MANUFACTURING

อุตตมะ ย้ำ EEC ผนวกเข้าโครงการเมืองอัจฉริยะ เตรียมรับนักลงทุนจีน คาด 5 ปีแรกลงทุนกว่า 5 หมื่นล้านเหร
POSTED ON 24/08/2561


Tags : อุตสาหกรรม, ข่าวอุตสาหกรรม, สื่ออุตสาหกรรม, โรงงาน, เครื่องจักรกล, การผลิต, พลังงาน, โลจิสติกส์, Industry, Industrial, Industrial News, Industrial Media, Factory, Machinery, Machine, Manufacturing, Energy, Logistics

 

นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม กล่าวปาฐกถาในงานสัมมนา "Thailand-China Business Forum 2018" โดยระบุว่า โครงการเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ถือเป็นโครงการลงทุนที่สำคัญของรัฐบาล โดยมุ่งหวังจะสร้างฐานการเติบโตใหม่ทางเศรษฐกิจที่จะเป็นอนาคตของประเทศไทยในอนาคตต่อไป เปรียบเสมือนหัวรถจักรในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0

 

"โครงการ EEC จะเป็นแพลตฟอร์มและเป็นโอกาสที่สำคัญในการเชื่อมโยงเศรษฐกิจของไทยเข้ากับ Belt and Road ของจีน ทั้งด้านการคมนาคม ขนส่ง การค้า การลงทุน ความร่วมมือทางเศรษฐกิจต่าง ๆ โดยที่ตั้งของ EEC สามารถเป็น gateway ให้จีนในการเชื่อมโยงเศรษฐกิจกับอาเซียนทางตอนใต้อีกด้วย" รมว.อุตสาหกรรม กล่าว

 

นายอุตตมะ กล่าวต่อว่า โครงการ EEC เป็นจริงได้ เพราะโครงการนี้ไม่ได้เริ่มจากศูนย์ แต่ได้มีการต่อยอดครั้งใหญ่ในพื้นที่อุตสาหกรรมหลักของประเทศที่พัฒนาต่อเนื่องมากว่า 35 ปีแล้ว มีพื้นที่กว้างขวางถึง 13,000 ตร.กม. และกำลังพัฒนาให้เป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมเป้าหมาย และสาขาการผลิตอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง แต่ที่สำคัญโครงการ EEC ไม่ได้จำกัดอยู่แค่เพียงการพัฒนาภาคอุตสาหกรรม แต่เป็นการพัฒนาแบบบูรณาการอย่างครบวงจร ด้วยการสร้างเมืองใหม่ เช่น เมืองอัจฉริยะ (Smart City) มีการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งที่ทันสมัย สะดวกรวดเร็ว การพัฒนาบุคลากรทางด้านการศึกษา ด้วยการส่งเสริมการจัดตั้งโรงเรียนนานาชาติ รวมทั้งที่สำคัญคือการส่งเสริมการจัดตั้งเขตการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อรองรับการพัฒนาของอุตสาหกรรม และการพัฒนาเมืองเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต ควบคู่ไปกับการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ การพัฒนาศูนย์กลางธุรกิจด้านการเงิน และระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน เช่น แหล่งน้ำ และพลังงาน ที่เป็นปัจจัยสู่ความสำเร็จของโครงการ EEC

 

"สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ EEC จะพัฒนาไปสู่โอกาสที่หลากหลายในการพัฒนาและลงทุนร่วมกันกับจีน ซึ่งจีนถือเป็นประเทศต้นแบบที่สามารถพัฒนาเมืองอัจฉริยะได้ประสบความสำเร็จเป็นจำนวนมาก มีบริษัทจีนที่มีศักยภาพหรือความเชี่ยวชาญในการพัฒนาเมืองใหม่ในด้านต่าง ๆ เราคาดหวังว่านี่จะเป็นโอกาสที่บริษัทชั้นนำของจีนจะมาร่วมกันพัฒนา Smart City ในพื้นที่ EEC โดยนำองค์ความรู้ที่ได้สั่งสมมาแชร์กับรัฐบาลไทย ผู้ประกอบการไทย" นายอุตตม กล่าว

 

สำหรับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานภายในพื้นที่ EEC รวมถึงการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายนั้น คาดว่าในช่วง 5 ปีแรกจะมีมูลค่าแตะ 50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งการลงทุนจะยึดหลักความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนเป็นสำคัญ เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปี 2023 ส่วนโครงการยกระดับและพัฒนาสนามบินนานาชาติอู่ตะเภา รวมทั้งศูนย์ซ่อมบำรุง มีเป้าหมายจะเปิดดำเนินการได้ในปี 2021 เพื่อให้สอดรับกับการพัฒนาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน 

 

"การพัฒนาเมืองใหม่เพื่อรองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่ EEC นั้น รัฐบาลคาดหวังให้เอกชนทั้งในและต่างประเทศเป็นผู้มีบทบาทสูงในการพัฒนา โดยคำนึงถึงการบริหารจัดการแบบครบวงจร และขอยืนยันว่าโครงการ EEC มีกฎหมายรับรองทุกอย่าง จึงสร้างความมั่นใจให้แก่นักลงทุนไทย นักลงทุนต่างประเทศ และประชาชนทั่วไปว่าโครงการ EEC จะมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องต่อไป" รมว.อุตสาหกรรม กล่าว