LOGISTICS

ฮัทชิสัน พอร์ทเปิดท่าเทียบเรือชุด D ภายในท่าเรือแหลมฉบัง ชูเทคโนโลยีควบคุมระบบปฏิบัติงานจากระยะไกล ร
POSTED ON 03/04/2562


Tags : อุตสาหกรรม, ข่าวอุตสาหกรรม, สื่ออุตสาหกรรม, โรงงาน, เครื่องจักรกล, การผลิต, พลังงาน, โลจิสติกส์, Industry, Industrial, Industrial News, Industrial Media, Factory, Machinery, Machine, Manufacturing, Energy, Logistics

 

ฮัทชิสัน พอร์ท (ประเทศไทย) ผู้ประกอบการท่าเทียบเรือชั้นนำในประเทศไทย เปิดท่าเทียบเรือชุด D ภายในท่าเรือแหลมฉบัง อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรีอย่างเป็นทางการ ชูจุดเด่นใช้เทคโนโลยีควบคุมระบบปฏิบัติงานจากระยะไกล หรือระบบรีโมทคอนโทรลทั้งหมด เพื่อรองรับการขนส่งในอนาคต

ดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า โครงการท่าเทียบเรือชุด D ของบริษัท ฮัทชิสัน พอร์ท (ประเทศไทย) จำกัด เป็นโครงสร้างพื้นฐานอีกโครงการที่สำคัญของประเทศไทย ที่จะเชื่อมต่อโครงข่ายระบบคมนาคมซึ่งจะเข้ามารองรับการขนส่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตของเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ท่าเทียบเรือชุดใหม่นี้นับเป็นพื้นฐานคมนาคมขนส่ง ให้เชื่อมโยงฐานการผลิต แหล่งเกษตรกรรม และอุตสาหกรรม ทั้งยังเป็นประตูการค้าเพื่อเชื่อมต่อระหว่างรูปแบบการขนส่งขั้นพื้นฐานต่าง ๆ เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3สนามบิน โครงการรถไฟทางคู่จากแหล่งอุตสาหกรรมทั่วประเทศ ที่เชื่อมสู่ท่าเรือแหลมฉบัง มาบตาพุด และสัตหีบ สำหรับการขนส่งสินค้าระบบรางที่มีค่าใช้จ่ายต่ำ และโครงการพัฒนาท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา

 

โดยเทคโนโลยีสมัยใหม่ในท่าเทียบเรือชุด D จะช่วยยกระดับการให้บริการขนส่งและบริหารจัดการระบบคมนาคมขนส่งให้มีประสิทธิภาพสูงสุด สอดคล้องต่อนโยบาย Thailand 4.0โมเดลใหม่ของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศไทยที่มุ่งปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม นับเป็นโครงการที่สอดรับต่อ (ร่าง) ยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของไทย ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579) ของกระทรวงคมนาคม สอดคล้องต่อยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ของรัฐบาลที่ต้องการสร้างชาติที่มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน

สตีเฟ่น แอชเวิร์ธ กรรมการผู้จัดการ ฮัทชิสัน พอร์ท ประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า ท่าเทียบเรือชุด D เป็นท่าเรือขนาดใหญ่ที่สุดของท่าเรือแหลมฉบังในขณะนี้ ด้วยงบการลงทุน 20,000 ล้านบาท โดยในเฟสแรกที่สร้างเสร็จเมื่อกลางปี พ.ศ. 2561 ที่ผ่านมา มีความยาวหน้าท่า 400 เมตร มีปั้นจั่นยกตู้หน้าท่า 3 คัน ปั้นจั่นยกตู้สินค้าในลานแบบล้อยางไฟฟ้า 10 คัน ส่วนในเฟสที่เหลือคาดว่าประมาณกลางปี พ.ศ. 2562 จะก่อสร้างแล้วเสร็จทั้งโครงการ ซึ่งหากก่อสร้างแล้วเสร็จสมบูรณ์ทั้งโครงการในปี พ.ศ. 2566-2567 จะมีความยาวหน้าท่า 1,700 เมตร ความลึก 16 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ประกอบไปด้วย ปั้นจั่นยกตู้สินค้าหน้าท่า จำนวน 17 คัน และมีปั้นจั่นยกตู้สินค้าในลานแบบล้อยาง จำนวน 43 คัน สามารถรองรับตู้สินค้าได้ 3.5 ล้านทีอียูต่อปี มีการติดตั้งเทคโนโลยีควบคุมระบบปฏิบัติงานจากระยะไกล หรือรีโมทคอนโทรลทั้งหมด

“นับเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ที่การขนถ่ายตู้สินค้าขึ้นและลงเรือทั้งหมด ถูกปฏิบัติการด้วยปั้นจั่นควบคุมจากศูนย์กลางเพียงจุดเดียว ในห้องควบคุมสามารถเห็นได้ดีทั้งในเวลากลางวันและกลางคืนด้วยระบบติดตั้งที่ทันสมัย มีระบบเพิ่มความปลอดภัย สร้างความมั่นใจ ประหยัดเวลาในสายการเดินเรือ รวมถึงผู้ใช้งานท่าเทียบเรือในการขนถ่ายสินค้าได้เร็วขึ้น 20% และเมื่อโครงการนี้ก่อสร้างแล้วเสร็จจะช่วยเพิ่มความสามารถในการรองรับตู้สินค้าของท่าเรือแหลมฉบังได้อีกกว่า 40%” กรรมการผู้จัดการ ฮัทชิสัน พอร์ท ประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าว

ร.ต.ต.มนตรี ฤกษ์จำเนียร ผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง รักษาการแทนผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ท่าเรือแหลมฉบัง เป็นท่าเรือน้ำลึกหลักในการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ ที่มีโครงการพัฒนาต่าง ๆ ซึ่งมีส่วนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้มีการเติบโตเพิ่มมากขึ้น เช่น โครงการก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบัง ขั้นที่ 1 และขั้นที่ 2 ที่ได้เปิดให้บริการแล้ว รวมถึงโครงการพัฒนาต่าง ๆ ซึ่งพร้อมรองรับการพัฒนาสู่มาตรฐานการเป็นท่าเรือระดับโลก ได้แก่ โครงการท่าเรือแหลมฉบัง ขั้นที่ 3 โครงการพัฒนาศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟที่ท่าเรือแหลมฉบัง และโครงการพัฒนาท่าเทียบเรือชายฝั่ง (ท่าเทียบเรือ A) อีกด้วย รวมถึงโครงการพัฒนาต่างๆ ที่พร้อมรองรับการพัฒนาสู่มาตรฐานการเป็นท่าเรือระดับโลก ได้แก่ โครงการท่าเรือแหลมฉบัง ขั้นที่ 3 สำหรับโครงการพัฒนาศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟที่ท่าเรือแหลมฉบัง และโครงการพัฒนาท่าเทียบเรือชายฝั่ง (ท่าเทียบเรือ A)

ทั้งนี้ ท่าเรือแหลมฉบัง และฮัทชิสัน พอร์ท ประเทศไทย นับว่ามีความสัมพันธ์กันมาอย่างยาวนาน โดยได้เริ่มเปิดให้บริการในพื้นที่ของท่าเรือแหลมฉบัง มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2539 อีกทั้ง ฮัทชิสัน พอร์ท (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้มีประสบการณ์ในการทำงานด้านท่าเทียบเรือในระดับโลก เฉพาะที่ท่าเรือแหลมฉบัง ที่ได้ดำเนินการให้บริการอยู่ในท่าเทียบเรือ A2 A3 C1 และ C2