LOGISTICS

สยามกลการอุตฯ หนุนผู้ประกอบการไทยพัฒนาสู่สมาร์ทโลจิสติกส์
POSTED ON 07/01/2559


โลจิสติกส์อุตสาหกรรรม 7 ม.ค.2559 - เมื่อเร็วๆ นี้ บริษัท สยามกลการอุตสาหกรรม จำกัด ได้ร่วมกับพันธมิตร จัดงาน "ฝ่าพายุเศรษฐกิจสู่ AEC กับความท้าทายของโลจิสติกส์ คลังสินค้า และการกระจายสินค้า" (Strategies to AEC With Challenges on Industrial Logistics, Warehousing & Distribution) ณ โรงแรมบางแสน เฮอริเทจ จังหวัดชลบุรี โดยมีผู้เชี่ยวชาญระดับประเทศมาร่วมแบ่งปันประสบการณ์และให้ความรู้ หวังช่วยเพิ่มศักยภาพของธุรกิจอุตสาหกรรมไทย

 

นายประธานวงศ์ พรประภา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สยามกลการอุตสาหกรรม จำกัด กล่าวว่า ความสำเร็จของแบรนด์และองค์กรในยุคเศรษฐกิจดิจิตอล นอกจากกลยุทธ์การตลาดที่เฉียบคมแล้ว ยังต้องมีการบริหารจัดการด้านโลจิสติกส์ที่ชาญฉลาด ซึ่งถือเป็นกลไกสำคัญอย่างหนึ่งที่จะทำให้การบริหารจัดการตลาดและผลิตภัณฑ์จากสายการผลิตส่งถึงซัพพลายเชนสู่มือผู้บริโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น คงคุณภาพที่ดีของผลิตภัณฑ์ ประหยัดต้นทุน เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการ รวมทั้งโอกาสในการขยายธุรกิจไปสู่ตลาดสากล และตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค

 

ปัจจุบันการคิดค้นนวัตกรรมและเทคโนโลยีสำหรับโลจิสติกส์อัจฉริยะได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในโลจิสติกส์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการตลาดยุคใหม่ เช่น ระบบการจัดการคลังสินค้าอัจฉริยะ (Intelligent Warehouse) มีระบบสารสนเทศสินค้าที่จัดเก็บในคลังสินค้าแบบ Real-Time และแม่นยำ ทั้งการรับเข้า เบิกสินค้าออก ตรวจสอบปริมาณและตำแหน่งจัดเก็บสินค้าได้ถูกต้อง รวดเร็ว ทั้งยังมีระบบป้อนสินค้าเข้าไลน์การผลิตอีกด้วย

 

"สภาวะเศรษฐกิจของไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว และมีแนวโน้มจะกระเตื้องขึ้นจากมาตรการปฏิรูปเศรษฐกิจ โครงการลงทุนของภาครัฐและเอกชน พื้นที่ตลาดที่กว้างขึ้น ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและผู้ผลิตควรใช้เวลาในช่วงนี้หันมาให้ความสนใจยกระดับพัฒนาระบบโลจิสติกส์ เน้นสร้างประสิทธิภาพอย่างยั่งยืน ความได้เปรียบและแนวทางการจัดการคลังสินค้าและการกระจายสินค้าที่มีมาตรฐานสากล ทันสมัย มุ่งตอบโจทย์ตลาดและพฤติกรรมผู้บริโภคที่ต้องการผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัย มีสุขอนามัย คุณภาพดี ราคาสมเหตุสมผล และส่งตรงตามเวลาได้อย่างรวดเร็ว" นายประธานวงศ์ กล่าว

 

ด้าน นายสุภาพ ตั้งตรัยรัตนกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท กรุงเทพคลังเอกสาร จำกัด (KDC) เสนอแนะแนวทางการฝ่าพายุเศรษฐกิจ รวมถึงการบริหารต้นทุนโลจิสติกส์และคลังสินค้าสีเขียวในยุคเปิดตลาดเออีซี (Cost Efficiency & Green Logistics Warehouse) ว่า วิธีการและปัจจัยที่ช่วยพลิกฟื้นธุรกิจให้เกิดความก้าวหน้ายั่งยืนได้ในสภาวะที่เศรษฐกิจที่แผ่วนั้น จะต้องทำใน 8 ข้อนี้ คือ

 

1. ต้องสร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง 2. ตอบให้ได้ว่าธุรกิจของเราช่วยลูกค้าด้านไหน 3. กำหนดทิศทางและเป้าหมาย สินค้าที่บริษัทมีความถนัด และทำรายได้ ทำกำไรดี คืออะไรบ้าง 4. อย่าแข่งขันในด้านราคาเพียงอย่างเดียว ต้องแข่งขันที่การบริการที่ดีและแปลกใหม่ด้วย ทำยังไงให้ลูกค้าได้สินค้าที่รวดเร็ว ครบถ้วน ถูกต้อง และต้องเป็นประโยชน์กับลูกค้า 5. วิเคราะห์เจาะลึกให้รู้จักลูกค้าเป้าหมายคือใคร เพราะไม่ใช่ทุกคนที่จะเป็นลูกค้าของเรา 6. วิเคราะห์พฤติกรรมของลูกค้า และดีไซน์วิธีการนำเสนอออกมาตอบสนองความต้องการของลูกค้าวันนี้และอนาคต เพื่อโน้มน้าวให้อยู่กับเราให้นานที่สุด 7. วิเคราะห์สำรวจองค์กร อะไรที่ไม่สำคัญ ต้องตัดทิ้งให้หมด 8. อย่าลงทุนทำอะไรที่เราไม่มีความรู้และประสบการณ์ และไม่มีฐานลูกค้า

 

นายสุภาพ กล่าวเสริมด้วยว่า "โลจิสติกส์ไม่ได้เป็นเพียงส่วนสนับสนุนการตลาด การผลิตและองค์กรเท่านั้น แต่ยังสามารถเป็นตัวนำให้เกิดโอกาสใหม่ๆ ทางธุรกิจด้วย โลกการค้าวันนี้และอนาคตมีการรวมกลุ่มประเทศเป็นประชาคมทั่วในหลายภูมิภาคโลก และมีกฎระเบียบมากขึ้น มาตรฐานข้อกำหนดเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นับเป็นยุคที่ธุรกิจโลจิสติกส์บูมเพื่อสนองความต้องการรองรับการค้าที่มีความหลากหลายของธุรกิจ ผลิตภัณฑ์ และบริการ ดังนั้น เกณฑ์มาตรฐานโลจิสติกส์ของไทยในวันข้างหน้าจะมีผลบังคับใช้เพื่อให้สอดคล้องกับต่างประเทศ โดยมุ่งเป้าหมายในเรื่องการลดคาร์บอนไดออกไซด์ ลดต้นทุน และสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ จะเป็นนวัตกรรมที่หลายองค์กรต้องนำมาปฏิบัติ"

 

"โดยเฉพาะมาตรฐานวิชาชีพบุคคลากรด้านโลจิสติกส์ ที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัย บริษัทที่จะเป็นมืออาชีพด้านโลจิสติกส์ จะต้องได้รับใบอนุญาต คล้ายกับสภาวิศวกร สภาบัญชี สภาสถาปนิก บุคคลากรต้องได้รับการรับรองผ่านการฝึกอบรม และการทดสอบ ขณะนี้ประเทศไทยเรากำลังดำเนินการทำในระดับซุปเปอร์ไวเซอร์ และกำลังจะร่างในระดับผู้จัดการ จนถึง ซีแอลโอ (CLO : Chief Logistics Officer) เมื่อมาตรฐานวิชาชีพบุคคลากรโลจิสติกส์นี้เกิดขึ้น จะสามารถการันตีคุณภาพและเสริมสร้างความมั่นคงในวิชาชีพโลจิสติกส์ของคนไทย และสามารถยกระดับมาตรฐานวงการอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ให้สูงขึ้น โดยการรับรองของกระทรวงแรงงาน และในอนาคตจะครอบคลุมทั้งหมดทุกวิชาชีพ" นายสุภาพ กล่าว

 

ขณะที่ทางด้าน นายดุสิต ปั้นมณี ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการ ศูนย์กระจายสินค้าเทสโก้-โลตัส ได้มาร่วมแบ่งปันองค์ความรู้ ในหัวข้อ "การออกแบบระบบความปลอดภัยในงานโลจิสติกส์" (Workforce Design for Safety in Warehouse Distribution Center and Transportation) โดยให้แนวคิดว่า "การออกแบบและจัดระบบในคลังสินค้าคำนึงถึงความปลอดภัยและประสิทธิภาพเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด เช่น ศูนย์กระจายสินค้าของเทสโก้โลตัสทั่วประเทศไทย เน้นความปลอดภัยต่อตัวพนักงาน ปลอดภัยต่ออุปกรณ์ ไม่ว่าจะเป็นรถฟอร์คลิฟท์ เครื่องจักรจำนวนมหาศาลที่วิ่งอยู่ภายในคลังสินค้า เพราะอุบัติเหตุเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา สถิติที่ผ่านมาพบว่า เครื่องจักรและอุปกรณ์ทำให้เกิดอุบัติเหตุ เพียงระดับไม่เกิน 18% แต่อีก 82% ของอุบัติเหตุเกิดจากพฤติกรรมของคน ดังนั้น การฝึกอบรมทักษะและให้ความรู้พนักงานจึงเป็นการป้องกันและเสริมความปลอดภัยได้ดี"

 

การดีไซน์จัดผังสถานที่ในคลังสินค้าเป็นสิ่งสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพและความคล่องตัวในการหมุนเวียนเคลื่อนไหวทำกิจกรรมในคลังสินค้า ตั้งแต่ บริหารจัดการระบบรถเข้า-ออก เช่น ภายในศูนย์กระจายสินค้าเทสโก้โลตัส ภาคอีสาน ที่มีรถเข้าออกอย่างน้อยวันละ 300-700 คัน และมีการรับส่งสินค้าตลอด 24 ชั่วโมง จำนวนกว่า 4 แสนกล่อง โดยทางเข้าและทางออกถูกออกแบบให้แยกการเดินรถอย่างชัดเจน เพื่อลดความคับคั่งของการจราจรและลดอุบัติเหตุ

 

ส่วนการรับสินค้านั้นจะมีการวางแผนร่วมกันกับผู้ค้า ผู้ผลิต เพื่อทำให้ระบบซัพพลายเชนต้นทางจนถึงปลายทางมีประสิทธิภาพมากที่สุด โดยมีการนัดหมายคิวเวลาล่วงหน้าเพื่อให้ทางคลังสินค้าสามารถบริหารเวลาและได้ทราบปริมาณสินค้าว่ามีจำนวนเท่าไหร่ เพื่อประเมินและเตรียมพื้นที่สำหรับจัดเก็บสินค้า นอกจากนี้ ยังต้องมีการตรวจสอบตั้งแต่ความปลอดภัยของคนขับ ตรวจใบนำส่งสินค้า ตรวจสอบสินค้าที่มาส่งถูกต้องและตรงกับใบส่งสินค้า

 

ศูนย์กระจายสินค้าเทสโก้ โลตัส ยังมีระบบตรวจสอบวิกฤติความปลอดภัย (Safety Critical Red Audit) ปีละ 4 ครั้ง หัวข้อหลักที่ตรวจสอบอย่างเข้มงวด คือ การชำรุดของระบบชั้นวางสินค้าในคลัง (Rack) และการแก้ไขสถานการณ์ที่ไม่ปลอดภัยของสินค้าที่อยู่บนชั้นวางสินค้าในคลัง (Rack) หรือบนทางเท้า ใบอนุญาตการขับขี่รถยกและรถลาก พฤติกรรมที่ไม่ปลอดภัยต่อการขับขี่ และสภาพรถยก รถลาก ที่นำมาปฏิบัติงานเหล่านี้ช่วยให้ผู้บริหารศูนย์กระจายสินค้าได้สำรวจตรวจสอบล่วงหน้าถึงจุดอันตรายหรือจุดเสี่ยงที่อาจนำไปสู่การเกิดอุบัติเหตุที่ร้ายแรงต่อพนักงานและความเสียหายต่อสินค้า และช่วยกันยกระดับมาตรฐานความปลอดภัย โดยทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้ร่วมมือกันอีกด้วย

 

ส่วนในด้านการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในการคลังสินค้านั้น ทุกขั้นตอนต้องมีการตรวจสอบความปลอดภัย ด้วยหลักการที่ว่า No Safety No Work ตั้งแต่การขับขี่รถภายในคลังสินค้า พนักงานที่ขับต้องผ่านการอบรมที่มีมาตรฐาน มีการสอบทฤษฎีและปฏิบัติ ตามแต่ละประเภทการใช้งาน อาทิ ประเภทรถฟอร์คลิฟท์ หรือรถยก (Forklift), Reach Truck, ขับขี่รถลาก (PE & OP) และรถเข็นไฟฟ้า (Hand Jack Electric) ปัจจุบันพนักงานขับรถร้อยละ 80 ของเทสโก้ โลตัส เป็นผู้หญิงขับส่วนใหญ่ สถิติที่น่าสนใจจากผลการวิจัยพบว่า ผู้หญิงมีความละเอียด มีความนุ่มนวลในการควบคุมเครื่องจักรมากกว่าผู้ชาย ทำให้ลดอุบัติเหตุและความเสียหายลงได้

 

Tags : อุตสาหกรรม, ข่าวอุตสาหกรรม, สื่ออุตสาหกรรม, โรงงาน, เครื่องจักรกล, การผลิต, พลังงาน, โลจิสติกส์, Industry, Industrial, Industrial News, Industrial Media, Factory, Machinery, Machine, Manufacturing, Energy, Logistics