LOGISTICS

กรมทางหลวงชนบทเตรียมหาแหล่งกู้อื่น หลัง 2 ล้านล้านชะงัก
POSTED ON 19/02/2557


 

ข่าวโลจิสติกส์ (Logistics News) - นายปฐม เฉลยวาเรศ ผู้อำนวยการสำนักกองก่อสร้างสะพาน กรมทางหลวงชนบท (ทช.) เปิดเผยว่า กรมฯ จะปรับแผนการหาเงินมาลงทุนก่อสร้างโครงการถนนต่อเชื่อมถนนราชพฤกษ์กับถนนกาญจนาภิเษก ในแนวเหนือ-ใต้ จากเดิมโครงการนี้ได้บรรจุไว้ในร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท โดยจะปรับมาขอใช้เงินกู้จากแหล่งอื่นแทน เช่น องค์การเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (ไจก้า) ธนาคารพัฒนาแห่งเอเชีย หรือเอดีบี เป็นต้น

 

"เราจะกลับมาใช้วิธีการเหมือนกับที่กรมฯ เคยดำเนินการมาก่อนหน้านี้สำหรับการก่อสร้างโครงการที่เป็นขนาดใหญ่ จะมีทั้งกู้ไจก้าและเอดีบี อยู่ที่การพิจารณาของกระทรวงการคลังจะให้กู้จากแหล่งไหน อย่างไรก็ตาม ในปีงบประมาณ 2558 กรมฯ ได้ขอค่าเวนคืนที่ดินสำหรับโครงการนี้รวมอยู่ในแผนงานด้วย จำนวน 500 ล้านบาท จากทั้งโครงการจะใช้เงินค่าเวนคืนประมาณ 2,500 ล้านบาท" นายปฐม กล่าว  

 

ขณะที่การก่อสร้างใช้เงินประมาณ 6,018 ล้านบาท แยกเป็น 4 สัญญา โดยสัญญาที่ 1 วงเงิน 1,372 ล้านบาท สัญญาที่ 2 วงเงิน 1,617 ล้านบาท สัญญาที่ 3 วงเงิน 1,887 ล้านบาท และสัญญาที่ 4 วงเงิน 1,142 ล้านบาท รวมเงินลงทุนสำหรับโครงการนี้อยู่ที่ประมาณ 8,763 ล้านบาท

 

ด้าน นายชาติชาย ทิพย์สุนาวี อธิบดีกรมทางหลวงชนบท กล่าวว่า "กรมฯ ยังไม่สามารถสรุปได้ชัดว่าจะใช้แหล่งเงินจากไหนมาดำเนินการ คงจะต้องมาดูความชัดเจนของร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาทก่อน รวมถึงนโยบายจากรัฐบาลชุดใหม่ อาจจะใช้เงินจากงบประมาณปกติมาก่อสร้าง โดยจะตัดแบ่งเป็นช่วงๆ ก็ได้ หรือจะใช้เงินกู้เหมือนที่กรมเคยดำเนินมา แต่โครงการนี้ควรจะเร่งดำเนินการโดยเร็ว เนื่องจากกรมฯ ได้ออกประกาศ พ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดินเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ขาดแต่เงินที่จะมาเวนคืนและก่อสร้างเท่านั้น"

 

สำหรับโครงการนี้มีระยะทางรวม 16.9 กิโลเมตร รูปแบบจะก่อสร้างเป็นถนนขนาด 6 ช่องจราจร จะต่อเชื่อมไปจากถนนราชพฤกษ์บริเวณจุดตัดทางหลวงหมายเลข 345 (สายบางบัวทอง-บางคูวัด) พร้อมสร้างทางแยกต่างระดับ จำนวน 4 แห่ง ได้แก่

 

1.ทางแยกต่างระดับขุนมหาดไทย ที่จุดต้นทางกับถนน 345

2.ทางแยกต่างระดับไพร่ฟ้า สำหรับถนนรวม และกระจายการจราจร หรือซีดีโรด จะอยู่ระหว่างบริเวณคลองบางเดื่อกับคลองบางโพธิ์ใต้

3.ทางแยกต่างระดับบางโพธิ์ใต้ ที่ถนนกาญจนาภิเษกฝั่งตะวันตก

4.ทางแยกต่างระดับปทุมธานี ที่จุดปลายทางกับถนนสาย 346 ที่บริเวณสามแยกถนนสายเลี่ยงเมืองปทุมธานีกับถนนสายปทุมธานี-บางเลน

 

ขณะที่การเวนคืนที่ดินมียอดเวนคืนรวมอยู่ที่ 587 ราย แยกเป็นที่ดิน จำนวน 537 แปลง อาคารและสิ่งปลูกสร้าง จำนวน 140 ราย ต้นไม้ยืนต้นและพืชผล จำนวน 156 แปลง ซึ่งหากได้รับอนุมัติโครงการ จะใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 3 ปี เมื่อก่อสร้างเสร็จจะช่วยให้โครงข่ายคมนาคมของกรุงเทพฯ และปริมณฑลมีความสมบูรณ์มากขึ้น และเปิดการพัฒนาในพื้นที่ตาบอดให้มีทางเข้าออก

 

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ