LOGISTICS

กรมขนส่งฯ ลุยสร้างสถานีขนส่งสินค้า 19 แห่งทั่วประเทศ งบลงทุนกว่า 1.5 หมื่นล้านบาท
POSTED ON 05/02/2561


Tags : อุตสาหกรรม, ข่าวอุตสาหกรรม, สื่ออุตสาหกรรม, โรงงาน, เครื่องจักรกล, การผลิต, พลังงาน, โลจิสติกส์, Industry, Industrial, Industrial News, Industrial Media, Factory, Machinery, Machine, Manufacturing, Energy, Logistics

 

 

ประชาชาติธุรกิจ รายงานเมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า นายสนิท พรหมวงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ได้ออกมาเปิดเผยถึงแผนแม่บท (master plan) การพัฒนาสถานีขนส่งสินค้าใช้เวลาพัฒนา 7 ปี (พ.ศ.2558-2565) จำนวน 22 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งปัจจุบันดำเนินการแล้วในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล 3 แห่ง ได้แก่ พุทธมณฑล คลองหลวง และร่มเกล้า อีก 19 แห่งอยู่ในแผนดำเนินงาน โดยมีทั้งขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ ขณะนี้กำลังจัดหาพื้นที่เพื่อดำเนินการ คาดว่าจะใช้เงินก่อสร้าง 15,967.42 ล้านบาท แยกเป็น สถานีขนส่งสินค้าจังหวัดชายแดน 11 แห่ง ค่าก่อสร้าง 8,790.44 ล้านบาท เริ่มดำเนินการที่เชียงของเป็นแห่งแรก เนื้อที่ 330 ไร่ ค่าก่อสร้าง 1,360 ล้านบาท เสร็จปี 2563 จะเป็นศูนย์เปลี่ยนถ่ายขนส่งสินค้าระหว่างประเทศผ่านสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 4 (เชียงของ-ห้วยทราย) และถนน R3A จากไทยผ่าน สปป.ลาว จีนตอนใต้ และเวียดนาม

 

ในปี 2561 จะดำเนินการที่นครพนม เนื้อที่ 115 ไร่ ค่าก่อสร้าง 846.23 ล้านบาท เปิดบริการปี 2564 จากนั้นเป็นที่แม่สอด เนื้อที่ 140 ไร่ ค่าก่อสร้าง 748.88 ล้านบาท สระแก้ว เนื้อที่ 100 ไร่ ค่าก่อสร้าง 584.65 ล้านบาท สงขลา เนื้อที่ 178ไร่ ค่าก่อสร้าง 1,268.43 ล้านบาท มุกดาหาร เนื้อที่ 108 ไร่ ค่าก่อสร้าง 534.65 ล้านบาท หนองคาย เนื้อที่ 139 ไร่ ค่าก่อสร้าง 755.57 ล้านบาท แม่สาย เนื้อที่ 78 ไร่ ค่าก่อสร้าง 512.31 ล้านบาท นราธิวาส เนื้อที่ 79 ไร่ ค่าก่อสร้าง 613.60 ล้านบาท ตราด เนื้อที่ 77 ไร่ ค่าก่อสร้าง 841.98 ล้านบาท จะเปิดบริการในปี 2565 ส่วนกาญจนบุรีจะชะลอการพัฒนาไว้ก่อน ตามแผนจะเสร็จในปี 2576 มีเนื้อที่ 171 ไร่ ค่าก่อสร้าง 723.98 ล้านบาท

 

อีก 8 แห่งเป็นสถานีขนส่งสินค้าเมืองหลัก ค่าก่อสร้าง 7,176 ล้านบาท ได้แก่ เชียงใหม่ เนื้อที่ 95 ไร่ ค่าก่อสร้าง 937 ล้านบาท พิษณุโลก เนื้อที่ 61 ไร่ ค่าก่อสร้าง 633 ล้านบาท ขอนแก่น เนื้อที่ 140 ไร่ ค่าก่อสร้าง 1,115 ล้านบาท นครราชสีมา เนื้อที่ 138 ไร่ ค่าก่อสร้าง 1,064 ล้านบาท สุราษฎร์ธานี เนื้อที่ 150 ไร่ ค่าก่อสร้าง 1,146 ล้านบาท จะเปิดบริการในปี 2566 ส่วนนครสวรรค์เปิดบริการปี 2569 มีเนื้อที่ 277 ไร่ ค่าก่อสร้าง 463 ล้านบาท อุบลราชธานี เนื้อที่ 109 ไร่ ค่าก่อสร้าง 863.34 ล้านบาท เปิดบริการปี 2573 และปราจีนบุรี เนื้อที่ 105 ไร่ ค่าก่อสร้าง 952 ล้านบาท จะชะลอโครงการออกไปก่อน

 

การพัฒนาโครงการในเขตเศรษฐกิจชายแดนจะมีบางแห่งที่รัฐดำเนินการเองทั้งก่อสร้างและการบริหารจัดการ เช่น แม่สาย แม่สอด สระแก้ว นราธิวาส ตราด และให้เอกชนลงทุน PPP รับสัมปทานบริหารพื้นที่ โดยรัฐก่อสร้างและเวนคืนที่ดินให้ เช่น เชียงของ จะเปิดประมูลในปีนี้ ให้สัมปทานเอกชน 15 ปี นอกจากนี้ มีนครพนม หนองคาย มุกดาหาร สงขลา ส่วนพื้นที่เมืองหลักที่รัฐจะดำเนินการเองมี พิษณุโลก นครราชสีมา ที่เหลือให้เอกชนบริหารจัดการ

 

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า แผนการก่อสร้างศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้า 22 แห่งทั่วประเทศ ส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนตามนโยบายรัฐบาล กรมการขนส่งทางบกนำร่องที่ อ.เชียงของ จ.เชียงราย เป็นแห่งแรก และใหญ่ที่สุดของแผนแม่บท เนื่องจากเชียงของอยู่ในแนวเส้นทางการเชื่อมโยงระหว่างประเทศภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง และ GMS มีการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 4 ที่เปิดบริการปี 2556 มีการขนส่งสินค้าจาก สปป.ลาว และจีน เพิ่มขึ้นทุกปี เฉลี่ยปีละ 10-15% ในปี 2560 อยู่ที่ 21,000 ล้านบาท และปี 2561 จะแตะที่ 30,000 ล้านบาท นับว่ามีมูลค่าสูง และทำให้เศรษฐกิจชายแดนดีขึ้น

 

“การเปิดสะพานข้ามโขงแห่งที่ 4 นั้น มีปริมาณรถบรรทุกเพิ่มขึ้นทุกปี ปีที่ผ่านมามีรถบรรทุกสินค้าที่วิ่งระหว่างชายแดนไทย-ลาว อยู่ที่ประมาณ 1.25 แสนคัน เฉลี่ยวันละประมาณ 160 คัน สูงสุดวันละ 200 คัน และในอนาคตก็มีแนวโน้มที่จะขยายตัวเพิ่มมากขึ้น แต่ด้วยข้อจำกัดเรื่องข้อกฎหมายการจราจรที่ไม่เหมือนกันของแต่ละประเทศ จึงทำให้ต้องลงทุนสร้างศูนย์เปลี่ยนถ่ายขนส่งสินค้าที่เชียงของ เพื่อเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์รองรับรถบรรทุกสินค้าทุกประเทศที่ขนสินค้าผ่านแดน” นายอาคม กล่าว

 

นอกจากนี้ ภาพของ อ.เชียงของจะเปลี่ยนไป หลังเปิดใช้สะพานเชื่อมพรมแดนไทย-ลาว และศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้า จะทำให้เกิดความสะดวกสบายด้านการขนส่งสินค้าโดยรถบรรทุกระหว่างประเทศมากขึ้น ในอนาคตจะเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งสินค้าจากรถยนต์ไปสู่ระบบรางมากขึ้น ตามแผนพัฒนาระยะที่ 2 จะมีการขนส่งเชื่อมกับรถไฟทางคู่เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ระยะทาง 323 กิโลเมตร ที่จะสร้างจากสถานีเชียงของเข้ามายังศูนย์ขนส่งสินค้าเชียงของ ระยะทางประมาณ 6 กิโลเมตร จะทำให้การขนส่งสินค้าจากจีนไปท่าเรือแหลมฉบังได้เร็วขึ้น และเชียงของก็จะเป็นแห่งแรกที่จะแยกระหว่างผู้โดยสารกับสินค้าที่ผ่านด่านออกจากกัน และจะขอให้บรรจุด่านเชียงของเป็นด่านตรวจร่วมกันตามข้อตกลง GMS

 

“เชียงของจะเป็นศูนย์โลจิสติกส์ภาคเหนือ ทำให้การขนส่งสินค้าของไทยไปภาคใต้ของจีนสะดวกขึ้น ทำให้มูลค่าการค้าเพิ่มมากขึ้นอีก เพราะจะสามารถไปยังคุนหมิง มณฑลยูนนาน สิบสองปันนา เชื่อมต่อไปหลวงพระบาง เวียดนาม และหนานหนิง หรือว่าลงมาทางกวางเจาก็ได้ จะเป็นส่วนหนึ่งของการเกาะเกี่ยว One Belt One Road ของจีน” นายอาคม กล่าว

 

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ