MOVEMENT NEWS

กบง.ให้ก.พลังงานขอ PTT ทยอยปรับขึ้นราคา NGV แทนการปรับครั้งเดียว ลดผลกระทบขึ้นค่ารถเมล์ -จูงใจใช้ B1
POSTED ON 19/04/2562


Tags : อุตสาหกรรม, ข่าวอุตสาหกรรม, สื่ออุตสาหกรรม, โรงงาน, เครื่องจักรกล, การผลิต, พลังงาน, โลจิสติกส์, Industry, Industrial, Industrial News, Industrial Media, Factory, Machinery, Machine, Manufacturing, Energy, Logistics

 

 

คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.) ได้หารือวันนี้ (19 เม.ย.)กรณีมติ กบง.เดิมกำหนดให้ปรับลอยตัวราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์(NGV)ตามกลไกราคาตลาด ตั้งแต่วันที่ 16 พ.ค. 62 เป็นต้นไป โดยที่ประชุมฯกังวลว่าจะเกิดผลกระทบค่าขนส่งและค่าโดยสารของประชาชน โดยเฉพาะเมล์และรถตู้สาธารณะ ประกอบกับในวันที่ 22 เม.ย. 62 กระทรวงคมนาคมประกาศปรับขึ้นค่าโดยสารสาธารณะ ซึ่งอาจจะส่งผลให้ประชาชนได้รับผลกระทบได้

 

ดังนั้นที่ประชุม กบง.เห็นชอบให้กระทรวงพลังงานทำหนังสือถือบมจ. ปตท.(PTT) เพื่อขอความร่วมมือให้ทยอยปรับขึ้นราคา NGV นับตั้งแต่วันที่ 16 พ.ค. 62 นี้ เนื่องจากหากปรับขึ้นครั้งเดียวในราคา 6.21 บาทต่อกิโลกรัม จากปัจจุบันราคาอยู่ที่ 10.62 บาทต่อกิโลกรัม จะทำให้ราคา NGV ขยับไปถึง 16.83 บาทต่อกิโลกรัม จะทำให้ประชาชนเดือดร้อน โดยเมื่อวันที่ 19 เม.ย. 62 กระทรวงพลังงานได้ส่งหนังสือขอความอนุเคราะห์ทยอยปรับขึ้นราคา NGV ไปถึง ปตท.แล้ว เพื่อให้พิจารณาว่าจะปรับขึ้นราคาอย่างไรให้เหมาะสมกับค่าขนส่งปัจจุบัน เช่น การขึ้นราคาเพียงครึ่งเดียวก่อน หรือ ประมาณกว่า 3 บาทต่อกิโลกรัม เป็นต้น

 

นอกจากนี้ที่ประชุม กบง.ยังหารือถึงมาตรการจูงใจการใช้น้ำมันไบโอดีเซลB10 (น้ำมันดีเซลที่ผสมน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ 10% ในทุกลิตร) ก่อนจะที่ประกาศให้จำหน่ายได้จริงเป็นครั้งแรกในไทย โดยเบื้องต้นเห็นว่าควรใช้มาตรการจูงใจด้านราคา ด้วยการจำหน่ายในราคาที่ต่ำกว่าน้ำมันดีเซลปัจจุบัน หรือ ไบโอดีเซล B7(น้ำมันดีเซลที่ผสมน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ 7% ในทุกลิตร) ในอัตรา 1 บาทต่อลิตร ซึ่งการลดราคาดังกล่าวจะต้องมาจาก 2 ส่วนคือ การลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล และการนำเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมาอุดหนุน

 

ทั้งนี้กระทรวงพลังงานจะทำหนังสือถึงกรมสรรพสามิตให้พิจารณาลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลง จากปัจจุบันเก็บอยู่ 5.98 บาทต่อลิตร โดยกระทรวงพลังงานจะเสนออัตราที่ควรปรับลดในอัตราไม่กี่สตางค์เท่านั้น ซึ่งตามขั้นตอนเมื่อกรมสรรพสามิตเห็นชอบลดภาษีน้ำมันแล้ว จะต้องนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี(ครม.) ก่อน จากนั้น กบง.จะพิจารณานำเงินกองทุนน้ำมันฯมาอุดหนุนเพื่อให้ราคาจำหน่ายลดต่ำกว่า B7 รวม 1 บาทต่อลิตรต่อไป

 

ขณะเดียวกัน กบง.ได้มอบหมายให้กรมธุรกิจพลังงาน ไปศึกษาสเปคน้ำมัน B10 และการสร้างความเข้าใจกับประชาชน ก่อนออกประกาศให้ B10 เป็นน้ำมันดีเซลฐานของประเทศแทนน้ำมันดีเซลฐาน B7 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ซึ่งตามเป้าหมายของรัฐมนตรีพลังงาน ต้องการให้เริ่มจำหน่ายดีเซล B10 ได้ช่วงต้นเดือน พ.ค. 62 นี้