MOVEMENT NEWS

พาณิชย์ร่วมถกเวทีรัฐมนตรี WTO ผลักดันการปฏิรูประบบการค้าพหุภาคี
POSTED ON 01/02/2562


Tags : อุตสาหกรรม, ข่าวอุตสาหกรรม, สื่ออุตสาหกรรม, โรงงาน, เครื่องจักรกล, การผลิต, พลังงาน, โลจิสติกส์, Industry, Industrial, Industrial News, Industrial Media, Factory, Machinery, Machine, Manufacturing, Energy, Logistics, Economic

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์เข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรีองค์การการค้าโลกอย่าง ไม่เป็นทางการ (Informal WTO Ministerial Gathering : IMG) เพื่อร่วมหารือแนวทางการรับมือกับความท้าทายของการค้าโลก และปฏิรูประบบการค้าพหุภาคีให้ WTO ขับเคลื่อนอย่างมีประสิทธิภาพ รองรับพลวัตทางการค้าในยุคศตวรรษที่ 21

 

นางสาวชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ได้มอบหมายให้เข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรีองค์การการค้าโลกอย่างไม่เป็นทางการ (Informal WTO Ministerial Gathering : IMG) ซึ่งจัดขึ้นต่อเนื่องกับการประชุมสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum : WEF) และการหารืออื่นๆ ระหว่างวันที่ 2๔ – 25มกราคม 2562 ณ เมืองดาวอส สมาพันธรัฐสวิส ร่วมกับรัฐมนตรีการค้าและผู้แทนระดับสูงจากประเทศสมาชิกองค์การการค้าโลกที่ได้รับเชิญให้เข้าร่วม 32 ประเทศ อาทิ รัสเซีย จีน สหภาพยุโรป บราซิล ญี่ปุ่น อินเดีย แอฟริกาใต้ คาซัคสถาน โดยมีประเทศสมาชิกอาเซียนอื่นเข้าร่วม ได้แก่ มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ เพื่อหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาความตึงเครียดทางการค้า และแนวทางการปรับปรุงการทำงานของ WTO ให้มีประสิทธิภาพ โดยตนได้กล่าวถ้อยแถลงเน้นย้ำความสำคัญของ WTO และระบบการค้าพหุภาคี ซึ่งไทยมีนโยบายสนับสนุนการขับเคลื่อนระบบการค้าพหุภาคีมาโดยตลอด และเชื่อมั่นว่าระบบการค้าพหุภาคีที่มีประสิทธิภาพจะช่วยแก้ไขความตึงเครียดและประเด็นทางการค้า โดยสนับสนุนให้ประเทศสมาชิกร่วมกันหาแนวทางปรับปรุงระบบการค้าพหุภาคีให้มีประสิทธิภาพ โปร่งใส และสอดคล้องกับสถานการณ์การค้าระหว่างประเทศในปัจจุบัน ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างความน่าเชื่อถือต่อระบบดังกล่าวอีกครั้ง

 

นอกจากนี้ ได้ร่วมผลักดันการเจรจาเพื่อหาข้อสรุปในประเด็นสำคัญ โดยเน้นย้ำให้สมาชิก WTO คำนึงถึงความแตกต่างของระดับการพัฒนาของประเทศสมาชิกด้วย ซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่เห็นพ้องในการสนับสนุนระบบการค้าพหุภาคีที่ยึดถือกฎเกณฑ์การค้าภายใต้ WTO เพื่อการค้าที่โปร่งใส เป็นธรรม และคาดการณ์ได้ และเสนอแนวทางการปรับปรุงการดำเนินงานของ WTO เพื่อให้มีประสิทธิภาพและสามารถดำเนินต่อไปได้โดยไม่หยุดชะงัก อาทิ การเริ่มขบวนการแต่งตั้งสมาชิกองค์กรอุทธรณ์ในตำแหน่งที่ว่างการส่งเสริมความโปร่งใสและการแจ้งตามข้อผูกพันภายใต้ WTO ตลอดจนการหาข้อสรุปการเจรจาประเด็นสำคัญ โดยสนับสนุนให้แต่ละประเทศมีความยืดหยุ่นในการหารือประเด็นต่างๆ เพื่อให้มีความคืบหน้าอย่างมีนัยสำคัญ พร้อมผลักดันการจัดทำความตกลงอุดหนุนประมงให้แล้วเสร็จภายในปี 2562

 

ในการประชุมครั้งนี้ ไทยยังได้เข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรีอย่างไม่เป็นทางการด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เพื่อร่วมประกาศแถลงการณ์ร่วมการเริ่มเจรจาจัดทำความตกลงพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ภายใต้ WTO (Joint Statement on E-Commerce) กับสมาชิกรวม 76ประเทศ อาทิ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย บราซิล แคนาดา สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา โดยเป็นประเทศสมาชิกอาเซียนอื่น ได้แก่ เมียนมา ลาว สิงคโปร์ มาเลเซีย และบรูไน ซึ่งการเริ่มเจรจาพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์จะช่วยส่งเสริมการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการค้าโลกให้เติบโตอย่างยั่งยืน รวมถึงส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญของไทยภายใต้นโยบายประเทศไทย 4.0

 

นางสาวชุติมา กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ ตนยังได้รับเชิญให้เข้าร่วมการประชุมสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum: WEF) ณ เมืองดาวอส สมาพันธรัฐสวิส เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2562 โดยร่วมรับฟังการแลกเปลี่ยนความรู้และข้อคิดเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจโลกและพัฒนาการทางการค้าระหว่างประเทศ อาทิ บทบาทของจีนต่อพัฒนาการทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์การค้าภูมิภาค และนวัตกรรมด้านอาหาร (Food Innovation) เป็นต้น รวมทั้งได้พบหารือกับรองอธิบดีสำนักงานเกษตรแห่งสมาพันธรัฐสวิสเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและหารือแนวทางเสริมสร้างความร่วมมือด้านระบบการค้าเกษตรอินทรีย์กับไทย รวมถึงหารือกับประธานกรรมการบริหารภูมิภาคเอเชียของบริษัทเนสท์เล่ โดยเชิญชวนบริษัทเนสท์เล่ขยายการลงทุนด้านนวัตกรรมในไทย เพื่อร่วมกันพัฒนาสินค้าทางเลือกเพื่อสุขภาพหรืออาหารจากพืช โดยใช้ข้าวไทยเป็นวัตถุดิบทดแทนผลิตภัณฑ์นม เพื่อผลิตสินค้าที่ทันสมัยในการบริโภค อาทิ ผลิตภัณฑ์ครีมเทียม เป็นต้น

 

ในปี 2560 ไทยได้เปรียบดุลการค้ากับประเทศสมาชิก WTO คิดเป็นมูลค่า 8.98 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยส่งออกไปยังประเทศสมาชิก WTO มูลค่า 229.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 97 ของมูลค่าการส่งออกไทยไปยังโลก และไทยนำเข้าจากประเทศสมาชิก WTO มูลค่า 220.98พันล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 98 ของมูลค่าการนำเข้าของไทยจากโลก