MANUFACTURING

LONGi เตรียมขยายกำลังการผลิตเวเฟอร์สำหรับแผงโซลาร์เซลเพิ่ม 3 เท่า
POSTED ON 09/02/2561


Tags : อุตสาหกรรม, ข่าวอุตสาหกรรม, สื่ออุตสาหกรรม, โรงงาน, เครื่องจักรกล, การผลิต, พลังงาน, โลจิสติกส์, Industry, Industrial, Industrial News, Industrial Media, Factory, Machinery, Machine, Manufacturing, Energy, Logistics

 

 

เมื่อเดือน ม.ค.2561 ที่ผ่านมา บริษัท LONGi Green Energy Technology ผู้ผลิตแผงเซลล์แสงอาทิตย์ชนิดโมโนคริสตัลไลน์ ได้ประกาศแผนกลยุทธ์ระยะเวลา 3 ปี สำหรับธุรกิจผลิตเวเฟอร์โมโนคริสตัลไลน์ของบริษัทฯ ซึ่งเริ่มตั้งแต่ปี 2561 จนถึงปี 2563 เพื่อเร่งผลักดันความก้าวหน้าในอุตสาหกรรมพลังงานแสงอาทิตย์ และตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ปลายน้ำที่กำลังเติบโตขึ้น โดย LONGi มีแผนที่จะขยายกำลังผลิตซิลิคอนเวเฟอร์ชนิดโมโนคริสตัลไลน์ให้ได้ถึง 45 กิกะวัตต์ ภายในปี 2563 

 

ในแผนกลยุทธ์ระยะเวลา 3 ปีดังกล่าว LONGi ได้เผยให้เห็นถึงแนวทางขยายกำลังผลิตเวเฟอร์โมโนคริสตัลไลน์อย่างต่อเนื่องเป็นระยะ ๆ โดยตั้งเป้าที่จะเพิ่มกำลังการผลิตซิลิคอนเวเฟอร์ จากระดับ 15 กิกะวัตต์ ณ สิ้นปี 2560 ไปเป็น 28 กิกะวัตต์ ณ สิ้นปี 2561 และขยับขึ้นเป็น 36 กิกะวัตต์ ณ สิ้นปี 2562 และ 45 กิกะวัตต์ ณ สิ้นปี 2563 ตามลำดับ นอกจากนี้ LONGi จะเดินหน้าลดต้นทุนการผลิตลง พร้อมรับประกันการส่งมอบผลิตภัณฑ์โมโนครัสตัลไลน์ที่มีประสิทธิภาพป้อนให้กับตลาดได้อย่างต่อเนื่อง

 

ผู้บริหารของ LONGi ระบุว่า เป้าหมายด้านราคาและคุณภาพทางเทคนิคสำหรับโครงการผลิตโครงการใหม่ ๆ ควรสนับสนุนเป้าหมายของประเทศจีนในการทำให้ต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์เท่ากับค่าไฟฟ้าที่ซื้อจากสายส่งไฟฟ้า (Grid Parity) โดยบริษัทฯ จะมุ่งความสนใจไปที่ผลิตภัณฑ์โมโนครัสตัลไลน์ที่มีความคุ้มค่า เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับสถานะผู้นำของบริษัทฯ

 

ในภาคส่วนนี้ LONGi ตั้งเป้าเอาไว้ว่า ราคามาตรฐานของเวเฟอร์ในโครงการใหม่ ๆ ทั้งที่เป็นซิลิคอนและไม่ใช่ซิลิคอน จะต้องไม่เกิน 1 หยวนต่อชิ้น (ประมาณ 5 บาทต่อชิ้น) พร้อมทั้งรับประกันคุณภาพของเวเฟอร์ในการสนับสนุนประสิทธิภาพการแปลงพลังงานสำหรับเซลล์ PERC กระแสหลักให้สูงกว่า 22.5% และลดลงได้ไม่เกิน 1% สำหรับการผลิตปริมาณมาก

 

ปัจจุบัน นอกจาก LONGi จะผลิตเซลล์และแผงเซลล์แสงอาทิตย์เกือบทั้งหมดในประเทศจีนแล้ว บริษัทฯ ยังมีฐานการผลิตอยู่ในมาเลเซียอีกด้วย โดยเมื่อ 2 เดือนที่แล้ว LONGi ได้เริ่มการผลิตในพื้นที่ใหม่ 2 แห่ง คือ ที่เมืองฉู่สง มณฑลยุนนาน (เวเฟอร์โมโนครัสตัลไลน์ 10 กิกะวัตต์) และเมืองลี่เจียง มณฑลยุนนาน (เซลล์โมโนครัสตัลไลน์ 5 กิกะวัตต์) นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีโรงงานแห่งที่ 3 ตั้งอยู่ในเมืองเป่าซาน ของมณฑลยุนนาน ซึ่งมีกำหนดที่จะเริ่มเปิดดำเนินการราวเดือน ต.ค.2561 นี้ โดยโรงงานแห่งนี้จะผลิตเซลล์โมโนครัสตัลไลน์ขนาด 5 กิกะวัตต์

 

กลยุทธ์ในการผลิตเวเฟอร์โนโมคริสตัลไลน์จำนวนมากของ LONGi จะส่งผลให้ราคาลดลงได้อย่างไม่ต้องสงสัย ซึ่งการผลิตเวเฟอร์โมโนครัสตัลไลน์ที่มีราคาถูกได้เป็นจำนวนมากนั้น เมื่อนำมาโยงเข้ากับข้อดีของ PERC และเทคโนโลยีเซลล์แสงอาทิตย์แบบสองหน้าแล้ว จะช่วยผลักดันเป้าหมาย Grid Parity ให้เกิดขึ้นได้โดยเร็วอย่างแน่นอน

 

นอกจากนี้ LONGi ยังได้ทุ่มเงินลงทุน 308 ล้านดอลลาร์ (ราว 9,777 ล้านบาท) เพื่อขยายโรงงานผลิตโมดูลและเซลล์แสงอาทิตย์ชนิดโมโนคริสตัลไลน์ในอินเดีย ซึ่งประกอบด้วย เงินทุนก่อสร้าง 240 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 7,618 ล้านบาท) และเงินทุนดำเนินงานราว 68 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 2,159 ล้านบาท) สำหรับเพิ่มกำลังการผลิตของโรงงานผลิตโมดูลจากเดิม 500 เมกะวัตต์ เป็น 1 กิกะวัตต์ และเพิ่มกำลังการผลิตของโรงงานผลิตเซลล์จากเดิม 500 เมกะวัตต์ เป็น 1 กิกะวัตต์ โดยคาดว่าการก่อสร้างเพื่อขยายโรงงานผลิตโมดูลจะแล้วเสร็จและสามารถเริ่มการผลิตในช่วงปลายเดือน ส.ค.2562 ส่วนโรงงานผลิตเซลล์จะเริ่มการผลิตในเดือน ม.ค.2563

 

นายหลี่ เหวินเสวี่ย ประธาน LONGi Solar กล่าวว่า การขยายโรงงานในรัฐอานธรประเทศเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์การขยายกิจการไปทั่วโลกของ LONGi ในขณะที่อุปสงค์โมดูลแสงอาทิตย์ยังคงสูงขึ้นทั่วโลก LONGi ก็กำลังลงทุนเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตในตลาดหลายแห่ง เพื่อป้องกันความเสี่ยงอันเนื่องมาจากการกีดกันทางการค้า ขณะเดียวกันก็ยังให้ความสนใจไปที่ตลาดในประเทศจีนเป็นหลัก เบื้องต้นคาดว่าการขยายโรงงานครั้งนี้จะช่วยเพิ่มยอดขายต่อปีราว 380 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 12,062 ล้านบาท) และกำไรสุทธิต่อปีราว 19 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 603 ล้านบาท)

 

“ปัจจุบัน อินเดียเป็นตลาดส่งออกผลิตภัณฑ์พลังงานแสงอาทิตย์ที่ใหญ่ที่สุดของจีนเมื่อพิจารณาจากมูลค่ายอดขาย โดยในปี 2560 ที่ผ่านมา ยอดส่งออกจากจีนคิดเป็นสัดส่วน 24.1% ของผลิตภัณฑ์พลังงานแสงอาทิตย์ทั้งหมดในอินเดีย นอกจากนี้ จีนยังมียอดขายทั้งเซลล์และโมดูลเพิ่มขึ้นด้วย” นายหลี่ กล่าว

 

สำหรับการขยายกำลังการผลิตในอินเดียครั้งนี้ LONGi จะได้ประโยชน์จากทรัพยากรอันสมบูรณ์ของอินเดีย ต้นทุนที่ต่ำ และนโยบายที่เอื้อต่ออุตสาหกรรมพลังงานแสงอาทิตย์ นอกจากนี้ ยังเป็นโอกาสของ LONGi ในการเร่งขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศและเพิ่มส่วนแบ่งในตลาดผลิตภัณฑ์โมโนคริสตัลไลน์ทั่วโลก

 

โครงการนี้ดำเนินการโดย Lerri Solar Technology (India) Private Ltd ซึ่งเป็นบริษัทที่ LONGi ถือหุ้นอยู่ 40% และ LONGi Solar ถือหุ้นอยู่ 60%