LOGISTICS

เคาะ 3 แผนเดินหน้าลงทุนทวาย เชื่อ การเมืองไทยไม่กระทบมาก
POSTED ON 17/01/2557


 

ข่าวโลจิสติกส์ - นายจุลพงศ์ อยู่เกษ ประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท ทวาย เอสอีแซด ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (Dawei SEZ Development Company Limited) เปิดเผยถึงความคืบหน้าของการประชุมคณะทำงานร่วมไทย-เมียนมาร์ เพื่อการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายและพื้นที่โครงการที่เกี่ยวข้องล่าสุดเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2557 ซึ่งจัดขึ้นที่ย่างกุ้งว่าที่ประชุมได้สรุปถึงแนวทางในการผลักดันโครงการทวายให้เดินหน้าต่อเพื่อให้เป็นไปตามกรอบเวลาที่วางไว้โดยมีสาระสำคัญ 3 ประการกล่าว คือ

 

1.เรื่องการว่าจ้างและคัดเลือกบริษัทที่ปรึกษาต่างชาติเพื่อดำเนินการทำ ดีลดิลิเจน (Due Diligence) เข้าทำไปการประเมินสินทรัพย์ที่ลงทุนไปทั้งหมด เพื่อคืนเงินให้กับบริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือไอทีดี เจ้าของสัมปทานเดิม ซึ่งจะมีการประกาศรายชื่อบริษัทที่ปรึกษาในเร็วๆ นี้ โดยขณะนี้มีผู้เสนอตัว 2 ราย คือ บริษัท  Deloitte Consortium และ Ernst&Young ซึ่งเดิมมีบริษัท PWC ได้เสนอตัวมาด้วยแต่ได้ถอนตัวในภายหลัง จึงเหลืออยู่เพียง 2 รายเท่านั้น ส่วนการคัดเลือกนี้ทางเมียนมาร์จะเป็นผู้ตัดสินหลังฝ่ายไทยได้ทำแบบฟอร์มการให้คะแนนแต่ละรายประกอบการตัดสินใจให้แล้ว

 

2.การเปิดประมูลเพื่อหาบริษัทที่จะเข้ามาเป็นผู้บริหารโครงการ (โปรเจ็กต์ แมเนจเมนต์ โอเปอเรชั่น) ซึ่งจะต้องเปิดประมูลในระดับนานาชาติภายในสัปดาห์นี้เช่นกัน เบื้องต้นจะมีการเชิญบริษัทต่างชาติที่บริหารโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ เจ้าผิว ในเมียนมาร์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มบริษัทคอนซอร์เตียมมีอยู่กว่า 30 กลุ่ม ที่สนใจเข้ามาเสนอตัว เนื่องจากเป็นโครงการขนาดใหญ่จึงจำเป็นต้องมีบริษัทที่มีประสบการณ์ เข้ามาทำหน้าที่ในการวางมาสเตอร์แพลน ที่ปรึกษาด้านการบริหารจัดการโครงการโดยเฉพาะ

 

3. การวางเงื่อนไข ทีโออาร์ เพื่อให้นักลงทุนที่สนใจเข้ามาเสนอตัว ร่วมลงทุนในโครงการลงทุนระยะแรก (Initial Phase)ซึ่งจะไม่มีการกำหนดการใช้ขนาดพื้นที่ แต่จะเป็นการเปิดกว้างให้ผู้ที่สนใจเป็นฝ่ายเสนอแผนลงทุนเข้ามา

 

นายจุลพงศ์ยังกล่าวต่ออีกว่า ขณะนี้ถือว่าโครงการทวายเป็นไปตามแผนเดิมที่วางไว้แม้จะมีปัญหาทางการเมือง ที่อาจจะมีการล่าช้าไปบ้างแต่ก็ถือว่าช้าเพียงสัปดาห์สองสัปดาห์เท่านั้น ทุกอย่างยังเป็นไปตามไทม์ไลน์ที่กำหนด และภายในต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2557 ที่จะถึงนี้ คาดว่าจะสามารถเปิดเงื่อนไขของทีโออาร์เพื่อเปิดให้นักลงทุนที่สนใจเสนอตัวมาประมูลสัมปทานลงทุนในโครงการระยะแรกได้อย่างแน่นอนและในเดือนพฤษภาคมนี้น่าจะประกาศรายชื่อผู้ได้รับสัมปทาน

 

อันสืบเนื่องจากโครงการทวายอยู่ในความรับผิดชอบของบริษัท ทวาย เอสซีแซดฯ ซึ่งเป็นนิติบุคคลเฉพาะกิจ  (Special Purpose Vehicle : SPV) เป็นบริษัทเอกชนอันเกิดจากการร่วมทุนระหว่างไทยกับเมียนมาร์ ซึ่งมีอำนาจในการทำหน้าที่ผู้ประสานงานและที่ปรึกษาโครงการ หาผู้รับสัมปทานโครงการ โดยไม่จำเป็นต้องผ่านคณะกรรมการประสานงานร่วมระหว่างไทย-เมียนมาร์ เพื่อการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายและพื้นที่โครงการที่เกี่ยวข้อง (เจซีซี) ซึ่งมี นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล เป็นประธานฝ่ายไทย

 

"ดังนั้น การประชุมเจซีซีซึ่งเดิมกำหนดให้มีขึ้นในวันที่ 17 มกราคม 2557 นี้ แต่ฝ่ายไทยขอเลื่อนเนื่องจากไม่พร้อมและติดปัญหาทางด้านการเมืองจึงไม่ส่งผลกระทบต่อแผนการดำเนินการของโครงการแต่ประการใด อีกทั้งหัวข้อของการประชุมครั้งนี้จะเป็นการหารือเรื่องการแจ้งความคืบหน้าโครงการและพูดถึงการลงทุนในโครงการอย่างเต็มรูปแบบ" ประธาน ทวาย เอสอีแซดฯ กล่าว

 

ประธานของทวาย เอสอีแซดฯ ยังระบุด้วยว่า ขณะนี้เราสามารถเดินหน้าต่อไปได้โดย เอสพีวี ทำให้โครงการไม่สะดุด และภายในสัปดาห์นี้ฝ่ายเมียนมาร์น่าจะตัดสินใจ ทั้งเลือกบริษัทที่ปรึกษา เปิดประมูลหาผู้บริหารโครงการและการวางเงื่อนไขทีอาร์โอ เพื่อเปิดประมูลการลงทุนโครงการระยะแรกซึ่งถือว่าโครงการคืบหน้าไปมากและต้นเดือนกุมภาพันธ์นี้ทุกอย่างน่าจะสรุปได้ทั้งหมด

 

ทั้งนี้ โครงการลงทุนระยะแรก  (Initial Phase) จะมีการลงทุนสำคัญ 3 ส่วนคือ (1) ถนน 2 ช่องทางเชื่อมโยงทวายกับชายแดนไทยบริเวณบ้านพุน้ำร้อน จังหวัดกาญจนบุรี เพื่อให้การเดินทางสะดวก (2) ท่าเรือขนาดเล็ก 2 ท่าเรือเพื่ออำนวยความสะดวกในรองรับการขนส่งอุปกรณ์การก่อสร้างเป็นหลัก และ (3) นิคมอุตสาหกรรมระยะแรกที่จะเป็นอุตสาหกรรมขนาดเบา และสาธารณูปโภค สาธารณูปการที่จำเป็น อาทิ โรงไฟฟ้า น้ำประปา ซึ่งตามแผนเดิมจะเปิดประมูลภายในเดือนกุมภาพันธ์และประกาศรายชื่อในเดือนพฤษภาคม 2557 ซึ่งก็เป็นไปตามนั้น

 

ส่วนก่อนหน้านั้น นายเปรมชัย กรรณสูต กรรมการ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ไอทีดี เผยว่า บริษัทฯ สนใจจะเสนอตัวเข้าร่วมประมูลแน่นอนเพราะเดิมผมเคยเป็นดีเวลอปเปอร์มาก่อนและแน่นอนว่าเมื่อโครงการนี้ผมทำมากับมือเราต้องไปบิดแน่ เพราะแผนที่จะเดินหน้าก็คือแผนของเรา ซึ่งจะมีการผนึกระหว่างไอทีดีกับนิคมอุตสาหกรรมโรจนะ ทำร่วมกัน กำหนดพื้นที่ประมาณ 3 หมื่นไร่ หรือ 1 ใน 3 ของพื้นที่ทั้งหมด ใช้เงินลงทุนร่วมแสนล้านบาท