LOGISTICS

"เมืองเงิน" ใช้งบกว่าพันล้าน เล็งตั้งนิคมฯ เชียงของ เชื่อมไทย-ลาวทะลุจีน
POSTED ON 01/02/2557


 

ข่าวโลจิสติกส์ (Logistics News) - นายไพรัช เล้าประเสริฐ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เมืองเงิน ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด เปิดเผยว่า เตรียมที่จะพัฒนาโครงการนิคมอุตสาหกรรมเชียงของ บนเนื้อที่ 497 ไร่ ตำบลสถาน อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ใช้เงินลงทุน 1,100 ล้านบาท รูปแบบจะเน้นการลงทุนด้านโลจิสติกส์

 

เนื่องจากนิคมเชียงของอยู่ใกล้พื้นที่เส้นทางการขนส่งสินค้าไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เช่น สปป.ลาว และจีนที่ค่อนข้างสะดวก โดยสามารถใช้ถนนสาย R3A เชื่อมโยงจากประเทศไทยที่อำเภอเชียงของไปยังสะพานมิตรภาพไทย-ลาว ที่ได้เปิดใช้อย่างเป็นทางการไปเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2556 ที่ผ่านมา เข้าสู่บ้านห้วยแก้ว แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว และยังสามารถเชื่อมต่อเส้นทางบ่อเต็น แขวงหลวงน้ำทา เพื่อเข้าสู่เมืองคุนหมิง มณฑลยูนนาน ทางจีนตอนใต้ ซึ่งอยู่ห่างสะพานมิตรภาพฯ เพียง 10 กิโลเมตร

 

สำหรับในพื้นที่นิคมเชียงของ ได้ถูกออกแบบและแบ่งพื้นที่ออกเป็น (1) โลจิสติกส์ปาร์ก โซน (2) อาคารคลังสินค้า (3) ศูนย์กระจายสินค้า (4) โรงงานอุตสาหกรรม และ (5) สำนักงานการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) นอกจากนี้จะเป็นพื้นที่สำหรับพาณิชยกรรม ระบบสาธารณูปโภค ซึ่งขณะนี้มีนักลงทุนทั้งไทย, ญี่ปุ่น, สิงคโปร์ และจีน แสดงความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในพื้นที่แล้ว

 

คอนเซ็ปต์ของนิคมเชียงของยังเน้นเพื่อรองรับการเปิดเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ที่จะเกิดขึ้นในปี 2558 ที่ตลาดทั้งอาเซียนจะรวมเป็นตลาดเดียวกัน ที่สำคัญจีนได้มองที่จะใช้ไทยเป็นฐานในการกระจายและขนส่งสินค้าอาเซียนทางรถยนต์ด้วย

 

นายไพรัชกล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้พื้นที่นิคมเชียงของยังอยู่ในขั้นตอนการศึกษาประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (EIA) ที่คาดว่าจะยื่นเสนอต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ได้ภายในปีนี้ หลังจากนั้นจะเริ่มการพัฒนาที่ดินและก่อสร้างได้ในช่วงต้นปี 2558 และโครงการจะแล้วเสร็จในปี 2560 ในส่วนของเงินลงทุนรวม 1,100 ล้านบาทนั้น แบ่งเป็นเงินลงทุนของบริษัทเมืองเงินฯ ร้อยละ 30 ส่วนอีกร้อยละ70 จะต้องดำเนินการขอกู้จากสถาบันการเงินต่อไป

 

ทั้งนี้ ในการพัฒนานิคมเชียงของดังกล่าว จะมีพันธมิตรทางธุรกิจที่มาจากวงการอสังหาริมทรัพย์ ที่มีความเชี่ยวชาญในการออกแบบและควบคุมงานก่อสร้าง กลุ่มธุรกิจด้านโลจิสติกส์ และได้วางแผนที่จะนำเข้ารถบรรทุกหัวลากจากประเทศจีนด้วย

 

รวมถึงจะมีกลุ่มธุรกิจด้านพลังงานจาก สปป.ลาว และกลุ่มธุรกิจด้านการบริหารจัดการระบบสาธารณูปโภคจากประเทศญี่ปุ่นเข้ามาร่วมลงทุนพัฒนาด้วย

 

ด้าน นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า ผู้ได้รับอนุมัติให้พัฒนานิคมใหม่นั้นยังอยู่ในขั้นเตรียมเอกสารที่เกี่ยวข้อง ก่อนที่จะลงนามกับ กนอ.อย่างเป็นทางการเร็ว ๆ นี้ และอยู่ภายใต้กรอบเวลาที่กำหนด ส่วนผู้ที่ไม่ได้รับการอนุมัตินั้น หากมีความประสงค์จะก่อสร้างและพัฒนานิคมในการสนับสนุนของ กนอ.สามารถทำได้ แต่จะได้รับสิทธิประโยชน์ในการส่งเสริมการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม ต่างจาก 6 นิคมอุตสาหกรรมที่ผ่านบอร์ด กนอ. ซึ่งจากการเปิดให้ยื่นตั้งนิคมครั้งนี้ บอร์ดพิจารณาจากหลักเกณฑ์ ด้านเทคนิค การเงิน การตลาด และด้านการส่งเสริมการลงทุน ขณะเดียวกันบอร์ด กนอ.ยังจะเข้าไปช่วยเหลือ สนับสนุน และส่งเสริมการประกอบกิจการนิคมอุตสาหกรรมใหม่เป็นพิเศษ ตามข้อเสนอที่ กนอ.ได้ให้ไว้ด้วย

 

สำหรับนิคมอุตสาหกรรมใหม่ 6 แห่งที่ได้รับการอนุมัติให้พัฒนาโดยคณะกรรมการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (บอร์ด กนอ.) ตามที่ได้ประกาศเชิญชวนให้ภาคเอกชนยื่นเสนอพื้นที่จัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมเพื่อตอบสนองนโยบายส่งเสริมและสนับสนุนในการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่มีศักยภาพตามยุทธศาสตร์ของประเทศในเชิง Area Base และ Cluster Base