MANUFACTURING

มิตรผล ทุ่ม 2.6 พันล้านบท ต่อยอดสร้างโรงงานผลิตสารให้ความหวานจากธรรมชาติ
POSTED ON 06/02/2560


Tags : อุตสาหกรรม, ข่าวอุตสาหกรรม, สื่ออุตสาหกรรม, โรงงาน, เครื่องจักรกล, การผลิต, พลังงาน, โลจิสติกส์, Industry, Industrial, Industrial News, Industrial Media, Factory, Machinery, Machine, Manufacturing, Energy, Logistics

 

อุตสาหกรรมการผลิต - นายกฤษฎา มณเฑียรวิเชียรฉาย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มมิตรผล เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการความร่วมมือกับพันธมิตรในสหรัฐอเมริกาทำการวิจัยและพัฒนาสารให้ความหวาน "อีริทริทอล" (Erythritol) และ "ไซลีทอล" (Xylitol) โดยจะใช้เงินลงทุนทั้งสิ้น 75 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 2,600 ล้านบาท เพื่อนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาต่อยอดสร้างโรงงานผลิตสารให้ความหวานจากธรรมชาติที่ "ฟู๊ดอินโนโพลีส" (Food Innopolis)

 

ทั้งนี้ โรงงานที่สหรัฐฯจะเริ่มผลิตปี 2561 กำลังผลิต 6,000 ตันต่อปี โดยประมาณ 1,500 ตันจะนำเข้ามาทำตลาดในประเทศไทยสำหรับกลุ่มเครื่องดื่ม ซึ่งปัจจุบันมีการใช้สารให้ความหวานที่ไม่ได้มาจากธรรมชาติ ส่วนกำลังผลิตที่เหลือจะขายในสหรัฐฯ ซึ่งตลาดสินค้าในกลุ่มนี้ที่สหรัฐฯมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 14% ต่อปี ขณะที่ในประเทศไทยยังไม่สามารถประเมินมูลค่าตลาดสินค้าประเภทนี้ได้

 

จากข้อมูลพบว่า ปัจจุบันกำลังการผลิตอีริทริทอลและไซลีทอลอยู่ที่ 1.5 ล้านตันต่อปี อัตราการบริโภคอีริทริทอลทั่วโลกอยู่ที่ 65,000 ตัน ขณะที่การบริโภคไซลีทอลทั่วโลกอยู่ที่ 250,000 ตัน

 

เมื่อกลางปี 2559 กลุ่มมิตรผลประกาศความร่วมมือกับ Dynamic Food Ingredients (DFI) เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการวิจัยและพัฒนาสารให้ความหวานที่นำนวัตกรรมการใช้พลังงานไฟฟ้าในกระบวนการผลิตที่ดึงคาร์บอนออกจากโมเลกุลมาแปรรูปน้ำตาลให้เป็นสารให้ความหวานจากธรรมชาติที่มีแคลอรี่ต่ำ ได้แก่ อีริทริทอล และไซลีทอล ซึ่งเป็นที่แพร่หลายที่สุดในโลก ในระยะเริ่มต้นจะมุ่งเน้นการผลิตที่สหรัฐอเมริกาก่อน ควบคู่กับการร่วมกันวิจัยและพัฒนาที่ "ฟู๊ดอินโนโพลีส" (Food Innopolis) และจะสนับสนุนการใช้วัตถุดิบคืออ้อยและแป้งมันสำปะหลังจากประเทศไทยให้มากที่สุด

 

สำหรับแผนขยายกำลังการผลิตโรงงานเอทานอล จ.กาฬสินธุ์ อีก 2.5 แสนลิตรต่อวัน จากเดิม 1.25 ล้านลิตรต่อวันนั้น กำลังจะเดินเครื่องผลิตได้ในเดือน มี.ค.2560 นี้

 

นอกจากนี้ มิตรผลยังได้ร่วมลงนามกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ในโครงการพัฒนานักวิจัยและงานวิจัยเพื่ออุตสาหกรรม โดยจะร่วมกันจัดสรรงบประมาณฝ่ายละ 50:50 ไม่จำกัดจำนวนทุน ภายในระยะเวลา 5 ปี นับตั้งแต่ 1 ต.ค.2559 ถึง 30 ก.ย.2564 (ปีงบประมาณ 2560-2564)

 

โดยความร่วมมือกับ สกว.ครั้งนี้ เป็นการมุ่งเน้นการพัฒนาบุคลากรการวิจัยด้านเทคโนโลยีชีวภาพ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่สำคัญในการพัฒนาต่อยอดพืชเศรษฐกิจ รวมถึงเทคโนโลยีการจัดการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่มีความสำคัญต่ออุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลของไทย

 

สำหรับรายละเอียดความร่วมมือนั้น กลุ่มมิตรผลจะดำเนินการคัดเลือกนักวิจัยขององค์กรที่มีคุณสมบัติเหมาะสมเพื่อเข้ารับทุนศึกษาในระดับปริญญาโทและปริญญาเอก ตามหลักสูตรการเรียน โดยมี สกว. เป็นผู้สนับสนุนทุนการศึกษาวิจัยครึ่งหนึ่ง ตามมาตรฐานของโครงการพัฒนานักวิจัยและงานวิจัยเพื่ออุตสาหกรรม (พวอ.) ซึ่งความร่วมมือในครั้งแรกนี้กลุ่มมิตรผลมีนักวิจัยเข้าร่วมโครงการจำนวนทั้งสิ้น 10 คน แบ่งเป็นการศึกษาระดับปริญญาโท 8 คน ทุนละ 500,000 บาท และระดับปริญญาเอก 2 คน ทุนละ 2,000,000 บาท

 

และเพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสในเข้าถึงการศึกษาของบุคลากร กลุ่มมิตรผลยังได้ร่วมมือกับภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดทำหลักสูตรการเรียนแบบ Non-Coursework เป็นรายแรกในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งจะช่วยเอื้ออำนวยให้นักวิจัยสามารถทำงานวิจัยไปพร้อมกับมีการเรียนการสอนในองค์กร เสมือนเป็นการยกหลักสูตรในมหาวิทยาลัยมาอยู่ภายในสถานที่ทำงาน

 

ทั้งนี้ โครงการวิจัยของนักวิจัยจากกลุ่มมิตรผลในระดับปริญญาโทและปริญญาเอกที่ได้รับการสนับสนุนตามขอบเขตงานวิจัยของ พวอ. มี 4 หัวข้อหลัก ได้แก่ การพัฒนาปรับปรุงพันธุ์อ้อย การพัฒนาเทคโนโลยีในด้านการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์อ้อยและน้ำตาล การพัฒนาเพื่อเพิ่มมูลค่าของวัสดุเหลือทิ้งด้วยกระบวนการ Bio-Refinery การสร้างเสริมระบบการจัดส่งและจัดเก็บวัตถุดิบ

 

“เป้าหมายของมิตรผลคือการเป็น Bio-base Industry ซึ่งสอดคล้องกับ New S-curve และ Bio Economy ซึ่งการเป็น Bio Economy มี 5 ขั้นคือ พลังงาน, อาหารและอาหารสัตว์, Bio Chemical, Ingredients และ Pharma ซึ่งอนาคตมิตรผลพร้อมจะก้าวไปสู่จุดนั้น การสร้างนักวิจัยจึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการไปสู่เป้าหมายเหล่านั้น” นายกฤษฎา กล่าว