LOGISTICS

พัฒนาแหลมฉบัง หวังรองรับตู้สินค้าได้ถึง 2 ล้าน TUE ต่อปี
POSTED ON 01/12/2558


โลจิสติกส์อุตสาหกรรม 1 ธ.ค.2558 - การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) โดย ร.ต.ต.มนตรี ฤกษ์จำเนียร ผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง เป็นประธานเปิดงานเสวนาระดมความคิดเห็น "การพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังอย่างยั่งยืน" เพื่อนำเสนอข้อมูลแผนการพัฒนาพื้นที่ท่าเรือแหลมฉบัง และโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมโดยรอบท่าเรือแหลมฉบัง รวมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมเสวนาได้แสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ เพื่อเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์ด้านการพัฒนาพื้นที่ต่อไป

 

โดยการเสวนาครั้งนี้ได้นำเสนอแผนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานโดยรอบท่าเรือแหลมฉบังในทุกรูปแบบการเดินทาง ทั้งระบบราง ระบบถนน และทางทะเล ภายใต้กรอบการดำเนินงานของกระทรวงคมนาคมระยะเวลา 5 ปี ผ่านตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมงานสัมมนาดังกล่าว โดยเฉพาะการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ซึ่งได้มีการนำเสนอการพัฒนาการขนส่งระบบรางในพื้นที่ภาคตะวันออก ประกอบด้วย โครงการศึกษาและออกแบบรถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพฯ-หนองคาย-มาบตาพุด นอกจากนี้ ยังมีการนำเสนอมุมมองของภาคประชาชนด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมต่อการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง

 

ปัจจุบันมีปริมาณรถไฟที่ขนส่งอยู่ประมาณ 400,000 TEU ต่อปี หากมีการพัฒนาโครงการท่าเรือดังกล่าว จะทำให้มีปริมาณรถไฟที่เพิ่มขึ้นภายใน 4-5 ปี ได้ถึง 1,000,000 TEU ต่อปี โดยความสามารถในการรองรับสินค้าของโครงการนี้สูงสุดได้กว่า 2,000,000 TEU ต่อปี

 

ขณะที่ทางด้าน ร.ท.ยุทธนา โมกขาว ผู้ช่วยผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง ได้นำเสนอสาระสำคัญเกี่ยวกับแผนการพัฒนาพื้นที่ท่าเรือแหลมฉบัง ระยะเวลา 5 ปี โดยมีโครงการที่สำคัญ ได้แก่ โครงการพัฒนาท่าเทียบเรือชายฝั่ง (ท่าเทียบเรือ A) ที่ท่าเรือแหลมฉบัง ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการจัดหาผู้รับเหมาก่อสร้างและจัดหาเครื่องมือยกขน คาดว่าจะพร้อมเปิดให้บริการได้ภายในปี 2561

 

สำหรับมูลค่าการก่อสร้างท่าเทียบเรือชายฝั่งนั้นมีงบประมาณก่อสร้าง 1,864 ล้านบาท ส่วนโครงการพัฒนาศูนย์การขนส่งสินค้าทางรถไฟ งบประมาณก่อสร้าง 2,994 ล้านบาท และโครงการปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวก เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรภายในท่าเรือแหลมฉบัง งบประมาณ 1,136 ล้านบาท ซึ่งโครงการพัฒนาศูนย์การขนส่งสินค้าทางรถไฟ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการท่าเทียบเรือในการยกตู้สินค้าขึ้นลงรถไฟ คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ภายในปี 2561 และจะพัฒนาโครงการในระยะที่ 2 ประมาณ 2564-2565

 

ส่วนโครงการปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อแก้ไขปัญหาจราจรภายในท่าเรือแหลมฉบัง จะมีการเพิ่มช่องทางผ่านประตูตรวจสอบสินค้าและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ซึ่งเมื่อแล้วเสร็จจะทำให้มีจำนวนช่องทางผ่านประตูตรวจสอบสินค้ารวม 31 ช่องทาง สามารถรองรับปริมาณตู้สินค้าได้ที่ระดับ 10-11 ล้าน TEU ต่อปี นอกจากนี้ ยังมีแผนการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังในระยะยาวอีกด้วย

 

ร.ท.ยุทธนา เปิดเผยว่า "สำหรับแผนการพัฒนาพื้นที่ท่าเรือแหลมฉบัง ระยะเวลา 5 ปี (พ.ศ.2558-2562) มีโครงการที่สำคัญ ได้แก่ (1) โครงการพัฒนาท่าเทียบเรือชายฝั่ง (ท่าเทียบเรือ A) ที่ท่าเรือแหลมฉบัง งบประมาณ 1,864 ล้านบาท (2) โครงการพัฒนาศูนย์การขนส่งสินค้าทางรถไฟ (single rail transfer operator : SRTO) งบประมาณ 2,994 ล้านบาท และ (3) โครงการปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อแก้ไขปัญหาจราจรภายในท่าเรือแหลมฉบัง งบประมาณ 1,136 ล้านบาท

 

นอกจากนี้ ยังมีแผนโครงการพัฒนาศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟในพื้นที่โซน 4 ที่อยู่ระหว่างท่าเทียบเรือชุด B และ C ซึ่งสำรองไว้เพื่อใช้สำหรับพัฒนาเป็นศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟ (Rail Transfer Terminal) ของท่าเรือแหลมฉบังเป็นการเฉพาะ จำนวนเนื้อที่ประมาณ 600 ไร่ (จะใช้ในครั้งนี้ประมาณ 370 ไร่ และสำรองไว้อีกประมาณ 230 ไร่)

 

โดยลักษณะของ Rail Yard ที่จะก่อสร้างนั้นจะมีการติดตั้งรางรถไฟลักษณะเป็นพวงรางจำนวน 6 ราง แต่ละรางมีความยาวในช่วง 1,278-1,725 เมตร ซึ่งสามารถจอดขบวนรถไฟที่บรรจุตู้สินค้าขบวนละ 34 แคร่ ได้รางละ 2 ขบวน รวมเป็น 12 ขบวน ในเวลาเดียวกัน โดยติดตั้งเครื่องมือยกขนตู้สินค้าชนิดเดินบนราง (Rail Mounted Gantry Crane : RMG) ที่สามารถทำงานคร่อมรางรถไฟได้ทั้ง 6 รางในเวลาเดียวกัน ซึ่งจะมีขีดความสามารถในการรองรับตู้สินค้าได้ถึง 2,000,000 TUE ต่อปี

 

สำหรับท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบังถือเป็นท่าเรือน้ำลึกหลักในการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลนครแหลมฉบัง อ.ศรีราชา และ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี โดยในส่วนของการบริหารท่าเรือโดยรวมนั้นอยู่ภายใต้การดูแลของการท่าเรือแห่งประเทศ ส่วนระบบปฏิบัติการ มีเอกชนเป็นผู้ดูแลและรับผิดชอบ

 

ท่าเรือแหลมฉบัง เปิดดำเนินการท่าเทียบเรือ B1 เป็นท่าแรกเมื่อวันที่ 21 มกราคม พ.ศ.2534 โดยได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนจากรัฐบาลในการเป็นท่าเรือหลักของประเทศแทนท่าเรือกรุงเทพฯ ตั้งแต่ปี 2539 โดยในปี 2551 ท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบังมีปริมาณขนถ่ายสินค้าทั้งสิ้น 4,629,244.70 เมตริกตัน มีปริมาณเรือเทียบท่ากว่า 8,118 ลำ และยังได้รับการยอมรับให้เป็นท่าเรือที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดยในปี 2557 ท่าเรือแหลมฉบังมีตู้สินค้าผ่านมากที่สุดถึง 6.45 ล้าน TEU ติดอันดับที่ 23 ของโลก และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 5 ต่อปี ซึ่งจะส่งผลให้ในปี 2565 ท่าเรือแหลมฉบังจะมีปริมาณสินค้าสูงถึง 9 ล้าน TEU

 

ขณะที่บริเวณโดยรอบท่าเรือแหลมฉบังได้รับการพัฒนาให้เป็นเขตเศรษฐกิจแหลมฉบัง ซึ่งมีการพัฒนาที่พักอาศัย สาธารณูปโภค การคมนาคมขนส่ง นิคมอุตสาหกรรม ตลอดจนศูนย์ราชการ เพื่อพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจที่สำคัญในอนาคต และหากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานโดยรอบท่าเรือแล้วเสร็จในปี 2564 ท่าเรือแหลมฉบังจะสามารถรองรับการขยายตัวดังกล่าวได้ และจะกลายเป็นศูนย์กลางการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบและศูนย์กลางโลจิสติกส์ของภูมิภาคอาเซียนอีกด้วย

 

Tags : อุตสาหกรรม, ข่าวอุตสาหกรรม, สื่ออุตสาหกรรม, โรงงาน, เครื่องจักรกล, การผลิต, พลังงาน, โลจิสติกส์, Industry, Industrial, Industrial News, Industrial Media, Factory, Machinery, Machine, Manufacturing, Energy, Logistics