LOGISTICS

ฮัทชิสัน พอร์ทเปิดท่าเทียบเรือชุดDในแหลมฉบังอย่างเป็นทางการ
POSTED ON 02/02/2562


Tags : อุตสาหกรรม, ข่าวอุตสาหกรรม, สื่ออุตสาหกรรม, โรงงาน, เครื่องจักรกล, การผลิต, พลังงาน, โลจิสติกส์, Industry, Industrial, Industrial News, Industrial Media, Factory, Machinery, Machine, Manufacturing, Energy, Logistics, Economic

ฮัทชิสัน พอร์ท ประเทศไทย ผู้ประกอบการท่าเทียบเรือชั้นนำในประเทศไทยเปิดท่าเทียบเรือชุด D อย่างเป็นทางการ ณ ท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี โดยติดตั้งเทคโนโลยีควบคุมระบบปฏิบัติงานจากระยะไกล (Remote Control Technology) อย่างเต็มรูปแบบ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการปฏิบัติงาน พร้อมยกระดับประเทศไทยสู่ศูนย์กลางการขนส่งตู้สินค้าระดับโลก

Mr. Stephen Ashworth กรรมการผู้จัดการ Hutchison Ports ประจำประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวถึงความคืบหน้าของท่าเทียบเรือชุด D ว่า “เรารู้สึกภาคภูมิใจที่ได้มีส่วนช่วยส่งเสริมวิสัยทัศน์ของรัฐบาลไทยในเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศและการลงทุนในท่าเทียบเรือชุด D นี้ ถือเป็นการลงทุนครั้งล่าสุดของเราที่จะกระตุ้นศักยภาพของท่าเรือแหลมฉบัง เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกและเอื้อต่อความเจริญเติบโตของกิจการค้าของประเทศ”

ท่าเทียบเรือชุด D ใหม่นี้จะสามารถรองรับเรือเดินสมุทรขนาดใหญ่ในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี ช่วยเพิ่มความคล่องตัวและทางเลือกให้กับลูกค้า ควบคู่ไปกับการยกระดับของประสิทธิภาพและประสิทธิผลได้ในคราวเดียวกัน

เมื่อโครงการเสร็จสมบูรณ์แล้ว ท่าเทียบเรือชุด D ใหม่นี้ จะมีความยาวหน้าท่ารวมทั้งสิ้น 1,700 เมตร มีปั้นจั่นยกตู้สินค้าหน้าท่า (super post panamax quay cranes) จำนวน 17 คัน และมีปั้นจั่นยกตู้สินค้าในลานแบบล้อยางไฟฟ้า (electric rubber tyred gantry cranes) อีกจำนวน 43 คัน ที่ได้รับการติดตั้งเทคโนโลยีควบคุมระบบปฏิบัติงานจากระยะไกล ซึ่งส่งผลดีหลายประการ อาทิ เพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการปฏิบัติงาน ยกระดับสภาพแวดล้อมในการทำงานของพนักงานควบคุมปั้นจั่น เพิ่มศักยภาพความปลอดภัยด้านอุตสาหกรรม สร้างภาพแวดล้อมที่สะอาดเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ผ่านการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

Mr. Ashworth ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า “Hutchison Ports มีเครือข่ายท่าเทียบเรืออยู่ถึง 52 แห่ง ใน 26 ประเทศทั่วโลก เราสามารถดึงเอาความรู้ความชำนาญที่มีมาปรับใช้กับแหลมฉบังได้ เช่นเดียวกับการนำเอาหลักปฏิบัติที่ดีที่สุดในโลก เทคโนโลยีชั้นนำในระดับสากล ตลอดจนความสัมพันธ์อันแนบแน่นที่เรามีกับผู้ประกอบการขนส่งระดับแถวหน้าของโลกมาใช้กับที่นี่ได้ และด้วยความสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องในประเทศไทย เรามั่นใจว่าเทคโนโลยีอันล้ำสมัยของเราจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้ประเทศไทยสามารถเติบโตขึ้นได้อย่างยั่งยืน”

ทั้งนี้ ท่าเทียบเรือชุด D เป็นหนึ่งในท่าเทียบเรือขนส่งสินค้าแห่งแรกของโลกที่มีการติดตั้งเทคโนโลยีควบคุมระบบปฏิบัติงานจากระยะไกลอย่างเต็มรูปแบบ สำหรับปั้นจั่นหน้าท่าและปั้นจั่นยกตู้สินค้าในลานแบบล้อยางทั้งหมด โดยจะเป็นท่าเทียบเรือน้ำลึกที่ใหญ่และทันสมัยที่สุดในประเทศไทย พร้อมความสามารถในการรองรับบรรดาเรือขนส่งสินค้าขนาดใหญ่ที่สุดในโลก เฟสแรกของท่าเทียบเรือชุด D เปิดให้บริการแล้ว โดยมีความยาวหน้าท่า 400 เมตร ประกอบด้วยปั้นจั่นยกตู้สินค้าหน้าท่าที่ใหญ่ที่สุดในโลก (Super Post Panamax Quay Cranes) จำนวน 3 คัน และปั้นจั่นยกตู้สินค้าในลานแบบล้อยาง (Rubber Tyred Gantry Cranes) จำนวน 10 คัน ซึ่งในการก่อสร้างขั้นต่อมา ปั้นจั่นยกตู้สินค้าหน้าท่าจำนวน 3 คัน และปั้นจั่นยกตู้สินค้าในลานแบบล้อยางจำนวน 10 คัน ได้ถูกขนส่งมายังท่าเทียบเรือในวันที่ 29 มกราคม 2562 ที่ผ่านมา และจะพร้อมใช้งานภายในไม่กี่เดือนข้างหน้า

เมื่อโครงการเสร็จสมบูรณ์ ท่าเทียบเรือชุด D จะมีความยาวหน้าท่ารวมทั้งสิ้น 1,700 เมตร ประกอบไปด้วยปั้นจั่นยกตู้สินค้าหน้าท่าจำนวน 17 คัน และมีปั้นจั่นยกตู้สินค้าในลานแบบล้อยางจำนวน 43 คัน ทั้งหมดใช้เทคโนโลยีควบคุมระบบปฏิบัติงานจากระยะไกล เพิ่มความสามารถในการรองรับตู้สินค้าได้ราว 3.5 ล้านทีอียูต่อปี (หน่วยนับตู้สินค้าขนาด 20 ฟุต) โดยเพิ่มความสามารถในการรองรับตู้สินค้าของท่าเทียบเรือแหลมฉบังได้อีกราว 40 เปอร์เซ็นต์ หรือให้สามารถรองรับตู้สินค้าได้ทั้งสิ้น 13 ล้านทีอียู ทั้งนี้ การเลือกใช้เทคโนโลยีการควบคุมระบบปฏิบัติงานจากระยะไกลจะเพิ่มความปลอดภัย ประสิทธิภาพและประสิทธิผล ให้กับสายการเดินเรือ รวมถึงผู้ใช้งานท่าเทียบเรือรายอื่นๆ

ล่าสุด เมื่อช่วงเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ฮัทชิสัน พอร์ท ประเทศไทย ได้ต้อนรับเรือขนส่งสินค้าขนาดใหญ่ที่สุดที่เคยเข้าเทียบท่าในประเทศไทย ซึ่งท่าเทียบเรือชุด D เป็นท่าเทียบเรือแห่งแรกในประเทศไทยที่มีศักยภาพรองรับเรือขนส่งสินค้าที่มีความยาวรวมเกิน 350 เมตร โดยได้ต้อนรับเรือขนส่งสินค้า “ONE COLUMBA” ของสายการเดินเรือ โอเชี่ยน เน็ตเวิร์ค เอ็กซ์เพรส (Ocean Network Express - ONE)