LOGISTICS

กูรูโลจิสติกส์ แนะผู้ประกอบการรถโดยสารไทยปรับตัว และพัฒนาการเรียนรู้ ลุย AEC
POSTED ON 16/01/2557


 

ข่าวโลจิสติกส์ - ล่าสุด กรมการขนส่งทางบก เป็นเจ้าภาพจัดงานสัมมนา "โครงการพัฒนาความรู้และประสบการณ์ด้านความปลอดภัยในการขนส่งด้วยรถโดยสารสาธารณะในอาเซียน เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC)" เพื่อเดินหน้าพัฒนาศักยภาพการบริการขนส่งด้วยรถโดยสารสาธารณะ

 

นายอัฌษไธค์ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวว่า โครงการดังกล่าวจะให้ความรู้และประสบการณ์จากการศึกษาดูงานภายในอาเซียนทั้ง 6 ประเทศ ได้แก่ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว, สาธารณ รัฐสังคมนิยมเวียดนาม, สาธารณรัฐฟิลิปปินส์, สาธารณรัฐอินโดนีเซีย, สาธารณรัฐสิงคโปร์ และประเทศมาเลเซีย มาถ่ายทอดให้ผู้ประกอบการขนส่งได้นำไปใช้ในการพัฒนากิจการรถโดยสารสาธารณะให้เกิดประสิทธิภาพยิ่งขึ้น รวมทั้งเพื่อศึกษาช่องทางในการเดินรถโดย สารระหว่างประเทศ

 

จากสถิติจำนวนใบอนุญาตประกอบการขนส่ง ณ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2556 พบว่า มีผู้ประกอบการขนส่ง ด้วยรถโดยสารสาธารณะ จำนวน 16,170 ราย ประกอบด้วย ผู้ประกอบการขนส่งรถโดยสารไม่ประจำทาง จำนวน 14,675 ราย และผู้ประกอบการขนส่งรถโดยสาร ประจำทาง จำนวน 1,495 ราย ซึ่งกรมการขนส่งทางบกมีหน้าที่รับผิดชอบในการกำกับดูแลและพัฒนาส่งเสริมการขนส่งด้วยรถโดยสารให้มีความปลอดภัย ความสะดวกและเป็นธรรมต่อผู้ใช้บริการ จึงได้เล็งเห็นว่า การก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 ผู้ประกอบการขนส่งด้วยรถโดยสารของไทยจะต้องมีการปรับตัวและพัฒนาไปในทิศทางที่เหมาะสม

 

"เพื่อเตรียมพร้อมรับ AEC เราต้องเรียนรู้ และทำความเข้าใจเกี่ยวกับกฎระเบียบ ความปลอดภัยในการจัด การเดินรถโดยสารสาธารณะ รวมทั้งการเรียนรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมด้านความปลอดภัยทางถนนของประเทศต่างๆ ในอาเซียน เนื่องจากการเดินทางสัญจรของประชากรในกลุ่มอาเซียนจะมีปริมาณ เพิ่มมากขึ้นในอนาคต" นายอัฌษไธค์ กล่าว

 

ด้าน นายวสุเชษฐ์ โสภณเสถียร นายกสมาคมผู้ประกอบการขนส่งทั่วไทย กล่าวว่า การเปิด AEC มีทั้งข้อดีและข้อเสีย หากเราสามารถปรับตัวได้ก่อน เรียนรู้ที่จะใช้โอกาส จากสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นได้ก่อน ย่อมสร้างความได้เปรียบให้กับเรา ทั้งนี้ นักธุรกิจไทยจะต้องปรับตัวและศึกษาเสาะหาแหล่งวัตถุดิบใน AEC ศึกษารสนิยมความต้องการใน AEC ดูความเป็นไปได้ในการย้ายฐานการผลิต ที่สำคัญต้องหันมามอง CLMV (กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม) โดย วิสัยทัศน์ใหม่ ทั้งนี้ ต้องพัฒนาปรับตัว ระบบต่างๆ ของบริษัทให้ใช้ประโยชน์โลจิสติกส์เต็มที่ รวมทั้งศึกษาและเสาะหาความเป็นไปได้ การตั้งธุรกิจ การใช้แรงงานจาก AEC เพื่อเปิดและเจาะตลาดคู่ค้าของอาเซียน

 

ขณะที่ทางด้าน นายสมชาย ทองคำคูณ กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานคณะผู้บริหารเครือชัยพัฒนาเชียงใหม่ กล่าวว่า เราต้องเตรียมตัวให้พร้อมก่อนลุย AEC ซึ่งการลุยไม่ได้หมายความว่าต้องแข่งขัน เอาเป็นเอาตายกับประเทศเพื่อนบ้าน เราต้องหาพันธมิตรเอาไว้ เพราะถ้ามีพวกพ้องการดำเนินธุรกิจต่างๆ ก็จะทำได้ง่าย ทั้งนี้ ต้องสร้างแรงบันดาลใจว่าธุรกิจเราจะเติบโตขึ้นไปอีก เนื่องจากประชากรชาติอาเซียนมีมากถึง 600 ล้านคน ตรงนี้จะเป็นช่องทางให้สามารถมีส่วนแบ่งทางการตลาดได้อีกมาก

 

"การทำแผนกลยุทธ์เป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะจะได้รู้ว่าเรามีจุดอ่อนจุดแข็งอย่าง ไร และความสามารถของเราจะสามารถ ออกไปดำเนินธุรกิจในชาติอาเซียนได้หรือไม่ ถ้าไปได้เราต้องหาทางปิดจุดอ่อน ของเราและสิ่งสำคัญอีกอย่างคือเรื่องคน เพราะการฝึกคนไม่สามารถหาซื้อได้ง่ายๆ และควรมีองค์ความรู้ในประเทศนั้นๆ ด้วย ฉะนั้นใครที่มองเห็นจุดต่างๆ ได้ดีที่สุดจะได้เปรียบในการดำเนินธุรกิจในยุค AEC" นายสมชาย กล่าวเสริม