LOGISTICS

สหพันธ์ขนส่งทางบกฯ แนะ ไทยควรเร่งจัดการระบบโลจิสติกส์ รับโอกาส AEC
POSTED ON 24/01/2557


 

ข่าวโลจิสติกส์ (Logistics News) - หลังจากร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศหรือโครงการเงินกู้ 2 ล้านล้านบาท ที่ขณะนี้ศาลรัฐธรรมนูญให้เลื่อนการไต่สวนออกไปก่อน ทำให้หลายองค์กรต่างออกมาแสดงความเห็นว่า ถ้าการผลักดันโครงการดังกล่าวล่าช้าออกไปมาก ไทยอาจเสียโอกาสได้ โดยเฉพาะระบบขนส่งที่ทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันสู้ประเทศเพื่อนบ้านไม่ได้นั้น

 

นายยู เจียรยืนยงพงศ์ ประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย ซึ่งมีสมาชิก 11 สมาคม ฉายภาพรวมความจำเป็นที่รัฐบาลใหม่จะต้องเร่งสานต่อโครงสร้างพื้นฐานตามงบ 2 ล้านล้านบาท เพื่อยกระดับให้สมกับที่ไทยเป็นศูนย์กลางอาเซียนได้อย่างเต็มภาคภูมิ โดยประเทศไทยจำเป็นต้องลงทุนในระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน เพราะที่ผ่านมาไทยถูกมองว่าเป็นศูนย์กลางอาเซียน หลายประเทศแห่เข้ามาลงทุน ทั้งด้านอุตสาหกรรมและโลจิสติกส์ หากโครงการไหนยังไม่จำเป็นก็เลื่อนออกไปก่อนได้ แต่ไม่ควรทำให้ต้องล่าช้าออกไปทั้งหมด  

 

ขณะนี้โครงการลงทุนที่เร่งด่วนและจำเป็นก่อน เช่น ถนนที่เป็นคอขวดในหลายสายทั่วประเทศ, ถนนที่เป็น 2 เลนก็เพิ่มเป็น 4 เลน, ถนนแต่ละเส้นทางที่จะเชื่อมต่อด้านชายแดนทั่วประเทศ จะต้องขยายและก่อสร้างให้มากขึ้น, ถนนที่จะไปท่าเรือแหลมฉบัง ที่ขณะนี้ติดขัดเพราะมีปริมาณรถมากขึ้น ยกตัวอย่างถนนสาย 36 ที่เข้าระยอง ถนนสาย 331 หรือถนนทุกสายที่อยู่รอบแหลมฉบังและมาบตาพุด นอกจากนี้ ก็จะเป็นรถไฟรางคู่ ที่จะต้องดูว่าควรจะเร่งดำเนินการจุดไหนได้ก่อน ที่จะเชื่อมต่อไปยังท่าเรือ และจังหวัดตามชายแดนและเมืองต่างๆ ที่สำคัญ

 

โครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้ถ้าไม่เร่งดำเนินการให้เกิดขึ้น จะทำให้ไทยสูญเสียโอกาสไป เนื่องจากขณะนี้ สปป.ลาว ได้สร้างรถไฟความเร็วสูงจากสะหวันนะเขตไปยังลาวบาว ซึ่งอยู่ติดชายแดนเวียดนาม คู่ขนานเส้นทางหลวงหมายเลข 9 (R9) โดยเริ่มก่อสร้างโครงการแล้วตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2556 ที่ผ่านมา

 

โครงการก่อสร้างทางรถไฟความเร็วสูงจากจีนผ่านหลวงพระบางเข้าเวียงจันทน์ ซึ่งได้ดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้ ด้านเงินลงทุนและความพร้อมแล้วเพียงแต่รัฐบาล สปป.ลาว กำลังต่อรองผลประโยชน์กับจีน ที่สร้างให้ในระยะทาง 500 กิโลเมตร ดังนั้น ถ้าไทยล่าช้าไปมาก จะทำให้สูญเสียโอกาสในการเป็นศูนย์กลางของอาเซียนได้

 

อย่างไรก็ตาม โครงการรถไฟความเร็วสูง มีความจำเป็นต่อประเทศไทยที่จะต้องลงทุนอาจไม่จำเป็นต้องมีความเร็วถึง 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และควรปรับเส้นทางในบางเส้นทางให้เหมาะสมกับการพัฒนาความเป็นศูนย์กลางของอาเซียน จะได้ช่วยลดต้นทุนได้ ก็จะทำให้การตัดสินใจผลักดันให้เกิดโครงการนี้ได้เร็วขึ้นกว่าเดิมได้

 

โครงการเหล่านี้นอกจากจะเตรียมรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซีแล้ว เรายังมีกรอบความร่วมมืออนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งรวมจีนด้วย จะยิ่งทำให้ระบบการขนส่งของไทยขยายตัวไปยังภูมิภาคได้มากขึ้น โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านที่ต้องการสินค้าจากไทยได้ค่อนข้างมาก เพราะมีราคาที่เหมาะสม มีคุณภาพดี และมีความคุ้นเคยกับสินค้าไทย  ที่สำคัญตลาดจีนถ้าได้ทำการค้าร่วมกันไทยจะได้ประโยชน์เพราะจีนเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่

 

"อย่าลืมว่าเวลานี้เราได้เปรียบอยู่แล้ว เพราะเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางบกและทางอากาศในภูมิภาคนี้อยู่แล้ว ดังนั้นจึงไม่อยากให้โอกาสนี้สูญเสียไป  เพียงเพราะปัญหาการเมืองที่ยืดเยื้อนาน" นายยู กล่าว

 

ทั้งนี้ การเปิดเออีซีมีทั้งได้เปรียบและเสียเปรียบ สินค้าตัวไหนไม่คุ้มค่าต่อการลงทุนก็ไม่ควรทำ แต่ที่มองเห็นว่าจะได้ประโยชน์แน่ๆ เช่น การส่งออกมันสำปะหลัง ยางพารา และผลไม้ชนิดต่างๆ ทั้งเงาะ ทุเรียน มังคุด ลำไย และกล้วย ซึ่งตรงนี้ผลที่ตามมาคือ การขนส่งทางบกได้รับอานิสงส์ไปด้วย เพราะถึงเร็วกว่าขนส่งทางเรือ  และจะเห็นว่าพอไทยเป็นศูนย์กลางอาเซียนและเปิดเสรีได้ถึง 70% ทุนต่างชาติมองเห็นโอกาสก็เดินสายเข้ามาลงทุนธุรกิจโลจิสติกส์ในไทยมากขึ้น

 

ปัจจุบัน จะเห็นว่าธุรกิจกลุ่มนี้ในไทยจะมีทั้งคนไทยถือหุ้น 100% เพราะเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพ แข่งขันได้ และเป็นบริษัทร่วมทุนไทย-ต่างชาติ ที่ต่างมองเห็นโอกาสร่วมกัน โดยไทยมีตลาดรออยู่แล้ว ขณะที่ต่างชาติมีการบริหารจัดการ มีเทคโนโลยีที่แลกเปลี่ยนกันได้ ส่วนรายที่ล้มหายตายจากไปคือผู้ประกอบการรายเล็ก ซึ่งในช่วงหลายปีที่ผ่านมาไม่มีการพัฒนาตัวเอง บางรายมาสู่รุ่นลูกรุ่นหลานไม่ยอมสานต่อก็ขายกิจการไป ซึ่งจะเห็นว่าแม้จะมีบริษัทโลจิสติกส์ที่เลิกกิจการไปจำนวนมาก แต่ก็มีบริษัทที่เกิดขึ้นใหม่อย่างต่อเนื่อง

 

ส่วนธุรกิจโลจิสติกส์จากนี้ไปอีก 5 ปีนั้น ประเทศไทยเริ่มมีการขยายตัวในธุรกิจโลจิสติกส์มากขึ้น ขณะเดียวกันก็มีต้นทุนดำเนินธุรกิจที่สูงขึ้นตามลำดับ เนื่องจากค่าพลังงานปรับตัวสูงขึ้น ดังนั้น การขนส่งทางรางจึงจำเป็นมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการขนส่งคนหรือขนส่งสินค้า และจะช่วยลดอุบัติเหตุบนท้องถนนรวมถึงลดการขาดดุลชำระในการนำเข้าน้ำมัน

 

นอกจากนี้ ยังมองว่าน่าจะเป็นโอกาสในการส่งเสริมซึ่งกันและกันระหว่างขนส่งทางบกและระบบราง เมื่อถึงวันนั้นมูลค่าอุตสาหกรรมโลจิสติกส์จะมีขนาดใหญ่ขึ้น จากปัจจุบันอยู่ที่มูลค่ามากกว่า 1 ล้านล้านบาท ซึ่งราว 80-90% เป็นการขนส่งภายในประเทศ

 

"จุดแข็งธุรกิจโลจิสติกส์ของไทยคือ มีประสบการณ์ในการขนส่งสินค้าทางถนนมานานกว่า 40 ปี เมื่อเทียบกับประเทศในภูมิภาคนี้ เพราะมีถนนมากกว่า นอกจากนี้ ไทยยังเป็นศูนย์รวมของเทคโนโลยีการผลิตยานยนต์ ที่เกิดจากความร่วมมือกับทุนสัญชาติต่างๆ โดยเฉพาะทุนจากญี่ปุ่น และไทยเป็นจุดศูนย์กลางของตลาดอาเซียนที่มีประชากรกว่า 600 ล้านคน" นายยู กล่าวทิ้งท้าย