LOGISTICS

สรท.ห่วงค่าระวางปรับขึ้น หลังฮันจินล้มละลาย
POSTED ON 15/09/2559


โลจิสติกส์อุตสาหกรรม 15 ก.ย.2559 - นายคงฤทธิ์ จันทริก ผู้อำนวยการบริหาร สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า เป็นห่วงว่าค่าระวางเรือจะปรับขึ้นในระยะสั้นจากผลกระทบที่บริษัท ฮันจิน ชิปปิ้ง ของเกาหลีใต้ ประสบภาวะล้มละลาย เพราะผู้ส่งออกต้องเปลี่ยนมาใช้บริการสายการเดินเรืออื่นทดแทน ซึ่งทำให้ต้นทุนของผู้ส่งออกเพิ่มขึ้น แต่หากเป็นการปรับขึ้นค่าระวางเรือระยะสั้นคงไม่ขอให้ภาครัฐช่วยเหลือ ถ้าเป็นการปรับขึ้นถาวรก็อยากให้ภาครัฐเข้ามาช่วยดูแลด้วย

 

"เรื่องฮันจินล้มละลาย ถือว่าอยู่เหนือความคาดหมายมาก แม้ว่าขณะนี้การเดินเรือจะมีการแข่งขันรุนแรง แต่หลายบริษัทก็ได้ปรับตัวด้วยการควบรวมกิจการ เพื่อให้ธุรกิจอยู่รอดได้ คิดว่าไม่น่าจะมีล้มละลายอีก" นายคงฤทธิ์ กล่าว

 

ด้าน นางจันทิรา ยิมเรวัต วิวัฒน์รัตน์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า จากกรณีที่ฮันจินประสบปัญหาล้มละลายนั้น ได้มอบหมายให้ผู้อำนวยการส่งเสริมการค้าในต่างประเทศทั่วโลกติดตามผลกระทบจากกรณีดังกล่าวอย่างใกล้ชิด โดยให้ติดตามเรือของฮันจินที่เทียบท่าเรือในประเทศต่าง ๆ เพื่อขนถ่ายสินค้าของผู้ประกอบการไทย ซึ่งขณะนี้ได้เร่งช่วยเหลือเรือของฮันจินที่เทียบท่าเรือของอิตาลี, สเปน, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) แล้ว อย่างไรก็ดี ขอให้ผู้ประกอบการทำประกันความเสี่ยงไว้ด้วย

 

ขณะที่ทางด้าน นายเกตติวิทย์ สิทธิสุนทรวงศ์ นายกสมาคมผู้รับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ (TIFFA) กล่าวว่า เกรงว่าสายการเดินเรืออื่น ๆ มีโอกาสจะล้มละลายตามฮันจิน เพราะขณะนี้สายเดินเรือทั่วโลกต่างมีการแข่งขันกันสูง ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจโลกตกต่ำ ทำให้การบริการสายเดินเรือมีจำนวนมากกว่าความต้องการใช้บริการ ภายหลังจากการส่งออกทั่วโลกที่ลดลง ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยต้องเร่งปรับตัวด้วยการทำประกันความเสี่ยงเพื่อรองรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

 

นายนพพร เทพสิทธา ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า ที่ผ่านมาฮันจินได้รับความนิยมในการขนส่งสินค้าระหว่างเอเชียกับยุโรป หากมีการอายัดทรัพย์สินของบริษัทฯอาจจะกระทบต่อสินค้าที่อยู่ระหว่างส่งมอบลงท่าเรือ หรืออยู่ระหว่างทรานส์ชิปเมนต์ (Transshipment) ทำให้ไม่สามารถดำเนินการส่งสินค้าไปยังจุดหมายปลายทางต่อไปได้

 

ล่าสุด สรท.ได้ทำหนังสือไปถึงกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เพื่อขอให้ทูตพาณิชย์ช่วยประสานเรื่องการรับมอบสินค้าจากกรณีของสายการเดินเรือฮันจิน เมื่อสินค้าถูกส่งไปถึงท่าเรือและอาจมีการขึ้นราคาโดยไม่มีเหตุผลที่เหมาะสม อย่างไรก็ตาม สัดส่วนผลกระทบคงมีเพียงบางกลุ่ม เพราะส่วนใหญ่ผู้ส่งออกไทยใช้วิธีการส่งออกและชำระค่าสินค้าแบบ FOB (ผู้ซื้อจัดหาเรือมารับสินค้าที่ต้นทาง สินค้าขึ้นเรือไปแล้วถือว่าผู้ซื้อได้รับมอบสินค้าไปแล้ว) ในสัดส่วน 50-60% ซึ่งวิธีการนี้ผู้ซื้อเป็นผู้จัดหาระวางเรือมารับสินค้า แต่จะมีสินค้าบางกลุ่ม เช่น อาหาร ที่มีการส่งสินค้าเป็นแบบ CNF/CIF (ผู้ขายมีหน้าที่จัดหาเรือต้นทางเพื่อขนส่งสินค้าไปปลายทาง) ซึ่งจะกระทบบ้าง

 

“ส่วนผลกระทบระยะยาวนั้น อาจจะทำให้จำนวนบริษัทสายการเดินเรือลดลง และอาจนำไปสู่การปรับขึ้นค่าระวางเรือ โดยเฉพาะช่วงไฮซีซั่นของการส่งออก นอกจากนี้ ยังมีความกังวลว่า อาจจะมีสายการเดินเรืออื่น ๆ ที่ประสบปัญหาขาดทุนคล้าย ๆ กันอีกหรือไม่ ซึ่งขณะนี้ สรท.อยู่ระหว่างประสานการประชุมกับสภาเจ้าของเรือไทย (DHIA) เพื่อประเมินสถานการณ์ว่ามีผู้ประกอบการเรือไทยขาดทุนหรือไม่ และจะแก้ปัญหาอย่างไร เพื่อไม่ให้เหตุการณ์ซ้ำรอยดังกล่าวอีก” นายนพพร กล่าว

 

สำหรับบริษัทที่จะได้รับผลกระทบค่อนข้างมากจากเหตุการณ์ครั้งนี้ คือ ซัมซุง อิเล็กทรอนิกส์ เนื่องจากมีการขนส่งสินค้ามูลค่าราว 38 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือกว่า 1,300 ล้านบาท ยังคงติดค้างอยู่บนเรือขนส่งของฮันจิน ชิปปิ้ง 2 ลำ ในอเมริกา ซึ่งหากไม่สามารถขนถ่ายสินค้าขึ้นสู่พื้นดินได้ทางซัมซุงอาจจำเป็นต้องใช้เครื่องบินเช่าเหมาลำอย่างน้อย 16 ลำ เพื่อจัดส่งสินค้า

 

ขณะที่ทางด้านแอลจี อิเล็กทรอนิกส์ ผู้ผลิตโทรทัศน์รายใหญ่อันดับ 2 ของโลก ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน โดยกำลังพยายามหาผู้ให้บริการขนส่งรายใหม่สำหรับสินค้าของบริษัทฯ ทั้งนี้ นอกจากกลุ่มสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์แล้ว ฮันจิน ชิปปิ้ง ยังบริการขนส่งสินค้าอื่น ๆ จากบริษัทยักษ์ใหญ่อีกหลายแห่งของโลก ซึ่งได้ส่งผลกระทบไปในวงกว้างอย่างมาก   

 

ขณะที่ทางด้านบริษัท ฮุนได เมอร์ชานส์ มารีน บริษัทขนส่งทางทะเลอันดับที่ 2 ของเกาหลีใต้ กำลังวางแผนที่จะเร่งดำเนินการเพิ่มเรืออีก 13 ลำ สำหรับเดินเรือไปยังอเมริกาและยุโรป เพื่อช่วยเหลือการหยุดชะงักการขนส่งสินค้า

 

Tags : อุตสาหกรรม, ข่าวอุตสาหกรรม, สื่ออุตสาหกรรม, โรงงาน, เครื่องจักรกล, การผลิต, พลังงาน, โลจิสติกส์, Industry, Industrial, Industrial News, Industrial Media, Factory, Machinery, Machine, Manufacturing, Energy, Logistics