MANUFACTURING

สรุปสถานการณ์การผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนเมษายน 2563
POSTED ON 08/06/2563


 

 

การผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนเมษายน 2563 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมหดตัวร้อยละ 17.2 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เป็นผลมาจากการหดตัวของอุตสาหกรรมสำคัญ ๆ อาทิ อุตสาหกรรม การผลิตยานยนต์ อุตสาหกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม และอุตสาหกรรมการผลิตมอลต์และสุราที่ทำจากข้าวมอลต์ อัตราการใช้กำลังการผลิตในเดือนเมษายน 2563 อยู่ที่ร้อยละ 51.9

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมรายสาขาสำคัญ ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือนเมษายน 2563 หดตัวร้อยละ 17.2 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน สาขาอุตสาหกรรมการผลิตสำคัญที่หดตัว อาทิ อุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ อุตสาหกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม และอุตสาหกรรมการผลิตมอลต์และสุราที่ทำจากข้าวมอลต์

อุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ ดัชนีผลผลิตหดตัวร้อยละ 81.7 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จากปัญหาการระบาดของไวรัสโควิด-19 และมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดจากภาครัฐและจากโรงงาน ทำให้มีความต้องการสินค้าลดลง ต้องหยุดการผลิตชั่วคราว รวมถึงปัญหาในการขนส่งและการผลิตชิ้นส่วนจากทั่วโลก

อุตสาหกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม ดัชนีผลผลิตหดตัวร้อยละ 19.3 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จากผลการระบาดของไวรัสโควิด-19ภาครัฐจึงออกมาตรการอยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ ส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อการเดินทางขนส่งลดลงไปมาก

อุตสาหกรรมการผลิตมอลต์และสุราที่ทำจากข้าวมอลต์ ดัชนีผลผลิตหดตัวร้อยละ 82.4 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ภาครัฐประกาศห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกประเภทตลอดเดือนเมษายนของปีนี้ รวมถึงมีการปิดร้านอาหารและสถานบริการแบบนั่งดื่มเพื่อลดการรวมตัวกัน

สำหรับสาขาอุตสาหกรรมการผลิตสำคัญที่ขยายตัว อาทิ อุตสาหกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์คอนกรีต ปูนซีเมนต์ อุตสาหกรรมการผลิตเภสัชภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ที่ใช้รักษาโรค และอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์คอนกรีต ปูนซีเมนต์ ดัชนีผลผลิตขยายตัวร้อยละ 23.5 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จากพื้นสำเร็จรูปและคอนกรีตผสมเสร็จ ตามความต้องการใช้อย่างต่อเนื่องจากโครงการก่อสร้างของรัฐ

อุตสาหกรรมการผลิตเภสัชภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ที่ใช้รักษาโรคดัชนีผลผลิตขยายตัวร้อยละ 38.5 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นเกือบทุกรายการสินค้ายกเว้นยาผง เนื่องจากจำนวนวันทำงานที่มากกว่าปีก่อนหลังประกาศเลื่อนวันหยุดเทศกาลสงกรานต์ และมีการผลิตยาเพื่อสต็อคไว้ล่วงหน้าได้มากขึ้นหลังมีการเพิ่มอาคารเก็บยาตั้งแต่ต้นปีของผู้ผลิตบางราย

อุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ดัชนีผลผลิตขยายตัวร้อยละ 10.5 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ตามคำสั่งซื้อของตลาดโลก โดยเฉพาะสินค้าประเภทวงจรอิเล็กทรอนิกส์และอุปกรณ์กึ่งตัวนำที่ใช้ในอุตสาหกรรมทางการแพทย์และอุปกรณ์ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์