยงานศุลกากรของประเทศปลายทางผ่าน National Single Window (NSW) ทำให้เกิดประโยชน์ในการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ บริษัทขนส่งสินค้า บริษัท surveyor ท่าเรือ รวมถึงหน่วยงานภาครัฐและเอกชนอื่นๆ ซึ่งจะเป็นการอำนวยความสะดวก เพิ่มความรวดเร็ว ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย ถือเป็นการสร้างแต้มต่อทางการค้า และเพิ่มศักยภาพในด้านการนำเข้า – ส่งออกให้กับผู้ประกอบการไทยอีกด้วย