LOGISTICS

ม็อบยืดเยื้อ ฉุด "ขนส่งสินค้าทางเรือ" ร่วง ทุบยอดส่งออกไตรมาสแรกปี 2557
POSTED ON 04/01/2557


 

ข่าวโลจิสติกส์ - สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย ระบุชัดว่า มูลค่าการส่งออกไทยเดือนตุลาคม 2556 มีมูลค่า 19,393.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 0.67 ในรูปเงินบาทมีมูลค่า 603,082.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.94 จากตัวเลขการส่งออกรวมของไทยในระยะ 10 เดือนที่ผ่านมา ประกอบกับสถานการณ์ทางการเมืองในขณะนี้ จึงเป็นที่แน่ชัดแล้วว่าตัวเลขการส่งออกรวมของไทยทั้งปี 2556 น่าจะเติบโตได้เพียง 0.5% เท่านั้น

 

สำหรับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกในปีหน้ามีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น เห็นได้ชัดจากอุปสงค์ภาคครัวเรือนของสหรัฐอเมริกามีการปรับตัวดีขึ้น เศรษฐกิจสหภาพยุโรปมีแนวโน้มฟื้นตัว เศรษฐกิจจีนและเอเชียมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราที่ใกล้เคียงกับปี 2556 แม้ว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นมีแนวโน้มชะลอตัว แต่ในภาพรวมเชื่อว่าจะมีทิศทางเป็นบวก ด้วยปัจจัยดังกล่าวข้างต้น สภาผู้ส่งออกฯ จึงคาดการณ์การส่งออกปี 2557 เติบโตที่ 5%

 

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าเศรษฐกิจโลกโดยรวมในปี 2557 จะปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้น แต่การฟื้นตัวอย่างช้าๆ ของสภาวะเศรษฐกิจโลกนั้น ไม่ได้ทำให้ความต้องการสินค้าในตลาดโลกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ดังนั้น การกระตุ้นตัวเลขการส่งออกด้าน Demand side ด้วยกลยุทธ์ทางการตลาดเพียงอย่างเดียวจึงไม่เพียงพอที่จะผลักยอดส่งออกของไทยให้เติบโตได้ตามเป้า สิ่งที่ต้องหันมาให้ความสำคัญในขณะนี้คือการปรับโครงสร้างภาคการส่งออกซึ่งเป็นด้าน Supply side ให้สามารถแข่งขันได้ภายใต้สภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีการแข่งขันอย่างรุนแรง

 

ดังนั้น สภาผู้ส่งออกฯ จึงได้จัดทำร่างยุทธศาสตร์ส่งออกไทยซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อปรับโครงสร้างการส่งออกให้แข็งแกร่ง และมีประสิทธิภาพสามารถแข่งขันได้ และได้นำเสนอต่อรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เมื่อวันที่ 11 พ.ย.2556 ที่ผ่านมา และเมื่อสถานการณ์การเมืองภายในประเทศสงบลงสภาผู้ส่งออกฯ จะนำเสนอยุทธศาสตร์ดังกล่าวต่อนายกรัฐมนตรี และกระทรวงที่เกี่ยวข้องทั้งหมด พร้อมทั้งผลักดันการส่งออกเป็นวาระแห่งชาติเพื่อให้ทุกฝ่ายร่วมกันแก้ไขปัญหาอย่างบูรณาการ

 

นายนพพร เทพสิทธา ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือฯ กล่าวว่า ในส่วนของเนื้อหาในยุทธศาสตร์การพัฒนาการส่งออกไทย (TNSC's Export Strategy Model) นั้นมุ่งยกระดับการค้าระหว่างประเทศของไทยให้เป็นศูนย์กลางทางการค้า (Trading Nation) และการผลิตที่สร้างมูลค่าเพิ่ม โดยเน้นการเชื่อมโยงระหว่างอุตสาหกรรมต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ในระดับภูมิภาคเพื่อการส่งออก ซึ่งร่างยุทธศาสตร์ดังกล่าวได้มีการเสนอแผนรายอุตสาหกรรมสำหรับ 13 อุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ อุตสาหกรรมยางพาราและผลิตภัณฑ์, เฟอร์นิเจอร์, ยานยนต์ และชิ้นส่วนยานยนต์, เครื่องสำอาง, อัญมณี และเครื่องประดับ, เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์, สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม, กระดาษและบรรจุภัณฑ์กระดาษ, พลาสติก และผลิตภัณฑ์พลาสติก, เครื่องจักรและอุปกรณ์, สินค้าเกษตร (ข้าว น้ำตาล มันสำปะหลัง), อาหาร, เครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น

 

นอกจากนี้ ยังเสนอให้มีการปรับโครงสร้างในภาคการส่งออกของไทย ตั้งแต่การปรับระบบโลจิสติกส์และโครงสร้างพื้นฐาน การอำนวยความสะดวกทางการค้าและกฎระเบียบต่างๆ การพัฒนาบุคลากรด้านการส่งออกและแรงงาน รวมทั้งยกระดับการวิจัยและพัฒนาเพื่อแก้ไขปัญหาและขับเคลื่อนภาคการส่งออกไทยให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน

 

"สภาผู้ส่งออกฯ มีความเป็นห่วงต่อสถานการณ์การเมืองและการประท้วง ซึ่งกินเวลานานมากขึ้นและยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้ในปัจจุบัน แม้ว่าจะไม่ส่งผลกระทบมากนักต่อการส่งออกในขณะนี้ เพราะสัญญาซื้อขายต่างๆ ได้ตกลงไว้ก่อนหน้าและสามารถทยอยส่งมอบสินค้าได้ตามกำหนด เพราะไม่มีการปิดท่าเรือหรือท่าอากาศยาน แต่สถานการณ์ที่ลากยาวจะกลายเป็นสาเหตุ ที่ทำให้ผู้ซื้อในต่างประเทศขาดความเชื่อมั่น และไม่เข้ามาเจรจาธุรกิจในประเทศไทย ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อยอดขายสินค้าในช่วงไตรมาส 1-2 ของปีหน้า จึงอยากเสนอให้รัฐบาลและผู้ประท้วงรีบดำเนินการเพื่อหาข้อสรุปร่วมกันโดยเร็วที่สุด" นายนพพร กล่าว

 

ทั้งนี้ ทางสภาผู้ส่งออกฯ ได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมร่วม Asian Shippers' Meeting และ European Shippers' Council ณ จังหวัดเชียงราย เมื่อวันที่ 23-25 พฤศจิกายน 2556 ที่ผ่านมา โดยมีผู้แทนจากเอเชียและสหภาพยุโรปเข้าร่วมประชุมและได้หารือเกี่ยวกับประเด็นทางการค้าและการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ โดยที่ประชุมได้มีการพิจารณาและมีความเห็นร่วมกันเกี่ยวกับบทบาทของภาครัฐในการตอบสนองต่อกฎระเบียบที่อาจเกิดขึ้น และการรวมกลุ่มของสายเรือขนาดใหญ่ดังต่อไปนี้

 

มาตรการชั่งน้ำหนักตู้สินค้า (Container Weight Verification Rules) โดย International Maritime Organization (IMO) เพื่อแก้ไขปัญหาความปลอดภัยทางการขนส่งทางทะเลด้วยตู้คอนเทนเนอร์ ที่ประชุมได้มีข้อสรุปว่าแนวทางที่เหมาะสมคือ ต้องกำหนดมาตรการและขั้นตอนการแจ้งข้อมูลและยืนยันน้ำหนักตู้สินค้าที่สอดคล้องกับเวลาปฏิบัติงานจริง (Timely Declaration) และต้องกำหนดแนวทางที่ชัดเจนในการใช้ข้อมูลน้ำหนักตู้สินค้าดังกล่าวไปใช้ในการวางแผนบรรจุตู้สินค้าบนเรือ (Stow-age Plan) นอกจากนี้ มาตรการที่ออกมาควรคำนึงถึงการบรรจุตู้สินค้าบนเรือที่เหมาะสม (Proper Stowage) การกระทบของตู้สินค้าบนเรือ (Lashing of Containers) และการซ่อมบำรุงเรือสินค้า (Maintenance of vessels) เป็นหลัก

 

การรวมตัวของสายเรือขนาดใหญ่ 3 สาย ได้แก่ Maersk Line, MSC และ CMA ภายใต้ชื่อ P3 Network ซึ่งอาจนำไปสู่การ เข้าควบคุมตลาดของสายเรือทั้ง 3 สาย ลดการแข่งขันและการพัฒนาคุณภาพการให้บริการ และอาจก่อให้เกิดการรวมตัวขึ้นค่าระวางหรือค่าใช้จ่ายกับผู้นำเข้า-ส่งออก ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของผู้ส่งออกและภาครัฐในแต่ละประเทศที่จะต้องจับตาดูเงื่อนไขข้อตกลงที่จะตามมาในอนาคต เพื่อมิให้เกิดการบิดเบือนของกลไกตลาดโดยการเป็นผู้ควบคุมตลาด อันจะส่งผลกระทบในการลดทอนอำนาจต่อรอง และการแข่งขันอย่างไม่เป็นธรรมในทางธุรกิจ

 

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นชอบให้มีการรวมกลุ่ม Shippers' Council ในอาเซียน เพื่อรองรับการเปิด AEC ในปี 2015 ซึ่งสภาผู้ส่งออกฯ รับหน้าที่ในการเชิญ Vietnam National Shippers' Council เข้ามาร่วมกลุ่มในการประชุมครั้งต่อไป และจะมีการผลักดันให้ประเทศพม่า กัมพูชา และลาว มีการจัดตั้ง Shippers' Council ขึ้นภายในประเทศ เพื่อผลักดันให้เกิดการพัฒนามาตรฐานด้านโลจิสติกส์ และการอำนวยความสะดวกทางการค้าร่วมกันในระดับภูมิภาคอีกทางหนึ่ง

 

ที่มา : สยามธุรกิจ