MOVEMENT NEWS

รัฐเร่งสร้างความเชิ่อมั่นต่างชาติ หนุนพัฒนา EEC เชื่อมต่อ SEC ขับเคลื่อนศก.ปท.
POSTED ON 29/08/2561


อุตตมะ เผยไทยกำลังปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมครั้งใหญ่ ผ่านโครงการไทยแลนด์ 4.0 ดึงนักลงทุนต่างชาติเพิ่มขึ้น โดย 70% ของการลงทุนจะอยู่ใน EEC และจะต่อยอดไปยัง SEC อีกด้วย

นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม กล่าวในงาน Thailand Focus 2018 ในหัวข้อ EEC in Action (เดินหน้าไปกับโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก) ว่า ประเทศไทยอยู่ระหว่างการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมครั้งใหญ่ เพื่อทำให้เศรษฐกิจสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน ผ่านการเดินหน้าโครงการไทยแลนด์ 4.0 โดยที่ความคืบหน้าของการดำเนินการเริ่มลงทุนในระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) เริ่มมีนักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจเข้ามาลงทุนมากขึ้น หลังจากที่หน่วยงานภาครัฐเดินหน้าการเปิดประมูลโครงการต่างๆ โดยเฉพาะโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ที่คาดว่าจะเปิดประมูลในปลายปีนี้ และจะเริ่มก่อสร้างภายในปี 62 โดยใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 4-5 ปี รวมถึงการลงทุนก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกมาบตาพุด และการขยายท่าอากาศยานอู่ตะเภาและการสร้างโรงซ่อมบำรุงของการบินไทย ซึ่งโครงการต่างๆที่รัฐบาลได้เริ่มเปิดให้ภาคเอกชนเข้ามาซื้อซองสามารถสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนต่างชาติได้อย่างดี ซึ่งจะเห็นได้จากจำนวนการขอสิทธิพิเศษทางภาษีจากบีโอไอของนักลงทุนต่างชาติใน 6 เดือนแรกของปีนี้สูงกว่าทั้งปี 60 โดยที่ 70% เป็นสัดส่วนของการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่จะอยู่ใน EEC

"การลงทุนใน EEC ที่ภาครัฐเริ่มเดินหน้าอย่างจริงจังนั้น ทำให้สร้างความเชื่อมั่นให้กับภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศว่าการลงทุนของภาครัฐจะเห็นเป็นรูปธรรมเกิดขึ้น เพราะการประมูลก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ คืบหน้าไปมาก และการวางแผนเชิงรุกของภาครัฐ จะทำให้ความเชื่อมั่นทั้งจากนักลงทุนไทยและต่างชาติเพิ่มมากขึ้น"นายอุตตม กล่าว

ขณะเดียวกันภาครัฐเตรียมต่อยอดโครงการพัฒนา EEC ไปสู่การพัฒนาโครงการพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (SEC) ซึ่งจะมีการลงทุนพัฒนาโครงการคมนาคมต่าง ๆ เพื่อเชื่อมโยงกัน เช่น การลงทุนขยายอาคารผู้โดยสาร และก่อสร้างอาคารผู้โดยสารแห่งใหม่ให้รองรับปริมาณนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นเป็น 3 ล้านคน/ปี จากปัจจุบันอยู่ที่ 300,000 คน/ปี และการเชื่อมต่อการคมนาคมทางรางโดยที่จะมีการเชื่อมต่อรถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพฯ-หัวหิน ในอนาคตอีกด้วย และจะมีการลงทุนก่อสร้างท่าเรือในจังหวัดระนองและรถไฟความเร็วสูงเพื่อเป็นการเชื่อมต่อเส้นทางกรุงเทพฯ-ระนอง-เชนไน ทำให้ประหยัดระยะเวลาการขนส่งมากขึ้นและมีค่าใช้จ่ายในการขนส่งที่ถูกลง จากปัจจุบันที่การขนส่งในเส้นทางนี้จะเป็นการขนส่งจากกรุงเทพฯ-แหลมฉบัง-สิงคโปร์-เชนไน

โดยที่งบประมาณในการลงทุนของโครงการพัฒนา SEC นั้นหลังจากที่นายกรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการแล้ว ได้ส่งเรื่องดังกล่าวให้ทางสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ นำไปศึกษารายละเอียด องค์ประกอบ และกลไกในการลงทุนของโครงการดังกล่าว เพื่อประเมินงบประมาณที่จะต้องใช้ลงทุน ซึ่งการลงทุนใน SEC ภาครัฐมองว่าเป็นอีกหนึ่งโครงการขนาดใหญ่ที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศ เป็นยุทธศาสตร์ของชาติในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยได้อย่างยั่งยืน และสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศ