LOGISTICS

อุตฯชิปปิ้งทั่วโลกระส่ำ หลัง ?ฮันจิน? บริษัทเดินเรือรายใหญ่อันดับ 7 ของโลกล้มละลาย
POSTED ON 06/09/2559


โลจิสติกส์อุตสาหกรรม 6 ก.ย.2559 - เมื่อวันที่ 31 ส.ค.2559 ที่ผ่านมา บอร์ดบริหารของบริษัท ฮันจิน ชิปปิ้ง (Hanjin Shipping) ผู้ให้บริการเดินเรือสินค้าระหว่างประเทศของเกาหลีใต้ ได้ลงมติเป็นเอกฉันท์ให้ยื่นขอพิทักษ์ทรัพย์ต่อศาล เนื่องจากกังวลว่าธนาคารเจ้าหนี้อาจเข้ายึดเรือสินค้าของบริษัทฯ หลังจากที่บริษัทฯประสบภาวะขาดทุนอย่างต่อเนื่องในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา และกำลังเข้าสู่ภาวะล้มละลาย

 

ฮันจิน ประสบภาวะขาดทุนสุทธิ 473,000 ล้านวอน หรือราว 14,600 ล้านบาท ในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ และมีหนี้สินจนถึงสิ้นปี 2558 อยู่ที่ 5.6 ล้านล้านวอน หรือราว 173,300 ล้านบาท โดยมีหนี้สินมากกว่าทุนถึง 850% ซึ่งบริษัทฯได้ขอให้ธนาคารปรับโครงสร้างหนี้เมื่อเดือน เม.ย.2559 ที่ผ่านมา ขณะที่ทางบริษัทแม่ของฮันจิน ชิปปิ้ง และ โคเรียน แอร์ไลน์ ซึ่งได้แก่ ฮันจิน กรุ๊ป ได้เสนอแผนฟื้นฟูต่อธนาคารเจ้าหนี้ตั้งแต่เมื่อช่วงต้นเดือน ส.ค.2558 ที่ผ่านมา โดยยืนยันว่าจะระดมทุนให้ฮันจิน ชิปปิ้ง ให้ได้ 500,000 ล้านวอน หรือราว 15,500 ล้านบาท

 

แต่ทางธนาคารพัฒนาเกาหลี (KDB) ในฐานะเจ้าหนี้รายใหญ่ ประเมินว่า ฮันจิน ชิปปิ้ง จะไม่สามารถชำระคืนหนี้ 1-1.3 ล้านล้านวอน หรือราว 30,950-40,220 ล้านบาทได้ในระหว่างปี 2559-2560 ดังนั้น จึงงดให้ความช่วยเหลือทางการเงินและไม่ปล่อยเงินกู้ตามคำขอของบริษัทฯ

 

จากสถานการณ์ดังกล่าวส่งผลให้ท่าเรือทั่วโลกรวมถึงจีน, สเปน, สหรัฐอเมริกา และแคนาดา ต่างปฏิเสธที่จะให้เรือสินค้าของฮันจินเข้าเทียบท่า เนื่องจากเกรงว่าจะไม่ได้รับเงินค่าเทียบเรือและค่าขนถ่ายสินค้า ซึ่งการขนส่งสินค้าของฮันจินคิดเป็นสัดส่วนเกือบ 8% ของปริมาณสินค้าในตลาดสหรัฐฯ

 

สำหรับ บริษัท ฮันจิน ถือเป็นหนึ่งผู้ให้บริการเดินเรือสินค้าระหว่างประเทศของเกาหลีใต้ที่ใหญ่เป็นอันดับ 7 ของโลก โดยมีเรือบรรทุกตู้สินค้าและเรือขนส่งสินค้าทั้งหมด 150 ลำ มีเส้นทางเดินเรือประจำ 60 เส้นทางทั่วโลก ซึ่งการล้มละลายของฮันจินถือเป็นการล้มละลายครั้งใหญ่ที่สุดในอุตสาหกรรมชิปปิ้งของโลก โดยมีมูลค่าสูงกว่าการล้มละลายของบริษัท ยูไนเต็ดสเตทส์ ไลน์ส ในปี 2529 ขณะที่บริษัทเกาหลีใต้อย่างซัมซุง อิเล็กทรอนิกส์ และ แอลจี อิเล็กทรอนิกส์ ก็น่าจะได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการล้มละลายของฮันจินในครั้งนี้ด้วย

 

ทั้งนี้ มีรายงานว่า บริษัท ฮุนได เมอร์แชนท์ มารีน หรือ HMM (Hyndai Merchant Marine) ซึ่งเป็นคู่แข่งของฮันจิน อาจพิจารณาเพื่อขอซื้อหุ้นบางส่วนของฮันจิน อย่างไรก็ตาม HMM เองก็เป็นหนึ่งในบริษัทชิปปิ้งที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ดังนั้น อาจจะต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วนอีกครั้ง

 

ด้านนักวิเคราะห์ เปิดเผยว่า การล้มละลายของฮันจินสะท้อนถึงปัญหาที่เรื้อรังในอุตสาหกรรมขนส่งสินค้าทางเรือ ซึ่งกำลังประสบกับปัญหาการมีเรือจำนวนมากเกินไปในตลาด ขณะที่สินค้าที่จะขนส่งมีเพียงจำกัด และค่าระวางเรือก็อยู่ที่ระดับต่ำเป็นประวัติการณ์ แต่หลายฝ่ายก็ยังให้ความมั่นใจว่า การล้มละลายของฮันจินไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของเกาหลีใต้มากนัก เนื่องจากรัฐบาลได้ทำการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมชิปปิ้งมาแล้วในช่วงก่อนหน้านี้ ขณะที่ธนาคารเจ้าหนี้ก็มีการป้องกันเพื่อสำรองความเสียหายจากฮันจินไว้แล้ว หลังจากที่เริ่มรับรู้ถึงปัญหาทางการเงินของทางบริษัทฯตั้งแต่ปี 2558 ที่ผ่านมา

 

ขณะที่ในเร็ว ๆ นี้ รัฐบาลเกาหลีใต้เองก็เตรียมเสนอนโยบายปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมการเดินเรือสินค้า เนื่องจากประเมินว่าการล้มละลายของบริษัท ฮันจิน ชิปปิ้ง จะทำให้มีการปลดคนงานนับหมื่นคน ซึ่งจะไม่ส่งผลดีต่อภาพรวมของเศรษฐกิจ

 

Tags : อุตสาหกรรม, ข่าวอุตสาหกรรม, สื่ออุตสาหกรรม, โรงงาน, เครื่องจักรกล, การผลิต, พลังงาน, โลจิสติกส์, Industry, Industrial, Industrial News, Industrial Media, Factory, Machinery, Machine, Manufacturing, Energy, Logistics