LOGISTICS

สคช. ผนึก 5 สมาคมโลจิสติกส์วางแผนเชิงรุกเจาะตรงบริษัท ดึงคนคุณภาพเข้าประเมินคุณวุฒิวิชาชีพ
POSTED ON 07/09/2561


สคช. ผนึก 5 สมาคมโลจิสติกส์ วางแผนนโยบายเชิงรุก มุ่งให้บุคลากรเห็นถึงประโยชน์ที่จะได้รับจากการเข้ารับการประเมินและได้รับใบประกาศนียบัตรคุณวุฒิวิชาชีพมากขึ้น พร้อมทั้งขยายพื้นที่ในวงกว้างมุ่งเจาะตรงเข้าถึงบริษัทต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เริ่มดำเนินการไปแล้ว 7-8 แห่ง ตั้งเป้าปี 2562 มีผู้เข้ารับการประเมินเพิ่มขึ้น 70% ล่าสุดตั้งองค์กรรับรองในธุรกิจโลจิสติกส์เพิ่มอีก 3 แห่ง ด้าน TIFFA งัดแผนจูงใจสมาชิก หากผ่านการประเมินพร้อมปรับฐานเงินเดือนเพิ่ม 1,500 บาท

 

นายพิสิฐ รังสฤษฎ์วุฒิกุล ผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ หรือ สคช. เปิดเผยว่า จากนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยแลนด์ยุค 4.0 ด้วยการสร้างประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางทางด้านโลจิสติกส์ในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC เพื่อดึงผู้ให้บริการทั้งไทยและต่างประเทศเข้ามาตั้งฐานทัพการค้า บริการขนส่งโลจิสติกส์ในไทย ล่าสุด  สคช. ได้วางนโยบายเชิงรุกด้วยร่วมมือกับพันธมิตรหลัก 5 สมาคมทางด้านโลจิสติกส์ ซึ่งประกอบด้วย สมาคมผู้รับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ (TIFFA) สมาคมตัวแทนออกของรับอนุญาตไทย (TACBA) สมาคมธุรกิจคลังสินค้า ไซโล และห้องเย็น  สมาคมขนส่งและโลจิสติกส์ไทย (TTLA) และสมาคมบริหารงานจัดซื้อและซัพพลายเชนแห่งประเทศไทย (สจซท)  เพื่อดึงคนในสาขาวิชาชีพโลจิสติกส์เข้ามารับการประเมินคุณวุฒิวิชาชีพในแขนงต่างๆ เพิ่มขึ้น โดยมุ่งเน้นให้เห็นถึงประโยชน์ที่จะได้รับจากการเข้ารับการประเมินและได้รับใบประกาศนียบัตรคุณวุฒิวิชาชีพมากขึ้น ซึ่งภายในสิ้นปี 2561 คาดว่าจะมีบุคลากรในธุรกิจโลจิสติกส์ขอรับการประเมินไม่ต่ำกว่า 5,000 คน หรือมีอัตราการเติบโต 100% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา และตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมามีบุคลากรในสาขาวิชาชีพโลจิสติกส์ที่ได้เข้ารับการประเมินจาก สคช. แล้ว ไม่ต่ำกว่า 30,000 คน ถือเป็นอันดับ 1 ของสาขาวิชาชีพทั้งหมด

 

“ที่ผ่านมา สคช.ได้มีความร่วมมือกับหน่วยงานทางด้านโลจิสติกส์อย่างต่อเนื่อง โดยคนในสาขาวิชาชีพโลจิสติกส์เริ่มรู้จักบทบาทและหน้าที่ของ สคช. มากขึ้น ซึ่งแผนเชิงรุกนับจากนี้เป็นต้นไป สคช. จะมุ่งเน้นให้บุคคลที่เกี่ยวข้องกับสาขาอาชีพโลจิสติกส์ รวมถึงผู้ประกอบการได้เห็นถึงประโยชน์ในการเข้ารับประเมินเพื่อขอใบประกาศนียบัตรคุณวุฒิวิชาชีพและหนังสือรับรองมาตรฐานอาชีพ  ซึ่งล่าสุด สคช.  ได้ร่วมกับ TIFFA และ TACBA จัดงานสัมมนาให้ความรู้เกี่ยวกับคุณประโยชน์ของมาตรฐานอาชีพโลจิสติกส์ ต่อความก้าวหน้าในอนาคต ที่จัดขึ้นในงาน TILOG LogistiX 2018 โดยภายในงานนอกเหนือจากตัวแทนสมาคมที่เกี่ยวข้องแล้ว ยังมีผู้ที่ได้รับการประเมินคุณวุฒิวิชาชีพ ได้ถ่ายทอดประสบการณ์การเข้ารับประเมินและประโยชน์ รวมถึงความก้าวหน้าในสาขาอาชีพหลังจากที่ได้รับใบประกาศนียบัตรคุณวุฒิวิชาชีพและหนังสือรับรองมาตรฐานอาชีพด้วย” นายพิสิฐ กล่าว

 

นอกเหนือจากการวางแผนเชิงรุกที่ร่วมมือกับ 5 สมาคม เพื่อให้บุคคลที่เกี่ยวข้องในสาขาวิชาชีพโลจิสติกส์ได้เห็นถึงประโยชน์และการนำใบประกาศนียบัตรคุณวุฒิวิชาชีพและหนังสือรับรองมาตรฐานอาชีพไปใช้ ซึ่งถือเป็นยุทธศาตร์หลักแล้ว  สคช.จะมุ่งเน้นยุทธศาสตร์รอง ด้วยการเน้นการทำงานในเชิงคุณภาพ  โดยการมุ่งเจาะตรงไปยังบริษัทต่างๆ ที่เกี่ยวข้องภายในสมาคมพันธมิตร อาทิ เครืออีเกิล ที่ประกอบธุรกิจด้านขนส่งครบวงจร ซึ่งได้เริ่มต้นไปแล้ว 7-8 บริษัท ทั้งนี้จากแผนดำเนินการดังกล่าวคาดว่าในปี 2562 จะมีบุคคลที่เกี่ยวข้องกับสาขาวิชาชีพโลจิสติกส์เข้ารับการประเมินกับทาง สคช.เพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 60-70% หรือประมาณ 8,000 คน

 

ขณะเดียวกัน สคช.ได้มีการจัดตั้งองค์กรรับรอง หรือ CB (Certification Body) ซึ่งมีหน้าที่ในการจัดสอบ เพื่อทดสองสมรรถนะของบุคคลในอาชีพต่างๆ ในสาขาวิชีพโลจิสติกส์เพิ่ม 3 องค์กร แบ่งเป็นสถาบันการศึกษา 2 แห่ง คือ มหาวิทยาลัยราชภัฎรำไพพรรณี จ.จันทบุรี และวิทยาลัยพณิชยการบางนา และกลุ่มบริษัทในเครือ วี-เซิร์ฟ กรุ๊ป

 

ด้านนายเกตติวิทย์ สิทธิสุนทรวงศ์ นายกสมาคมผู้รับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ (TIFFA) กล่าวว่า ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ผู้ประกอบการในธุรกิจโลจิสติกส์ประสบกับปัญหาการขาดแคลนบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจต้นน้ำถึงปลายน้ำ ซึ่งความร่วมมือกับทาง สคช. นอกเหนือจากเป็นการยกระดับมาตรฐานอาชีพและพัฒนาศักยภาพของคนในสาขาวิชาชีพแล้ว ยังถือเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนแผนการผลักดันประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางทางด้านโลจิสติกส์ในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ซึ่งในอนาคตบุคคลที่ได้รับการประเมินเหล่านี้ สามารถสร้างการเติบโตให้กับตนเองด้วยการจะไปทำงานในกลุ่มประเทศ AEC ได้ โดยปีนี้สมาคมฯ ตั้งเป้าผลักดันให้บริษัทสมาชิกเข้ารับการประเมินในระดับ 2-4 แล้ว ไม่ต่ำกว่า 800 คน

 

ส่วนนายเลิศชาย พงษ์โสภณ นายกสมาคมตัวแทนออกของรับอนุญาตไทย (TACBA) กล่าวว่า ปัจจุบันผู้ประกอบการในธุรกิจผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์ นำเข้าและส่งออกกว่า 700 บริษัท ต้องเจอกับปัญหาการขาดแคลนบุคลากรอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการสูญเสียโอกาสทั้งด้านเวลาและเงินทุนจากการฝึกอบรมผู้ที่ไม่มีความชำนาญในสาขาวิชาชีพ ซึ่งการที่ สคช.เปิดให้มีการประเมินบุคลากรในสาขาวิชาชีพโลจิสติกส์จะช่วยในเรื่องของการลดต้นทุนและในการสรรหาคนที่มีความเชี่ยวชาญในสาขาวิชาชีพได้มากขึ้น รวมทั้งเพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้บุคลากรที่เกี่ยวข้องเข้ามารับการประเมินมากขึ้น ทางสมาคมฯ ได้เปิดให้ผู้สนใจเข้ารับการประเมินฟรีต่อเนื่อง โดยจะมีค่าใช้จ่ายในการสมัครและค่าใบประกาศนียบัตรคุณวุฒิวิชาชีพประมาณ 250-450 บาท จากปกติที่จะต้องจ่ายเงินเป็นจำนวนกว่า 3,000 บาท