LOGISTICS

ผู้ประกอบการรถใหญ่ จี้รัฐต่ออายุ CKD 0% เหตุปัจจัยกระทบหลายด้าน
POSTED ON 16/01/2557


 

ข่าวโลจิสติกส์ - นายพิชิต ราชวงศ์ รองประธานกรรมการ บริษัท ทีซีแมนูแฟคเจอริ่ง แอนด์ แอสเซมบลีย์ จำกัด ภายใต้กลุ่มตันจงอินเตอร์เนชั่นแนล กรุ๊ป เปิดเผยว่า แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมาประเทศไทยจะประสบกับปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่เข้ามากระทบ แต่ยังถือเป็นประเทศที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนเหนือกว่าประเทศอื่นๆ อยู่ เนื่องจากไทยมีความพร้อมทางด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ อาทิ นโยบายรัฐที่ส่งเสริมการลงทุน, ความพร้อมด้านผู้ผลิตชิ้นส่วน, ตลาดในประเทศที่มีความแข็งแกร่ง และเป็นศูนย์กลางในการขนส่ง

 

อย่างไรก็ตาม มีนโยบายอีกหนึ่งข้อที่รัฐต้องมีการแก้ไขโดยเร็วคือ การปลดล็อกหรือยืดระยะเวลาของนโยบายยกเว้นภาษี 0% สำหรับผู้ประกอบการที่ถอดแยกชิ้นส่วนแล้วนำเข้ามาประกอบในประเทศ หรือแบบซีเคดี ซึ่งนโยบายจะสิ้นสุดลงในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2558

 

สำหรับนโยบายดังกล่าวได้สร้างแรงจูงใจให้กับผู้ลงทุนก่อนหน้านั้น แต่ยังมีกลุ่มผู้ประกอบการจากจีน, เกาหลี, อินเดีย ที่เพิ่งจะสนใจลงทุนในประเทศไทย แต่เกิดความไม่มั่นใจว่าหากเข้ามาลงทุนแล้ว นโยบายจะสิ้นสุดลงในปีหน้าและมีการจัดเก็บภาษีขึ้นมา ระดับภาษีจะอยู่ที่เท่าไร และจะคุ้มกับการลงทุนหรือไม่อย่างไร

 

"ตอนนี้มีผู้ประกอบการหลายรายมาปรึกษาและพูดคุย เพราะสนใจจะลงทุนในไทย แต่ติดปัญหาที่นโยบายนี้ว่าหากสิ้นสุดแล้ว จะเป็นอย่างไร ซึ่งเราจะมีการเข้าไปพูดคุยกับตัวแทนของสำนักงานเศรษฐกิจการคลังที่ดูแลรับผิดชอบนโยบายนี้ และมีการนำเสนอข้อมูลถึงประโยชน์จากการปลดล็อกเงื่อนไขเวลานี้ออกไป โดยจะทำให้มีการลงทุนใหม่ๆ เกิดการจ้างงาน อุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องทั้งหมดจะได้รับอานิสงส์ซึ่งเราเชื่อมั่นว่าหากรัฐเปิดโอกาสและปลดล็อกนโยบายทันทีจะมีนักลงทุนเข้ามาลงทุนทันที โดยเฉพาะผู้ประกอบการจากจีนที่แสดงความสนใจมาก" นายพิชิต กล่าว

 

นอกจากนี้ นายพิชิตยังกล่าวถึงภาพรวมตลาดรถบรรทุก หัวลาก และรถบัสในปีที่ผ่านมาว่า มียอดผลิตจริงกว่า 5 หมื่นคัน แต่มียอดขายอยู่ที่ 4.6 หมื่นคัน ส่วนปี 2557 คาดว่ายอดผลิตและยอดขายจะต่ำกว่า 4 หมื่นคันโดยแผนงานของผู้ผลิตรถในปีนี้มีการลดกำลังการผลิตลงไปประมาณ 30% เนื่องจากมีสต็อกรถที่คงค้างมาจากในปีที่ผ่านมาเป็นจำนวนมาก

 

ตัวเลขการผลิตรถทุกประเภทในปีที่ผ่านมามีประมาณ 2.4 ล้านคัน ส่วนปีนี้น่าจะขยับขึ้นเพียง 1% หรือประมาณ 2.47 ล้านคันเท่านั้น โดยตลาดในประเทศจะมีการหดตัวลง แต่ตลาดส่งออกจะเพิ่มขึ้น ส่วนตลาดรถบรรทุก หัวลาก และรถบัสนั้นในช่วง 2 ปีที่ผ่านมามีดีมานด์เทียมเกิดขึ้นมาก โดยปี 2556 มียอดขายประมาณ 4.6 หมื่นคัน แต่มียอดผลิตจริงๆ เกือบ 5 หมื่นคัน ส่งผลให้ยอดผลิตที่เหลืออยู่ในตอนนี้ทำให้แต่ละค่ายต้องแบกสต็อก และต้องลดกำลังการผลิตลง

 

ขณะที่ภาพรวมของตลาดรถบรรทุกในปีนี้อาจจะลดลง เนื่องมาจากเศรษฐกิจในปีนี้ประสบภาวะเงินบาทอ่อน, ปัญหาทางด้านการเมือง, โครงการต่างๆ ที่หยุดชะงัก, เม็ดเงินที่ไหลเข้ามาลดลง, การปรับลดจีดีพี นอกจากนั้นแล้วภาคครัวเรือนมีหนี้สินสูง ส่งผลให้การบริโภคลดลง

 

ด้าน นายธนภัทร อินทวิพันธุ์ รองประธาน บริษัท ฟูโซ่ ทรัค(ประเทศไทย) จำกัด ผู้จัดจำหน่ายรถบรรทุกฟูโซ่ในประเทศไทย เปิดเผยว่า สถานการณ์ของผู้ประกอบการในธุรกิจรถบรรทุก, หัวลากในตอนนี้ได้ทำการลดกำลังการผลิต โดยบางค่ายลดลงมากว่า 50 % เพราะแบกภาระสต็อกล้นไม่ต่างจากรถยนต์นั่งเลย และคาดว่าในปีนี้การแข่งขันของตลาดรถบรรทุกจะดุเดือดกว่าปีที่ผ่านมา โดยจะมีการส่งแคมเปญต่างๆ อาทิ ซื้อรถแถมทอง, ดาวน์ 0% , ดอกเบี้ยต่ำ, แถมฟรีประกันภัย

 

ปีนี้จะได้เห็นการแข่งขันผ่านแคมเปญลดแลกแจกแถม ซึ่งแต่ก่อนตลาดรถบรรทุกจะไม่แข่งขันกันดุเดือดขนาดนี้ ทั้งนี้เพราะทุกค่ายต้องการเคลียร์สต็อกเดิมให้หมด และทำการกระตุ้นยอดขายของตัวเองให้ได้มากที่สุด

 

นายธนภัทร กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของฟูโซ่มีการตั้งเป้าหมายยอดขายในปีนี้จำนวน 2 พันคัน เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาที่ทำได้ประมาณ 1.7 พันคัน โดยกลยุทธ์ที่จะดันยอดขายจะมาจากผลิตภัณฑ์ กิจกรรมทางการตลาดที่เข้มข้นขึ้น ขณะที่ภาพรวมตลาดรถบรรทุกและหัวลาก ได้รับผลกระทบจากปัจจัยด้านการเมือง เนื่องจากโครงการต่างๆ ที่มีการอนุมัติจะผ่านรัฐและดำเนินงานผ่านเอกชน ซึ่งหากมีการสะดุดหรือชะลอออกไปก็จะกระทบ โดยคาดว่าจะมียอดขายรวมประมาณ 3 หมื่นคัน ลดลงจากปีที่ผ่านมาที่มียอดขายประมาณ 4.6 หมื่นคัน