MOVEMENT NEWS

ไทย ไปป์ไลน์ เน็ตเวิร์ค จับมือ ไชน่า ปิโตรเลียม ไปป์ไลน์ บูโร เดินหน้าก่อสร้างโครงการขยายระบบขนส่ง
POSTED ON 27/02/2562


Tags : อุตสาหกรรม, ข่าวอุตสาหกรรม, สื่ออุตสาหกรรม, โรงงาน, เครื่องจักรกล, การผลิต, พลังงาน, โลจิสติกส์, Industry, Industrial, Industrial News, Industrial Media, Factory, Machinery, Machine, Manufacturing, Energy, Logistics

 

บริษัท ไทย ไปป์ไลน์ เน็ตเวิร์ค จำกัด หรือ TPN บริษัทในเครือบริษัท เพาเวอร์ โซลูชั่น เทคโนโลยี จำกัด(มหาชน) หรือ PSTCลงนามเซ็นสัญญาร่วมกับไชน่า ปิโตรเลียมไปป์ไลน์ บูโร หรือ CPP เพื่อเดินหน้าก่อสร้างโครงการขยายระบบการขนส่งน้ำมันทางท่อไปยังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มูลค่ากว่า9,000 ล้านบาท คาดเริ่มเปิดดำเนินการได้ภายในไตรมาส 4 ปี 2564เพื่อช่วยประหยัดพลังงานภาคขนส่ง ส่งผลให้ราคาน้ำมันในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนลดลง เพิ่มศักยภาพการแข่งขันของประเทศไทยโดยมี ดร. ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานในพิธีลงนามในสัญญาฯและท่านจางเพ่ยตง อัครราชทูตที่ปรึกษาฝ่ายพาณิชย์ สถานเอกอัครราชทูตประจำประเทศไทยร่วมเดินทางมาเป็นเกียรติ

นายภาณุ ศีติสาร ประธานกรรมการ บริษัท เพาเวอร์ โซลูชั่น เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน)หรือ PSTCและกรรมการ บริษัท ไทย ไปป์ไลน์ เน็ตเวิร์ค จำกัด หรือ TPN กล่าวว่า “บริษัท ไทย ไปป์ไลน์ เน็ตเวิร์ค จำกัด หรือ TPN บริษัทย่อยในเครือ PTSC มีความยินดีลงนามในสัญญาจ้างการก่อสร้างโครงการขยายระบบการขนส่งน้ำมันทางท่อไปยังภาคตะวันออกเฉียงเหนือกับ ไชน่า ปิโตรเลียมไปป์ไลน์ บูโร หรือ CPP เพื่อเข้ามาเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างโครงการนี้ โดยคณะกรรมการได้คัดเลือกบริษัทรับก่อสร้างและวางท่อขนส่งน้ำมัน CPP เพราะมีความชำนาญด้านการวางท่อขนส่งก๊าซและน้ำมันขนาดใหญ่มากกว่า 40 ปีมีประสบการณ์และผลงานการวางท่อขนส่งน้ำมัน และก๊าซทั่วโลกกว่า 100,000 กิโลเมตร ในทวีปแอฟริกา ตะวันออกกลางรัสเซีย และในเอเชียบริษัทฯ จึงมีความมั่นใจว่า CPP จะสามารถทำการดำเนินการก่อสร้างและวางท่อน้ำมันให้ได้ตามมาตรฐานโลก โดยมีมูลค่าของสัญญาจ้างกว่า 9,000 ล้านบาท และกำหนดระยะเวลาก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายใน 30 เดือน คาดว่าระบบขนส่งน้ำมันทางท่อนี้จะสามารถเริ่มเปิดดำเนินการได้ประมาณไตรมาสที่ 4 ของปี 2564 นี้”

สำหรับโครงการนี้ประกอบไปด้วยการวางระบบท่อขนส่งน้ำมันระยะทาง 342 กิโลเมตร ผ่าน 55 ตำบล 18 อำเภอ 5 จังหวัด โดยการก่อสร้างเริ่มจากอำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี ไปสิ้นสุดที่ อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น และมีการก่อสร้างคลังน้ำมันปลายทางที่อำเภอบ้านไผ่ ขนาด 140 ล้านลิตร ทั้งนี้เมื่อระบบการขนส่งน้ำมันทางท่อดังกล่าวแล้วเสร็จ จะลดปริมาณการขนส่งน้ำมันทางรถบรรทุกลงไปจำนวน 88,000 เที่ยวต่อปี คิดเป็นการประหยัดเชื้อเพลิงในการขนส่งลงไปได้กว่า 15.4 ล้านลิตรต่อปี ซึ่งนับเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการขนส่ง ตลอดทั้งยังเป็นการเพิ่มพื้นที่ถนน เพิ่มความปลอดภัย ลดโอกาสการเกิดอุบัติเหตุ และลดการสูญเสียค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงถนนไปได้อีกเป็นจำนวนมาก และยังทำให้ราคาน้ำมันในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนของประเทศมีราคาที่ลดลงเพราะมีต้นทุนการขนส่งที่ต่ำลง นอกจากนี้บริษัทฯ และไชน่า ปิโตรเลียมไปป์ไลน์ บูโร อยู่ระหว่างร่วมมือกันในการศึกษาความเป็นไปได้ในการที่จะขยายการวางท่อขนส่งน้ำมันไปยังประเทศเพื่อนบ้านคือประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการขนส่งน้ำมันไปจำหน่ายยังประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวให้ดียิ่งขึ้น ทั้งนี้ปัจจุบันประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวอาศัยการนำเข้าน้ำมันจากประเทศไทยปีละกว่า 1,200 ล้านลิตร และมีแนวโน้มการบริโภคน้ำมันที่สูงเพิ่มขึ้นทุกปีจากความเจริญทางด้านเศรษฐกิจ และสังคมในประเทศดังกล่าว

“บริษัทไทย ไปป์ไลน์ เน็ตเวิร์ค จำกัด มีความภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับความไว้วางใจจากกระทรวงพลังงานเห็นชอบให้เป็นผู้ดำเนินโครงการขยายระบบการขนส่งน้ำมันทางท่อไปยังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเมื่อแล้วเสร็จนอกเหนือจากประโยชน์ที่จะได้รับในด้านราคาน้ำมันที่ลดลง ประสิทธิภาพในการขนส่งที่มีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม และส่งผลให้เศรษฐกิจในภูมิภาคขยายตัวเพิ่มขึ้น ประเทศไทยก็จะมีความมั่นคงในด้านการจัดหาพลังงานมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของประเทศโดยมีส่วนทำให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางพลังงานของภูมิภาคอาเซียนอย่างแท้จริง" นายภาณุ กล่าวเพิ่ม ทั้งนี้ตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2558 เห็นชอบให้ดำเนินการพัฒนาโครงการขยายระบบการขนส่งน้ำมันทางท่อไปยังภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งบริษัท ไทย ไปป์ไลน์ เน็ตเวิร์ค จำกัด หรือ TPN ได้รับความเห็นชอบให้เป็นผู้ดำเนินโครงการขยายระบบการขนส่งน้ำมันทางท่อไปภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยที่ผ่านมา TPN ได้พัฒนาโครงการทั้งด้านการสำรวจเส้นทาง การออกแบบระบบทางวิศวกรรม และตลอดจนยื่นผลการศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (EIA) ต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นที่เรียบร้อยและได้รับการอนุมัติผลการศึกษาเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2562